วิธี "คำนวณอายุครรภ์" และวันครบกำหนดคลอด ด้วยตัวเอง - Amarin Baby & Kids
คำนวณอายุครรภ์

วิธี “คำนวณอายุครรภ์” และวันครบกำหนดคลอด ด้วยตัวเอง

Alternative Textaccount_circle
event
คำนวณอายุครรภ์
คำนวณอายุครรภ์

นับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ แบบง่าย ๆ พร้อมทราบวันครบกำหนดคลอด ได้ด้วยตัวเอง มาดูกันว่ามีวิธีนับและคำนวณแบบไหนบ้าง และนับอย่างไร

วิธี “คำนวณอายุครรภ์” และวันครบกำหนดคลอด ด้วยตัวเอง

การ คำนวณอายุครรภ์ มีประโยชน์เป็นอย่างมาก ในทางการแพทย์ การทราบอายุครรภ์ที่ถูกต้องจะช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยอาการต่าง ๆ ได้แม่นยำขึ้น และสำหรับคุณแม่ จะช่วยทำให้ทราบถึงพัฒนาการของทารกในครรภ์ในช่วงต่าง ๆ (อ่านต่อ เจาะลึก 40 สัปดาห์กับ พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์) ทำให้คุณแม่สามารถสังเกตได้ว่า ทารกในครรภ์มีการพัฒนาตามเกณฑ์หรือไม่ ทั้งนี้ ยังอาจช่วยให้คุณแม่สังเกตตนเองว่ามีภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือไม่ (อ่านต่อ 10 ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องต้องรู้!!) รวมถึงอาจช่วยให้คาดการณ์วันกำหนดคลอดคร่าว ๆ ได้อีกด้วย

อายุครรภ์ คืออะไร

อายุครรภ์ คือ ระยะเวลาตั้งแต่การตั้งครรภ์จนถึงวันคลอด โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 38-42 สัปดาห์ หรือ 280 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย หากทารกคลอดก่อนครบ 37 สัปดาห์ นั่่นคือ การคลอดก่อนกำหนด แต่หากทารกคลอดหลังจากผ่านไป 42 สัปดาห์ อาจหมายถึง การตั้งครรภ์เกินกำหนด โดยอายุครรภ์แบ่งออกได้เป็น 3 ไตรมาส ดังนี้

  • ไตรมาสแรก ช่วงอายุครรภ์ 1-3 เดือน หรือสัปดาห์ที่ 1-14
  • ไตรมาสที่ 2 ช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน หรือสัปดาห์ที่ 15-27
  • ไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสสุดท้าย ช่วงอายุครรภ์ 7-9 เดือน หรือสัปดาห์ที่ 28-40

การ คำนวณอายุครรภ์ สำคัญอย่างไร?

การนับอายุครรภ์อาจช่วยให้คุณแม่สามารถวางแผนการดูแลครรภ์ และเตรียมพร้อมในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เช่น

  • การคาดการณ์วันกำหนดคลอด
  • การติดตามพัฒนาการและความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์
  • การตรวจคัดกรองสุขภาพมารดาและทารกในครรภ์ในแต่ละไตรมาส
  • การตรวจภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจช่วยป้องกันทารกคลอดก่อนกำหนด หรือการตั้งครรภ์เกินกำหนด

คำนวณอายุครรภ์ มีกี่วิธี?

  • คะเนวันคลอดจาก Naegele’s rule
  • คะเนวันคลอดจากประวัติเด็กดิ้น (Quickening)
  • การวัดระดับยอดมดลูกด้วยสัดส่วน (Height of fundus)
  • การคำนวณจากระดับยอดมดลูกด้วยสายเทปวัดตามวิธีของ Jimenez/ Modified McDonald’s rule
  • คำนวณจากระดับยอดมดลูกด้วยสายเทปวัดตามวิธีของ McDonald’s rule
  • การคำนวณจากการตรวจภายในครั้งแรก (Uterine assessment)
  • คะเนอายุครรภ์โดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonogram)

วิธีการนับอายุครรภ์นั้นมีหลายวิธี แต่วิธีต่าง ๆ นั้นอาจต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเช่นแพทย์ เท่านั้น แต่มีอยู่ 1 วิธี ที่แม่ ๆ สามารถคำนวณได้ด้วยตัวเอง คือการคะเนวันคลอดจาก Naegele’s rule หรือเรียกกันง่าย ๆ คือการคำนวณวันคลอดจากประจำเดือนครั้งสุดท้าย

การนับอายุครรภ์
การนับอายุครรภ์

จำวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด…ก็นับอายุครรภ์ได้

การตั้งครรภ์อาจใช้เวลาประมาณ 38-42 สัปดาห์ การนับอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย โดยการนับอายุครรภ์อาจเริ่มนับจากวันแรกที่รอบเดือนมาครั้งสุดท้าย แล้วนับย้อนหลังกลับไป 3 เดือน แล้วบวกเพิ่มไปอีก 7 วัน ยกตัวอย่างเช่น วันแรกที่รอบเดือนมาครั้งสุดท้าย คือ วันที่ 1 พฤศจิกายน หากนับย้อนหลังไป 3 เดือน จะเท่ากับวันที่ 1 กรกฎาคม จากนั้นบวกเพิ่มไปอีก 7 วัน ซึ่งวันครบกำหนดคลอดจะเป็นวันที่ 8 กรกฎาคมของปีถัดไป ซึ่งเมื่อเราทราบกำหนดคลอดแล้ว ก็นับย้อนหลังไปเรื่อย ๆ ก็จะสามารถทราบได้ว่าขณะนี้คุณแม่ตั้งครรภ์กี่สัปดาห์แล้ว

ซึ่งจากตัวอย่าง คือ วันแรกที่รอบเดือนมาครั้งสุดท้ายคือ วันที่ 1 พฤศจิกายน

วันที่ 1 พฤศจิกายน = สัปดาห์ที่ 0

วันที่ 8 พฤศจิกายน = สัปดาห์ที่ 1

และวันที่ 15 พฤศจิกายน = สัปดาห์ที่ 2

ฯลฯ

วิธีนี้จะใช้ไม่ได้ผลในกรณีที่

  • คุณแม่จำวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดไม่ได้
  • ประวัติการมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
  • หลังคลอดครรภ์ก่อนไม่เคยมีประจำเดือนมาเลยจนกระทั่งตั้งครรภ์ใหม่
  • ตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกผิดปกติจากการแท้งคุกคาม หรือเลือดออกจากการฝังตัว (Hartman’s sign) ซึ่งปกติแล้วจะเกิดขึ้นประมาณวันที่ 17 หลังปฏิสนธิ
  • รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือฉีดยาคุมกำเนิดอยู่ แล้วประจำเดือนไม่มาเลย
  • มีประจำเดือนขาดหายไปหลังหยุดยาเม็ดคุมกำเนิด (post – pill amenorrhea)

ดังนั้น วิธีการ คำนวณอายุครรภ์ ด้วยวิธีนี้ อาจทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนได้ สำหรับแม่ ๆ ที่มีกรณีข้างต้นจึงควรนับอายุครรภ์ด้วยวิธีอื่น ๆ ซึ่งการนับอายุครรภ์วิธีอื่น ๆ นั้น จะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการนับวัดระดับยอดมดลูก หรือ อัลตราซาวน์

อัลตราซาวด์
อัลตราซาวด์

การนับอายุครรภ์ด้วยวิธีอัลตราซาวน์

อัลตราซาวน์เป็นวิธีที่แม่นยำและเป็นที่นิยมในการระบุอายุครรภ์ อาจเหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีรอบเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่แน่ใจว่าการตกไข่เกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถเข้ารับการตรวจอัลตราซาวน์จากสูตินารีแพทย์ วิธีนี้อาจช่วยให้คุณหมอทราบถึงขนาดของทารกในครรภ์ และคำนวณอายุครรภ์ของคุณแม่ เพื่อกำหนดวันคลอด ซึ่งการอัลตราซาวน์ช่วยให้คุณหมอสามารถประเมินพัฒนาการของทารกว่า มีความสัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่ โดยสามารถดูได้จากขนาดของทารก และน้ำหนักของทารก

การคำนวณอายุครรภ์นี้ เป็นการคำนวณด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ เท่านั้น เพื่อให้คุณแม่ได้ทราบถึงการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์พร้อมทั้งพัฒนาการต่าง ๆ แบบคร่าว ๆ ทำให้คุณแม่ทราบว่าในช่วงนี้ควรจะระวังเรื่องไหนบ้าง เป็นต้น แต่หากคุณแม่ต้องการทราบอายุครรภ์และกำหนดคลอดที่แน่นอน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทราบวันที่ชัดเจนและคำแนะนำที่มีประโยชน์ต่าง ๆ จากคุณหมอค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

10 อาการเตือนคนเริ่มท้อง และเรื่องน่ารู้สำหรับคุณแม่

ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน ท้องไม่ท้อง เช็คเลย!!!

อาการของคนท้อง ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนคลอด มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

10 ข้อห้าม คนท้องอ่อนๆ ต้องระวังอะไรบ้าง?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.วิรีภรณ์ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, hellokhunmor.com,

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up