วิจัยชี้! ตั้งครรภ์ หลัง 30 ปี แม่เสี่ยงมะเร็ง
โรงพยาบาลเวชธานี เผยข้อมูลมะเร็งเต้านม เตือนผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น โดยจากสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ในผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด โดยมีปัจจัยเสี่ยงทั้งที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ เช่น อายุที่มากขึ้น, ประจำเดือนมาเร็วหรือหมดเร็ว และการใช้ยาฮอร์โมนนานเกิน 5 ปี นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้หญิงที่มีลูกก่อนอายุ 30 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมได้
นอกจากนี้ จากการศึกษาผู้หญิงในอังกฤษที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม พบว่า ผู้หญิงที่มีลูกตั้งแต่ยังสาว มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงที่มีลูกเมื่ออายุมากถึงครึ่ง
ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงจำนวนมากมีลูกหลังอายุ 30 ปี หรือ 40 ปีขึ้นไป ทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาในการตั้งครรภ์ และการแท้ง นอกจากทารกที่คลอดออกมามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคดวาน์ซินโดรม ความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่นๆ และความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมแล้ว คุณแม่ยังเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมด้วย
ศาสตราจารย์กาเร็ต อีแวนส์ จากโรงพยาบาลเซนต์ แมรีส์ แอนด์ คริสตีในแมนเชสเตอร์ ระบุว่า ผู้หญิงที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มักสูญเสียแม่เพราะโรคนี้ขณะยังเป็นเด็ก ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ ควรสร้างครอบครัวตั้งแต่เนิ่นๆ เท่าที่จะเป็นไปได้
โดยทีมนักวิจัยของศาสตราจารย์อีแวนส์ ร่วมศึกษาเรื่องนี้กับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยศึกษาอัตราการเป็นมะเร็งเต้านม และการมีบุตรของผู้หญิง 800 คน ในย่านนอร์ตเวสต์ และมิดแลนด์
นักวิจัยพบว่า ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งในผู้หญิงที่มีลูกคนแรกเมื่ออายุ 30 ปี ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสำคัญในเนื้อเยื่อเต้านมที่อาจพัฒนาเป็นมะเร็ง ได้รับการป้องกันเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์ระหว่างอายุ 14-30 ปี
ศาสตราจารย์อีแวนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง และที่ปรึกษาด้านเวชพันธุศาสตร์ ยอมรับว่ายังไม่รู้แน่ชัดว่า เหตุใดการตั้งครรภ์ในช่วงอายุดังกล่าว จึงช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้ โดยทฤษฎีหนึ่งก็คือ การตั้งครรภ์ช่วยฟื้นฟูเซลล์เต้านมให้ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิง อาทิ โปรเจสเตอโรน และเอสโตรเจน ที่เชื่อมโยงกับการเป็นมะเร็งเต้านม น้อยลง