-
ฮีทสโตรค
คุณแม่ท้องสามารถเป็นฮีทสโตรคได้ เพราะเมื่อตั้งครรภ์ เลือดจะถูกดึงไปเลี้ยงมดลูกหมด อวัยวะอื่นๆ จึงได้เลือดน้อยกว่าปกติ จึงมีแนวโน้มเป็นลมได้ง่าย หากยิ่งวันไหนนอนน้อย กินน้อย ออกแดดช่วงเวลาร้อนจัดนาน ยิ่งทำให้เกิดภาวะนี้ได้มากขึ้น
ฮีทสโตรคแตกต่างจากการเป็นลมธรรมดา โดยสังเกตอาการง่ายๆ ได้ 3 ข้อ ดังนี้
- อุณหภูมิร่างกายสูง 40.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป และมีไข้
- ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้
- ระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ เช่น เป็นลม
หากคุณแม่ท้องมีอาการดังกล่าวข้างต้น ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นฮีทสโตรค
ปฐมพยาบาลเมื่อเป็นฮีทสโตรค
- เคลื่อนย้ายไปที่ที่อากาศถ่ายเท
- ปลดหรือคลายเสื้อผ้าให้หลวมสบายที่สุด
- เช็ดตัว วิธีการเช็ดเช่นเดียวกับเช็ดตัวตอนเป็นไข้
- ดื่มน้ำให้มากเพื่อระบายความร้อนออกทางปัสสาวะ
- หากไม่ดีขึ้นให้รีบส่งโรงพยาบาล โดยแพทย์จะช่วยให้น้ำเกลือ เพราะน้ำเกลือคือสารน้ำที่ช่วยระบายความร้อนได้ดีและรวดเร็ว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
-
ตะคริว
ตะคริวคืออาการยอดฮิตของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ เพราะต้องใช้กล้ามเนื้อในการแบกน้ำหนักอย่างมากนานถึง 9 เดือน ทำให้เกิดการหดรัดเกร็งของกล้ามเนื้อกว่าปกติ นอกจากนี้ กล้ามเนื้อของคนเราต้องใช้แคลเซียมในการหดเกร็ง คลายตัว แต่เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่ต้องแบ่งแคลเซียมไปให้ลูกน้อยใช้ค่อนข้างมาก เมื่อแคลเซียมน้อยก็ทำให้เกิดตะคริวได้
ตะคริวป้องกันได้ บริเวณที่แม่ท้องเป็นตะคริวได้บ่อยคือ น่อง วิธีป้องกันก็คือ
- แช่ขาส่วนน่องในน้ำอุ่นและบีบนวดให้กล้ามเนื้อคลายตัว
- รับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ ซึ่งคุณแม่ท้องต้องการแคลเซียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน
เป็นตะคริวแล้ว ทำอย่างไรดี
ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้ช่วยยืดขาให้ จากนั้นให้เขาจับฝ่าเท้าข้างที่เป็นตะคริวขึ้นมา มือข้างหนึ่งดันฝ่าเท้าเข้าหาตัวคุณแม่ มืออีกข้างให้รูดขึ้นลงตรงบริเวณเอ็นร้อยหวาย ไม่นานก็หายเป็นปกติ
คุณแม่ท้องควรดูแลตัวเองให้มาก หากมีอาการที่ไม่ฉุกเฉินเร่งด่วน และสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น ก็ควรดูแลตัวเองก่อนไปพบแพทย์ เพื่อช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา เหนืออื่นใด วิธีทีป้องกันได้ดีที่สุดคือการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์และออกกำลังกาย ก็จะช่วยลดอาการเจ็บป่วยลงได้มากค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ. ธาริณี ลำลึก สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
โรงพยาบาลพญาไท 2 และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center
บทความโดย กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin baby & kids
อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ