มีลูกอายุเท่าไรดีที่สุด และความเสี่ยงของการมีลูกในแต่ละช่วงวัย
มีลูกก่อนอายุ 20
ยิ่งมีลูกตอนอายุยังน้อยยิ่งดี เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายแข็งแรง เป็นความคิดที่ผิดนะคะ มาดูกันค่ะว่า การมีลูกเมื่ออายุต่ำกว่า 20 ปีนั้นมีความเสี่ยงต่อตนเองและลูกในท้องอย่างไรบ้าง
- ทารกแรกเกิดที่คลอดออกมานั้น มีน้ำหนักน้อย
- คลอดก่อนกำหนด
- ครรภ์เป็นพิษ
- ความดันโลหิตสูงขึ้นขณะตั้งครรภ์
- คลอดยาก เนื่องจากกระดูกอุ้งเชิงกรานของวัยรุ่นนั้นยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ทำให้ไม่สามารถรองรับการขยายตัวเมื่อคลอดลูกได้
- ขาดสารอาหาร ลักษณะนิสัยของผู้หญิงในช่วงวัยรุ่นนั้น มักจะมีนิสัยการทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ หากตั้งท้องในช่วงนี้และยังมีนิสัยการกินแบบเดิม ก็อาจทำให้ทั้งแม่และลูกในท้องขาดสารอาหารได้
มีลูกตอนอายุ 20-29
ช่วงวัยนี้ เป็นช่วงเวลาทองของการมีลูก เนื่องจากมีโอกาสที่จะท้องได้ง่ายที่สุด และไข่ที่ตกออกมายังมีคุณภาพที่ดีที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ต่ำอีกด้วย
มีลูกตอนอายุ 30-39
ปริมาณและคุณภาพของไข่ของผู้หญิงจะค่อย ๆ เสื่อมลงตั้งแต่อายุ 32 และจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็วเมื่ออายุ 35 เป็นต้นไป โดยในช่วงอายุ 37 ผู้หญิงจะมีไข่เหลืออยู่เพียง 25,000 ฟองเท่านั้น
ความเสี่ยงต่อการแท้งและความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมนั้นก็จะเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเมื่ออายุ 35 เป็นต้นไป และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ หรือภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการคลอดบุตรได้ ดังนั้นคุณแม่ที่ตั้งท้องในช่วงนี้ ไม่ต้องแปลกใจว่าคุณหมออาจจะแนะนำให้ตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมเพิ่มเติม เช่นการตรวจหาภาวะดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
มีลูกตอนอายุ 40-49
เมื่ออายุ 40 เป็นต้นไป ความสามารถในการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติของผู้หญิงจะลดลงมาก เพราะปริมาณและคุณภาพของรังไข่ลดลง นอกจากนี้ไข่ที่เริ่มแก่แล้วมักจะมีปัญหาในด้านโครโมโซม ตัวอ่อนที่ได้รับการผสมมักจะมีโอกาสเกิดข้อบกพร่องมากขึ้น
แม้ผู้หญิงในวัยเลข 4 ก็มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ลูกที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงได้ แต่ก็อาจจะมีความเสี่ยงจากการตั้งท้องในช่วงเวลานี้เช่นกัน ได้แก่
- ไม่สามารถคลอดเองได้ตามธรรมชาติ อาจต้องผ่าตัดคลอด
- คลอดก่อนกำหนด
- น้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์
- การคลอดทารกที่เสียชีวิตในครรภ์
และในผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มักจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้มากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น เมื่อตั้งครรภ์แล้วจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น ดังนั้นแม่ท้องที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นพิเศษเพื่อป้องการภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
นอกจากสภาพร่างกายที่เอื้อต่อการมีลูกแล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ บ้านคงคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ความมั่นคงทางการเงิน ความสามารถในการเลี้ยงดู ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถเลี้ยงดูลูกหนึ่งคนให้เจริญเติบโตขึ้นอย่างมีความสุขได้ ซึ่งแต่ละบ้านก็จะมีปัจจัยแตกต่างกัน แต่อยากให้คำนึงถึงสภาพร่างกายของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายเป็นอันดับต้น ๆ นะคะ เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้นแล้ว พร้อมแค่ไหนก็ไม่สามารถเอาสมรรถภาพที่แข็งแรงกลับคืนมาได้
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
วิจัยเผย! พ่อที่ มีลูกตอนอายุ 45 ปี ทารกเสี่ยงไม่แข็งแรง
นี่คือ 4 เหตุผลของการมีลูกตอนอายุ 35 ดีกว่า มีตอนอายุ 25!
ทำไงให้ท้อง? 12 ทางลัด ที่คนอยากมีลูกไม่ควรพลาด
ข้อมูลอ้างอิงจาก : babycenter, healthline, Dr.เช้าตรู่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่