วิจัยชี้! สาวโสดเสี่ยงมะเร็งเต้านมกว่าคนมีลูก
จากข้อมูลข่าวของ ไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่า พล.ต.รศ.นพ.วิชัย วาสนสิริ ผอ.ศูนย์เต้านม รพ.จุฬาภรณ์ และนายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย โดยเฉลี่ยประมาณ 30 คนต่อผู้หญิงหนึ่งแสนคน
โรคนี้พบสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อ 15 ปีก่อนพบเพียง 15 คนต่อผู้หญิงหนึ่งแสนคน ส่วนปัจจัยของการเกิดโรคมีหลายอย่าง ทั้งการดำเนินชีวิต พฤติกรรม อายุ และพันธุกรรม และปัจจัยเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ประจำเดือนหมดช้า หมดเร็วก็มีความเสี่ยง
ทั้งนี้ หลายคนเข้าใจผิดว่า ถ้าอายุมากแล้วคงไม่เป็นมะเร็งเต้านม แต่จริงๆ ไม่ใช่ อายุเยอะยิ่งพบได้ โดยอายุที่พบมากในต่างประเทศ จะพบเฉลี่ยอายุ 55 ปีขึ้นไป แต่ในไทย เกาหลี ญี่ปุ่น หรือในแถบเอเชียจะพบในอายุเฉลี่ย 45-50 ปี
พญ.สุดารัตน์ ชัยเพียรเจริญกิจ ศัลยแพทย์สาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า การตรวจคัดกรองความเสี่ยงมะเร็งเต้านม และการค้นพบปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม จะช่วยรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ดี ดังนั้น ควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยการคลำเต้านมทุกเดือน และหากอายุ 40-45 ปีขึ้นไป ก็ควรมาตรวจแมมโมแกรม นอกจากนี้ สำหรับผู้หญิงที่ทานฮอร์โมนมากกว่า 5 ปี ก็จะมีความเสี่ยงได้ แต่ก็ถือว่าน้อย โดยพบมากกว่าคนปกติ 1.1-2 เท่าตัว
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงแต่งงานแล้วมีบุตร และให้นมบุตร จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าผู้หญิงโสด หรือผู้หญิงแต่งงานแล้วแต่ไม่มีบุตร เนื่องจากการให้นมบุตรช่วยลดฮอร์โมนเอสโตรเจนลงได้
ส่วนการศัลยกรรมทรวงอกยังไม่มีงานวิจัยว่า ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้ เช่นเดียวกับขนาดหน้าอกไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้เหมือนกัน ส่วนปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น การมีสามี เพราะคนโสดมีความเสี่ยงกว่าคนที่มีบุตร หรือการมีลูกจะลดความเสี่ยงได้
รวมไปถึงการมีประจำเดือนที่ไม่ปกติ มาเร็ว มาตั้งแต่อายุน้อย ก็เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ปัจจัยที่ดูแลตัวเองได้ คือ การดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี ออกกำลังกาย กินอาหารให้มีประโยชน์ และหมั่นตรวจเต้านม ตรวจคัดกรองก็จะช่วยได้
ข้อมูลอ้างอิง: Sanook, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (MedThai), มะเร็งเม็ดเลือดขาว (MedThai), กรุงเทพธุรกิจ, โพสต์ทูเดย์, ผู้จัดการออนไลน์
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม คลิก!!
นับวันตกไข่ ให้ดีถ้าอยากมีลูกในวัย 30+
ไขข้อข้องใจ มีลูกตอนแก่ เสี่ยงหรือไม่
ข้อดี vs ข้อเสีย ของการ มีลูกเมื่ออายุมาก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่