น้ำตาลในเลือดต่ำ ต้องท้อง อาการแบบไหนต้องระวัง!- Amarin Baby & Kids
น้ำตาลในเลือดต่ำ

คนท้อง น้ำตาลตก น้ำตาลในเลือดต่ำ อาการแบบไหนต้องระวัง!

Alternative Textaccount_circle
event
น้ำตาลในเลือดต่ำ
น้ำตาลในเลือดต่ำ

น้ำตาลในเลือดต่ำ – ความผิดปกติของร่างกาย และอาการต่างๆ ที่คนท้องอาจต้องเจอตลอดการตั้งครรภ์ นั้นอาจเหมือนและแตกต่างกันออกไปได้ในแต่ละคน หนึ่งในอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนท้องหลายคน คือ เรื่องของภาวะน้ำตาลต่ำระหว่างตั้งครรภ์ ด้วยร่างกายของคนท้องจะผลิตอินซูลินมากขึ้นเพื่อช่วยให้ลูกน้อยในครรภ์ใช้เพื่อพัฒนาการเจริญเติบโตแต่ในขณะเดียวกันมีคนท้องหลายคนที่ร่างกายเกิดการดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องเผชิญกับการเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ แม้ว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะพบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ แต่การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระหว่างตั้งครรภ์ และวิธีที่ร่างกายของคนท้องตอบสนองต่ออินซูลิน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงจนเป็นอันตรายซึ่งทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า น้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

คนท้อง น้ำตาลตก น้ำตาลในเลือดต่ำ อาการแบบไหนต้องระวัง!

ภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำ ระหว่างตั้งครรภ์

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สมดุลของการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับอินซูลินที่ไม่เหมาะสม การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่มากเกินไปอาจนำไปสู่โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และปัญหาที่เกี่ยวข้องได้ ในทางกลับกัน หากน้ำตาลในเลือดต่ำอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และหากเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อคุณแม่และลูกในครรภ์ได้

ทำความเข้าใจอินซูลิน ตัวแปรสำคัญต่อระดับน้ำตาลในเลือด

อินซูลินผลิตจากเซลล์เบต้าของตับอ่อน หน้าที่สำคัญของ อินซูลิน คือ ช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดโดยการเปลี่ยนกลูโคสเป็นพลังงาน ที่ให้พลังงานแก่สมองและร่างกายมนุษย์ ซึ่งในหญิงตั้งครรภ์บางรายร่างกายอาจผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อการรับมือกับกลูโคสที่เพิ่มขึ้น

ในระหว่างตั้งครรภ์ รกจะผลิต แลคโตเจน (Lactogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างสารอาหารและลำเลียงออกซิเจนให้แก่ทารกในครรภ์ เมื่อทารกในครรภ์เติบโตขึ้น ระดับฮอร์โมนแลคโตเจนในครรภ์จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะทำให้กลูโคสในกระแสเลือดของคนท้องนั้นเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ ซึ่งฮอร์โมนแลคโตเจนที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้ร่างกายของคนท้องเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร่างกายคนท้องดื้ออินซูลิน

ดังนั้นสตรีมีครรภ์อาจต้องการอินซูลินมากเป็นสามเท่า เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือ ป้องกันโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์ยังสามารถขัดขวางการทำงานของอินซูลิน ส่งผลให้เกิดการดื้อต่ออินซูลินและขัดขวางการควบคุมกลูโคสได้

โดยทั่วไปอินซูลิน มักเป็นตัวเลือกแรกสำหรับการจัดการระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานทุกประเภท รวมทั้งเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 1 ทุกคนต้องการอินซูลิน แต่เนื่องจากยารักษาโรคเบาหวานชนิดรับประทานโดยทั่วไปอาจไม่เพียงพอที่จะเอาชนะการดื้อต่ออินซูลินในระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จึงมักต้องการอินซูลินด้วย

อินซูลินถือว่าปลอดภัยสำหรับทารกในครรภ์ที่กำลังพัฒนาการเจริญเติบโต ดังนั้นสตรีมีครรภ์ที่เป็นเบาหวานมักได้รับการสั่งอินซูลิน (แม้ว่ายาหลายชนิดจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสมก่อนตั้งครรภ์) เป็นผลให้ผู้ที่เป็นเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ต้องติดตามและปรับปริมาณอินซูลินอย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

สาเหตุของการเกิดภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำ ขณะตั้งครรภ์

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดของคุณลดลงต่ำลงน้อยกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) มักเกิดในผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง และผู้ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  น้ำตาลในเลือดต่ำอาจทำให้คนท้องมีอาการอ่อนแรง ใจสั่น ตัวเย็น และเป็นลมหมดสติได้ ในกรณีรุนแรงอาจส่งผลให้เกิดอาการชักหรือโคม่า หากรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำส่วนใหญ่สามารถพบได้ใน 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • คนท้องกินอาหารไม่เพียงพอ หรือ กินอาหารไม่เหมาะสมเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่และเพียงพอต่อความต้องการของทารกในครรภ์ ไม่ว่าคุณจะกินมากหรือบ่อยแค่ไหนลูกน้อยของคุณก็จำเป็นต้องใช้กลูโคสจากร่างกายของคุณอยู่ตลอดเวลา
  • คนท้องออกกำลังกายมากเกินไป ร่างกายจึงใช้กลูโคสจนหมด หากร่างกายของคุณมีกลูโคสไม่เพียงพอ หรือไม่ได้รับคาร์โบไฮเดรตเพิ่มเติม คุณอาจเกิดอาการภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • ยารักษาโรคเบาหวาน ทั้งประเภทฉีดและทานที่มีประสิทธิภาพในการลดน้ำตาลในเลือดมากเกินไป ในกรณีนี้จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนตัวยา ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดสำหรับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในระหว่างตั้งครรภ์

นอกจากนี้ ตามมาตรฐานการดูแลทางการแพทย์ในผู้ป่วยเบาหวานโดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งอเมริกา (ADA)  ความรุนแรงของภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำ สามารถแบ่งออกได้ 3 ระดับ ได้แก่

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มก./ดล. แต่เท่ากับ 54 มก./ดล. หรือสูงกว่า
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำปานกลาง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 54 มก./ดล.
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 40 มก./ดล. และผู้ป่วยมีอาการแย่ลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ
คนท้องน้ำตาลต่ำ
คนท้องน้ำตาลต่ำ

 

โรคเบาหวานแต่ละประเภทต่อไปนี้ ทำให้คุณมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ:

  • เบาหวานชนิดที่ 1
  • เบาหวานชนิดที่ 2
  • เบาหวานขณะตั้งครรภ์

เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกได้ทั้งก่อนและหลังคลอด อย่างไรก็ตามปัญหานี้มักสามารถจัดการได้ด้วยโภชนาการและยา การป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดของคุณลดลงอย่างกะทันหันถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำ ขณะตั้งครรภ์

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในระหว่างตั้งครรภ์  และมีปัจจัยบางอย่างที่จะเพิ่มความเสี่ยง ได้แก่ :

  • เป็นเบาหวาน ทั้งชนิดที่เป็นระหว่างตั้งครรภ์และโรคเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ อาจทำให้ระดับอินซูลินของคุณผันผวน เพื่อหลีกเลี่ยงการมีน้ำตาลมากเกินไปหรือน้อยเกินไป คุณจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างรอบคอบและอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยารักษาโรคเบาหวานของคุณ น้ำตาลในเลือดสูงและต่ำอาจเกิดขึ้นได้ในระยะต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์ ขึ้นอยู่กับอินซูลินและยารักษาโรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ต้องติดตามและปรับขนาดอินซูลินระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับอินซูลินอาจผันผวนได้ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1  อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาสแรกได้มากกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์ถึง 3 เท่า ช่วงที่มีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรุนแรงที่สุดคือระหว่าง 8 ถึง 16 สัปดาห์ ของการตั้งครรภ์
  • ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก  ที่เกิดจากการได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ ผู้หญิงที่แพ้ท้องอย่างรุนแรงอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหาก อาเจียนบ่อยๆ ผู้หญิงที่อาเจียนทุกวัน น้ำหนักไม่ขึ้น หรือเวียนหัวบ่อย ควรปรึกษาแพทย์
  • เคยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ก่อนตั้งครรภ์
  • กำลังป่วย การเจ็บป่วยหลายอย่างอาจทำให้คนท้องรู้สึกไม่อยากอาหาร และหากไม่ได้รับประทานอาหารที่เพียงพอหรือสม่ำเสมอ ร่างกายอาจพัฒนาให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • เป็นโรคขาดสารอาหาร สิ่งสำคัญคือต้องได้รับแคลอรีเพียงพอในระหว่างตั้งครรภ์ อาหารที่คุณกินก็ควรมีคุณค่าทางโภชนาการเช่นกัน
  • ความอยากอาหารลดลง  น้ำตาลในเลือดต่ำอาจเกิดขึ้นจากการอาเจียน ความผิดปกติของการกิน และการขาดสารอาหาร
  • น้ำตาลต่ำจากยา ยาบางชนิดอาจลดน้ำตาลในเลือด เช่น  ซาลิไซเลตหรือยาแก้ปวด รวมทั้งแอสไพริน ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่ไม่แนะนำให้ใช้ในระหว่างตั้งครรภ์  รวมทั้งยาปฏิชีวนะซัลฟา เพนทามิดีน ยารักษาโรคปอดบวม และยารักษามาเลเรียที่เรียกว่าควินิน เป็นต้น

ความผิดปกติทางการแพทย์บางอย่างที่อาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้

ซึ่งอาการผิดปกติต่อไปนี้ อาจส่งผลต่อทารกที่กำลังพัฒนา ดังนั้นจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

ความผิดปกติที่อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่

  • มีเนื้องอกในตับอ่อน
  • ความไม่สมดุลของฮอร์โมน โดยเฉพาะ คอร์ติซอล และกลูคากอน (ฮอร์โมนที่ผลิตโดยเซลล์ของตับอ่อน มีหน้าที่กระตุ้นให้ตับสลายไกลโคเจนเป็นน้ำตาลกลูโคส)
  • ความบกพร่องของเอนไซม์ในร่างกายบางชนิด

อาการ น้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการน้ำตาลในเลือดลดลง เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและร่างกาย อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อน้ำตาลในเลือดคงที่อีกครั้ง

อาการเริ่มต้น

  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ความหิว
  • มึนศรีษะ
  • สั่น
  • ใจสั่น
  • เหงื่อออก
  • รู้สึกวิตกกังวล
  • ผิวสีซีด

อาการอันตราย ที่ต้องระวัง!

  • รู้สึกสับสน มึนงง การประสานงานของอวัยวะบกพร่อง
  • ปวดศีรษะมาก
  • มีอาการชาในปากและลิ้น
  • เป็นลม หรือมีอาการชัก
  • หมดสติ

อ่านต่อ…คนท้อง น้ำตาลตก น้ำตาลในเลือดต่ำ อาการแบบไหนต้องระวัง! คลิกที่หน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up