เบาหวานก่อนตั้งครรภ์ VS เบาหวานขณะตั้งครรภ์
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes)
คนที่ไม่เป็นเบาหวาน ทำไมเมื่อตั้งครรภ์กลับพบว่าเป็นโรคเบาหวาน
เกิดจากฮอร์โมนหลายชนิดซึ่งสร้างจากรก มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ประกอบกับการรับประทานอาหารรสหวานมากขึ้น อ้วนมากขึ้นจนมีไขมันมาสะสมในช่องท้องมากกว่าเดิม อีกทั้งไม่ได้ออกกำลังกายหลังตั้งครรภ์ค่ะ
คุณแม่ท้องต้องตรวจหาเบาหวานทุกคนหรือไม่
การแพทย์ในโลกนี้ยังไม่มีมาตรฐานเดียวกันในการคัดกรองโรคเบาหวานสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ บางประเทศอาจมีการคัดกรองคนท้องทุกราย ในขณะที่บางประเทศคัดกรองตามความเสี่ยงเช่นเดียวกับประเทศไทย
ปัจจัยเสี่ยง เบาหวานขณะตั้งครรภ์
- พ่อแม่พี่น้องเป็นโรคเบาหวาน และอายุมากกว่า 25 ปี
- มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กิโลกรัม / ตารางเมตร (ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง)
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อ้วนอยู่แล้ว มีน้ำหนักขึ้นเกิน 1 กิโลกรัมต่อ 1 สัปดาห์
- เคยคลอดลูกน้ำหนักมากกว่า 3.8 กิโลกรัม
- น้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อคลอด (เมื่อคุณแม่เป็นทารก) มากกว่า 3.8 กิโลกรัม หรือน้ำหนักน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม โดยหาสาเหตุไม่ได้
- ท้องที่แล้วเคยเป็นโรคเบาหวาน และท้องก่อนเคยมีทารกเสียชีวิตในครรภ์ไม่ทราบสาเหตุ
- ตรวจปัสสาวะพบว่ามีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ
- เป็นโรครังไข่หนา อาการของโรคคือ อ้วน ขนดก ประจำเดือนไม่ค่อยมา เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือครรภ์เป็นพิษ
- ใช้สารสเตียรอยด์เป็นประจำ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ตรวจเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์เท่าไร ?
คุณแม่ท้องที่มีความเสี่ยง จะตรวจเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ ในกรณีที่เสี่ยงสูงมาก อาจจะคัดกรองทันทีที่ฝากครรภ์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีผลกระทบกับแม่และลูกอย่างไร ?
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ เบาหวานเต็มขั้น (Overt diabetes) ซึ่งมีผลกระทบไม่แตกต่างจากโรคเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ ส่วน เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) เนื่องจากค่าน้ำตาลไม่ได้สูงก่อนการตั้งครรภ์ โอกาสทารกพิการจึงพอๆ กับคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนมีโอกาสเกิดน้อย ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ จะเหมือนกับโรคเบาหวานก่อนตั้งครรภ์