คนท้อง มีเรื่องมากมายให้ต้องกังวล การห่วงลูกน้อยในครรภ์เป็นสิ่งที่ห่วงที่สุดของแม่ทั้งหลาย ดังนั้นมารู้จักโรคติดเชื้อที่อาจทำให้ลูกพิการได้ก่อนสายดีกว่า
5 โรคติดเชื้อที่ คนท้อง ห้ามละเลย..อาจทำให้ลูกพิการได้!!
โรคติดเชื้อที่อันตรายระหว่างตั้งครรภ์
ตกขาวระหว่างตั้งครรภ์
ความจริงแล้วตกขาวเป็นเรื่องปกติของผู้หญิง ที่จะต้องมีเพื่อหล่อเลี้ยง หล่อลื่นช่องคลอด และบริเวณปากมดลูกอยู่ตลอดเวลา สารคัดหลั่งเหล่านี้จึงถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติปกติของผู้หญิง โดยลักษณะของตกขาวปกติ จะเป็นมูกใสหรือขาวขุ่นคล้ายแป้งเปียก ปริมาณไม่มากนัก อาจมีทุกวัน วันละเล็กน้อย เรื่องของลักษณะและปริมาณของตกขาวนั้นขึ้นกับอิทธิพลของฮอร์โมนในร่างกายด้วย
สาเหตุของการเกิดตกขาวระหว่างตั้งครรภ์
ในระหว่างตั้งครรภ์ ปากมดลูกและผนังช่องคลอดนั้นจะนุ่มขึ้น และผลิตตกขาวออกมามากขึ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่มดลูก ตกขาวจะช่วยปกป้องลูกน้อยให้ปลอดภัย ในช่วงสัปดาห์ท้ายก่อนคลอด หัวของทารกจะกดทับบริเวณปากมดลูก น้ำหนักกดทับทำให้มีตกขาวเพิ่มขึ้น ลักษณะเป็นมูกมากขึ้นและมีกลิ่นคล้ายกับเลือดปนอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าใกล้เวลาคลอดแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม แม่ท้องควรระวังการมีตกขาวที่ผิดปกติจากเชื้อโรคที่มาทำให้ช่องคลอดอักเสบติดเชื้อบางอย่างที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อการตั้งครรภ์ และอาจทำให้เกิดความผิดปกติของลูกในท้องได้ จนอาจเสี่ยงต่อภาวะพิการแต่แรกเกิดของทารก ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ แม่ท้องควรได้รับการตรวจภายในเพิ่มเติม และรับการรักษาเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนการตั้งครรภ์หากเป็นการอักเสบที่รุนแรงได้
- ตกขาวเป็นสีเทาหรือขาวเข้มเหมือนเมือกนม
- มีอาการแสบร้อนในช่องคลอด
- มีอาการคันที่รุนแรงในช่องคลอด
- มีกลิ่นที่รุนแรงมากผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรู้สึกว่ามีกลิ่นอับคล้ายกลิ่นคาวปลา
โรคขี้แมว โรคติดเชื้อจากปรสิตที่มีชื่อว่า Toxoplasma gondii
โดยเชื้อดังกล่าวสามารถพบได้ในมูลของแมว เนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงสุกๆ ดิบๆ แม้ปกติมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด และเชื้อยังสามารถแพร่จากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้ ผู้ที่ได้รับเชื้อในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจถ่ายทอดเชื้อไปยังทารกได้น้อย แต่มักส่งผลให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือเกิดการแท้งบุตร สำหรับทารกที่รอดชีวิตมีแนวโน้มจะพบปัญหาสุขภาพรุนแรงตามมา เช่น ชัก ตับโต ม้ามโต ดีซ่าน หรือติดเชื้อที่ดวงตาอย่างรุนแรง ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อนี้ในช่วงไตรมาสที่ 3 อาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสู่ทารกได้มากที่สุด แต่มักพบอาการผิดปกติได้น้อย และเด็กที่เกิดมาอาจจะพัฒนาอาการได้เมื่อโตขึ้น
การรักษาโรคทอกโซพลาสโมซิสในหญิงตั้งครรภ์มีอยู่หลายวิธี ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะที่ติดเชื้อและความรุนแรงของเชื้อ เช่น
- การติดเชื้อภายใน 16 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะอย่างสไปรามัยซิน เพื่อลดอัตราการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์
- การติดเชื้อหลังสัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์ หรือทารกในครรภ์ติดเชื้อ อาจต้องรับประทานยาไพริเมตามีน ยาซัลฟาไดอะซีน กรดโฟลิก และยาลูวโคโวริน ทั้งนี้ ยาทั้ง 2 ชนิดนี้อาจส่งผลข้างเคียงต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้ เช่น กดไขกระดูกที่ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือด เกิดความเป็นพิษต่อตับ เป็นต้น
การป้องกัน
สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับพฤติกรรมของตนเอง หมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี รวมถึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยการรักษาสุขอนามัยทั้งต่อตนเอง และสภาพแวดล้อม เช่น การใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัยหากต้องสัมผัสกับสัตว์ ดูแลรักษาความสะอาดของใช้ และบริเวณรอบบ้านให้สะอาดปลอดเชื้อ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น เป็นต้น
โรคสุกใส Varicella/ Chicken Pox
โรคอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ มีระยะฟักตัว 10 – 20 วัน โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่เป็นซ้ำอีก แต่เชื้ออาจหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท และมีโอกาสเป็นงูสวัดได้ในภายหลัง ถ้ามีการติดเชื้อสุกใสในหญิงตั้งครรภ์ระยะสามเดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ เช่น แขนขาผิดปกติ จอประสาทตาอักเสบ ลำไส้ตีบฝ่อเป็นช่วง ๆ และความผิดปกติของระบบประสาท เป็นต้น นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นสุกใสในระยะก่อนคลอด 5 วันหรือหลังคลอด 2 วัน ทารกที่เกิดมาอาจเป็นสุกใสชนิดรุนแรงได้
โรคอีสุกอีใสจะแสดงอาการเหมือนกันไม่ว่าขณะตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ นั่นคือ การเกิดตุ่มคัน ซึ่งอาจมีเลือดออกหรือไม่ก็ได้ หายใจติดขัด เจ็บที่หน้าอก อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง มีไข้สูง มีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาการเลือดออกทางช่องคลอดถือเป็นสัญญาณอันตรายมาก ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
การป้องกัน
หัดเยอรมัน
เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัส มีอาการไม่รุนแรงมาก โรคนี้จะติดต่อถึงกันได้ทางการหายใจ โดยเชื้อในละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยในอากาศ ถ่ายทอดไปยังผู้ใกล้ชิด ระยะเวลานี้สามารถแพร่เชื้อ คือ 7 วันก่อนออกผื่นจนถึง 5 วันหลังผื่นขึ้น ในมารดาจะไม่มีอันตรายจากหัดเยอรมัน แต่ทารกในครรภ์ที่มารดาติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ อาจจะเกิดความผิดปกติ ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุครรภ์เมื่อติดเชื้อ ถ้าอยู่ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะพบความพิการที่เห็นได้ชัดคือ ตาเป็นต้อกระจก หรือต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการแต่กำเนิด เด็กตัวเล็กกว่าปกติ เกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติทำให้เกิดจ้ำเลือดตามผิวหนัง ตับ ม้ามโตและมีความผิดปกติทางสมอง
การป้องกัน
การฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน คือ การป้องกันที่ดีที่สุด และควรฉีดให้ตั้งแต่วัยเด็ก หรือวัยสาวที่ยังไม่เคยเป็นหัดเยอรมันได้รับ แต่ในขณะตั้งครรภ์ไม่สามารถฉีดได้ ทำให้ในช่วงการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ควรหลีกเลี่ยงให้ห่างจากผู้ที่เป็น หรือสงสัยว่าจะเป็นหัดเยอรมัน ถ้าฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน ควรคุมกำเนิดไว้ 3 เดือน ในระหว่างตั้งครรภ์หากพิสูจน์ได้แน่ว่าติดหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก แพทย์มักจะแนะนำให้ทำแท้ง เพราะโอกาสเด็กพิการมีถึง 50 % ดังนั้น สตรีที่มีครรภ์เมื่อป่วยเป็นโรคหัดเยอรมันควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง
โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไซโตเมกาโลไวรัสหรือเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus; CMV)
เชื้อ CMV ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า หรือปอดบวม สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีสุขภาพแข็งแรงส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการ แต่หากเป็นทารก หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำอาจมีอาการรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนของโรคยังอาจทำให้ตาบอดหรือหูหนวก
ทารกอาจได้รับเชื้อจากมารดาที่ติดเชื้อหรือได้รับเชื้อจากการดื่มนมแม่ โดยผู้ติดเชื้อที่กำลังตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด โดยทารกแรกเกิดที่ติดเชื้ออาจมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ศีรษะเล็กกว่าปกติ มีผื่นหรือรอยสีม่วงเป็นปื้นตามร่างกาย ตาเหลือง ตัวเหลือง ม้ามโต ตับโตและมีปัญหาในการทำงาน ปอดบวม ชัก มีพัฒนาการช้า ตาบอด และหูหนวก เป็นต้น อาการ Cytomegalovirus Infection ในทารกอาจไม่ปรากฏทันทีที่คลอด แต่อาจใช้เวลาหลายเดือนไปจนถึงหลายปีจึงจะพบอาการ นอกจากนี้ การได้รับเชื้อในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจรุนแรงกว่าการได้รับเชื้อในช่วงอื่น และบางรายอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้จากการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม กว่า 80% ของทารกแรกเกิดที่ติดเชื้ออาจไม่ได้รับภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เสมอไป แต่ถึงอย่างไรก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีในการลดความเสี่ยง
การป้องกัน
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันเชื้อนี้ แต่อาจลดความเสี่ยงในกาารติดเชื้อได้ด้วยการรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ อย่างการล้างมือ ฟอกสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ดูแลความสะอาดของร่างกายและช่องปาก และสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์
สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ หรืออันตรายใด ๆ ต่อลูกในครรภ์ คือ การป้องกันก่อนเกิดเหตุ เพราะการป้องกันไว้ก่อน การได้วางแผนก่อนการมีบุตร ทำให้แม่สามารถเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อน เมื่อเราพร้อมแล้วก็จะได้เป็น คนท้องที่ไม่ต้องมานั่งกังวลอีกต่อไป
- การฉีดวัคซีนป้องกันให้มีภูมิคุ้มกันก่อนตั้งครรภ์ เช่น หัด หัดเยอรมัน สุกใส เป็นต้น ในบางโรงพยาบาลสามารถตรวจดูภูมิคุ้มกันให้ก่อนการตรวจเลือดก่อนมีบุตร ถ้ามีภูมิแล้วก็ไม่ต้องฉีดวัคซีนอีก
- ถ้าตรวจเลือดพบว่ามีการติดเชื้อบางชนิด (หรือมีอาการของโรค) ควรรักษาให้เรียบร้อยก่อนตั้งครรภ์
- ลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อที่ก่อโรค เช่น การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ แม้ว่าจะไม่ใช่เพื่อการคุมกำเนิดแต่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยงให้ครบ ดูแลสุขอนามัย เป็นต้น
เมื่อคุณแม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อที่เป็นอันตรายต่อคนท้องต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ก็ไม่ต้องเป็นกังวลมากเกินไปนัก สิ่งที่เราควรระมัดระวัง อย่าละเลย นั่นคือ การสังเกตอาการต่าง ๆ ของตัวเอง หากมีสิ่งที่ผิดปกติเกิดขึ้นอย่ามัวแต่นั่งกังวล คิดมาก ควรรีบไปพบแพทย์ที่ทำการฝากท้องไว้จะดีที่สุด เพราะความปลอดภัยของลูกน้อยในท้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ที่ไม่ควรละเลย
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก mahidol.ac.th/ pobpad
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
สายสะดือพันคอทารกในครรภ์ 6 รอบ ยาวถึง 90 ซม. หมอช็อคเพิ่งเคยเห็นครั้งแรก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่