ปวดท้องบอกโรคได้! อาการปวดมดลูกข้างซ้าย ปวดท้องน้อยด้านซ้าย สัญญาณโรคร้ายอะไร
ปวดท้องน้อยด้านซ้าย อันตรายไหม
อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นของผู้หญิงในแต่ละตำแหน่ง สามารถบ่งบอกถึงอาการของโรคร้ายได้ โดยเฉพาะอาการปวดซ้ำ ๆ ที่จุดเดิม ย่อมส่งสัญญาณความผิดปกติของอวัยวะภายในช่องท้อง เช่นเดียวกับการปวดท้องน้อยด้านซ้าย โดยเฉพาะแม่ท้อง เพราะอาการปวดท้องข้างซ้ายล่างขณะตั้งครรภ์นั้น เป็นการส่งสัญญาณบอกของร่างกายว่า คุณแม่ตั้งครรภ์อาจเสี่ยงภาวะการตั้งท้องนอกมดลูก ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวแม่ท้องและทารกในครรภ์
ปวดมดลูกข้างซ้าย จี๊ดๆ บริเวณท้องน้อยด้านซ้าย
อาการปวดท้องข้างซ้ายบ่งบอกถึงความผิดปกติของอวัยวะสำคัญภายใน โดยอาการปวดท้องข้างซ้ายบนหรือปวดบริเวณใต้ซี่โครง อาจเกิดจากโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน ตับอ่อนอักเสบ ปอดบวม หรือม้ามโต แต่สำหรับผู้หญิง คงต้องใส่ใจอาการปวดท้องข้างซ้ายล่างมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคไต โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ และที่สำคัญสำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์คือ ท้องนอกมดลูก โดยสาเหตุที่ทำให้ปวดบริเวณท้องข้างซ้ายล่างเพราะเส้นเอ็นยึดมดลูก มีซีสต์ในรังไข่ และกระเพาะปัสสาวะขยายตัว
ตั้งครรภ์แล้วปวดท้องน้อยด้านซ้าย ท้องนี้อาจกลายเป็นท้องนอกมดลูก
ท้องนอกมดลูกเกิดจากการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้วนอกโพรงมดลูก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ถึง 95% แต่ก็พบได้ที่รังไข่ ปากมดลูก และในช่องท้อง เป็นสาเหตุทำให้คุณแม่เสียชีวิตเป็นอันดับที่ 4 เพราะภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกมีความเสี่ยงที่จะแตกเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อแตกแล้วจะทำให้เสียเลือดมากในช่องท้อง ทำให้ตัวคุณแม่ช็อค ส่งผลอันตรายถึงชีวิต
ส่วนสาเหตุ อาจเกิดจากความผิดปกติของท่อนำไข่ทำให้เกิดสภาพการณ์ที่ขัดขวางและหน่วงเหนี่ยวมิให้ไข่ที่ถูกผสมแล้วเดินทางเข้าสู่โพรงมดลูกได้ การอักเสบเรื้อรังของท่อนำไข่ และมีอุบัติการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น สำหรับกลุ่มผู้หญิงที่มีความเสี่ยงท้องนอกมดลูกคือ ผู้หญิงที่มีปีกมดลูกผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดได้จากการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกรานบ่อย ๆ เคยผ่าตัดปีกมดลูก ใส่ห่วงคุมกำเนิด เป็นคนที่มีลูกยาก หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ รวมถึงคนที่เคยตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อนก็เสี่ยงจะเป็นซ้ำเดิม
อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูกที่พบบ่อย (classic symptoms)
การตั้งครรภ์นอกมดลูกเป็นความเสี่ยงของแม่ท้อง ในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ อาจมีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดร่วมด้วย นอกเหนือจากอาการปวดท้องน้อย อาการหลัก ๆ ของตั้งครรภ์นอกมดลูก แม่จะปวดท้องข้างใดข้างหนึ่งโดยฉับพลัน ร่วมกับอาการสำคัญของการท้องนอกมดลูก ได้แก่
- หน้าท้องอืดตึง
- คลำเจอก้อนที่ท้อง
- อ่อนเพลีย หน้ามืดเวลาลุกนั่ง
- ความดันโลหิตต่ำและชีพจรเต้นเร็ว
ในระยะแรกอาจไม่พบอาการใด ๆ ผ่านไปสักพักจะมีอาการเจ็บที่ท้องหรือท้องน้อย ปวดแบบบีบรัดเป็นช่วง ๆ อาจปวดข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง บางคนเป็น ๆ หาย ๆ บางคนปวดตลอดเวลา หากเลือดออกในช่องท้องมาก ๆ จะทำให้ปวดร้าวไปที่หัวไหล่ เพราะระคายเคืองต่อกระบังลม ถ้ามีอาการคล้ายจะเป็นลมมักเกิดขึ้นหลังจากมีการแตกของท่อนำไข่
วิธีรักษาท้องนอกมดลูก
- การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ประกอบด้วยการเฝ้าระวังดูอาการ (expectant management) และการให้ยา (Methotrexate) ทั้งการให้กินยา หรือฉีดเข้ากล้าม เข้าเส้นเลือด และฉีดเข้าจุดที่ตั้งครรภ์นอกมดลูกโดยตรง
- การผ่าตัดแบบประคับประคอง (conservative surgery) ช่วยเก็บรักษาท่อนำไข่ส่วนที่ดีไว้ เป็นการตัดท่อนำไข่ส่วนที่ท้องนอกมดลูกออก ภายหลังจากแผลหายแล้วสามารถนำกลับมาต่อใหม่ได้ ในผู้ป่วยบางกลุ่ม
- การผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดผ่านกล้องและการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง โดยการผ่าตัดผ่านกล้องแบบ salpingectomy จะตัดท่อนำไข่ข้างที่มีการตั้งครรภ์นอกมดลูก ส่วนการผ่าตัดผ่านกล้องแบบ salpingostomy คือการผ่าตัดนำชิ้นส่วนการตั้งครรภ์นอกมดลูกออกโดยทิ้งท่อนำไข่ข้างดังกล่าวไว้
สำหรับผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ บริเวณเดิม ควรไปตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด โดยการปวดท้องตำแหน่งต่าง ๆ บ่งบอกถึงความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย สำหรับการปวดท้อง 8 ตำแหน่ง สามารถบ่งบอกโรคได้ ดังนี้
- ปวดใต้ลิ้นปี่ อวัยวะสำคัญ : กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับ มักเกิดตอนหิว หรืออิ่ม สำหรับโรคที่ต้องระวัง ได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ แต่ถ้ามีอาการปวดรุนแรง และคลื่นไส้อาเจียน อาจเป็นโรคตับอ่อนอักเสบ
- ปวดชายโครงซ้าย อวัยวะสำคัญ : ม้าม ตับอ่อน โรคที่ต้องระวัง นิ่วในไตซ้ายหรือกรวยไตซ้ายอักเสบ อาจรุนแรงถึงขั้นม้ามแตกได้
- ปวดชายโครงขวา อวัยวะสำคัญ : ตับ ถุงน้ำดี โรคที่ต้องระวัง โรคตับอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี อาการอื่น ๆ ที่สังเกตได้คือ อาการตัวเหลือง ตาเหลืองฃ
- ปวดรอบสะดือ อวัยวะสำคัญ : ลำไส้เล็ก อาการปวดจะคล้ายกับมีลมที่ท้อง ท้องเดิน โรคที่ต้องระวัง ลำไส้อักเสบ หรือไส้ติ่งอักเสบ หากปวดรุนแรงจนทนไม่ได้ต้องรีบไปหาหมอ
- ปวดปั้นเอวขวาและซ้าย อวัยวะสำคัญ : ท่อไต ไต ลำไส้ใหญ่ มีอาการปวดเอวด้านหลัง แสบเวลาปัสสาวะ มีไข้ เพียงเคาะเบา ๆ ที่เอวด้านหลังก็จะเจ็บมาก
- ปวดเหนือหัวหน่าว อวัยวะสำคัญ : กระเพาะปัสสาวะ มดลูก หากปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะกะปริบกะปรอย โรคที่ต้องระวังคือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แต่หากปวดเกร็งช่วงมีรอบเดือน ปวดเรื้อรัง หรือคลำพบก้อน โรคที่ต้องระวังคือ มดลูกอักเสบ หรือเนื้องอกมดลูก
- ปวดท้องน้อยซ้าย อวัยวะสำคัญ : ท่อไต ปีกมดลูกด้านซ้าย อาการสำคัญคือการปวดเกร็ง ปวดร้าวมาที่ต้นขา โรคที่ต้องระวังคือ นิ่วในท่อไต หากมีตกขาว เป็นไข้ หนาวสั่น พร้อม ๆ กับการปวด โรคที่ต้องระวังคือ ปีกมดลูกอักเสบ
- ปวดท้องน้อยขวา อวัยวะสำคัญ : ไส้ติ่ง ท่อไต ปีกมดลูกด้านขวา สังเกตอาการปวดเกร็งเป็นระยะ ปวดร้าวมาที่ต้นขา เป็นสัญญาณของกรวยไตผิดปกติ แต่ถ้าปวดเสียด กดแล้วเจ็บ โรคที่ต้องระวังคือ ไส้ติ่งอักเสบ หากมีไข้ร่วมด้วยอาจเป็นสัญญาณของปีกมดลูกอักเสบ ถ้าคลำแล้วเจอก้อนเนื้อ โรคที่ต้องระวังคือ ก้อนไส้ติ่งหรือรังไข่ผิดปกติ
ผู้หญิงปวดท้องน้อย เป็นโรคอะไรได้บ้าง
สำหรับผู้หญิงมักจะปวดท้องน้อย (Pelvic Pain) ได้บ่อย ๆ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณของร่างกาย เราจึงขอเจาะลึกอาการปวดท้องน้อยของผู้หญิง โดยการปวดท้องน้อย แบ่งออกเป็นการปวดท้องน้อยแบบเรื้อรังและการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน โดยนพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล สูติ-นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก รพ.วิภาวดี อธิบายว่า อาการปวดท้องน้อย มักจะปวดภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งมีกล้ามเนื้อ หลอดเลือด และอวัยวะที่สำคัญ ได้แก่
- อวัยวะสืบพันธุ์ ประกอบด้วย ช่องคลอด มดลูก รังไข่ และท่อรังไข่
- ทางเดินปัสสาวะ ประกอบด้วย กระเพาะปัสสาวะ และท่อไต
- ลำไส้ใหญ่
- สำไส้เล็ก
การปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน มักเกิดจากการอักเสบ เช่น มดลูกอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ หรือ ไส้ติ่งอักเสบ แต่ถ้าเป็นการปวดท้องน้อยเรื้อรัง อาจเกิดจากเนื้องอกมดลูก และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่
หากมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย จี๊ดๆ หรือปวดมดลูกข้างซ้าย ในขณะตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วจะลดความเสี่ยงการเสียชีวิตลงได้ หากพบ 3 อาการอันตราย ปวดท้อง มีเลือดออกทางช่องคลอด และหรือมีภาวะขาดประจำเดือน ควรไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างละเอียด
อ้างอิงข้อมูล : sikarin, med.cmu, rtcog, phyathai และ chiangmainews
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
ตกเลือด ขณะตั้งครรภ์! อีกหนึ่งภาวะอันตรายที่แม่ท้องต้องระวัง