เมื่อตั้งครรภ์ ภูมิต้านทานในร่างกายของคุณแม่จะลดลงเป็นปกติอยู่แล้ว ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เมื่อติดแล้วก็มักจะหายช้ากว่าปกติ ยารักษาต่างๆ ก็ต้องใช้ยาที่อ่อนลงเพราะอาจกระทบกับลูกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ การเป็นไข้สูงนานๆ หัวใจของลูกจะเต้นเร็วมากขึ้น ส่งผลให้ลูกน้อยเจริญเติบโตช้าได้ด้วย
1. เป็นไข้
โดยปกติอาการไข้มักเกิดจาก 3 สาเหตุด้วยกัน ได้แก่
1.ไข้หวัด ซึ่งพบได้บ่อย มักมีอาการร่วมคือ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก
2.ไข้จากการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะ อาการร่วมคือ ปัสสาวะขัดหรือผิดปกติ มีอาการหนาวสั่น
3.ไข้จากระบบทางเดินอาหาร อาการร่วมที่เจอบ่อยๆ คือท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
ดังนั้น ในเบื้องต้นต้องรู้ว่าเราเป็นไข้จากสาเหตุอะไร จึงจะรักษาตามอาการได้ถูกต้อง
ลดไข้ด้วยวิธีง่ายๆ หลักการของการลดไข้คือ การระบายความร้อนออกไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้นวิธีไม่มีอะไรมาก ง่ายๆ ก็คือการเช็ดตัว เพราะการเช็ดตัวที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพจะช่วยบรรเทาอาการได้อย่างดี
วิธีเช็ดตัวที่ถูกต้อง เช็ดตัวด้วยน้ำเปล่าอุณหภูมิปกติเท่านั้น เวลาเช็ดให้เช็ดย้อนรูขุมขน และเช็ดเข้าหากลางลำตัวเป็นหลัก นอกจากนี้ควรใช้ผ้าซับบริเวณจุดระบายอุณหภูมิต่างๆ ได้แก่ ซอกคอ รักแร้ขาหนีบ หรือข้อพับต่างๆ และควรเช็ดตัวบ่อยๆ จนอุณหภูมิลดลงนอกจากเช็ดตัวแล้ว ควรดื่มน้ำมากๆ วันละ 6-8 แก้ว เพราะการดื่มน้ำมาก ปัสสาวะก็จะมากตามไปด้วย ซึ่งจะช่วยระบายความร้อนออกได้ดียิ่งขึ้น
รักษาตามอาการ
หากเจ็บคอ ดื่มน้ำผึ้งและน้ำมะนาวผสมน้ำอุ่นได้ หากคัดจมูก ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ จะช่วยลดการอักเสบหรือบวมบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกได้ นอกจากนี้พยายามรับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีมากขึ้นอย่างส้ม ก็จะช่วยได้ค่ะ
Q&A
Q หากแม่ท้องจำเป็นต้องดูแลคนเป็นไข้ ทำอย่างไรดี
A คุณแม่ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสผู้ป่วย ไม่ควรดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ควรใช้ช้อนกลางเวลารับประทานอาหาร และอาหารต้องร้อนและปรุงสุกเสมอ
Q ไอมากๆ มดลูกบีบตัวได้ไหม
A ได้ เพราะการไอมากๆ จะไปเพิ่มแรงดันในช่องท้องทำให้มดลูกบีบตัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุครรภ์น้อยๆ ในช่วง 12 สัปดาห์แรก อาจแท้งได้ หรืออายุครรภ์มาก 32 สัปดาห์ขึ้นไป ก็ทำให้คลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีอาการไอหนักมากๆ ควรไปพบแพทย์ เพราะจะมียาช่วยลดอาการไอได้ แต่หากต้องซื้อยาทานเอง ควรหลีกเลี่ยงยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
ท้องเสีย
ท้องเสียแบบไหนอาการท้องเสีย แบ่งได้ 2 กลุ่ม ได้แก่
ท้องเสียแบบติดเชื้อ ลักษณะอุจจาระจะมีมูก เลือด หรือฟองปน ร่วมกับมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว พะอืดพะอม คลื่นไส้ ต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้นและรักษาได้ด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อ
ท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อจะมีอาการแค่ถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย 3-4 ครั้งขึ้นไป อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย แต่จะไม่มีไข้ ซึ่งท้องเสียแบบนี้จะหายไปได้เองโดยคุณแม่สามารถดูแลตัวเองได้วิธีการรักษา คือ เราเสียน้ำเสียเกลือแร่ไปเท่าไร ก็ให้ทดแทนให้ได้มากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำเปล่า ก็สามารถชดเชยการเสียน้ำและเกลือแร่ได้ทั้งสิ้น
หลังท้องเสีย ดูแลตัวเองอย่างไร
หลังท้องเสีย ลำไส้จะบวม ทำให้ไม่สามารถรับอาหารที่ย่อยยากๆ ได้ เช่น ข้าวเป็นเม็ด ผักใบเขียวต่างๆ เนื้อสัตว์ นม เป็นต้น หากยิ่งรับประทานจะยิ่งไม่ย่อย และท้องเสียมากขึ้น ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารที่ดูดซึมง่าย เช่น โจ๊กบดละเอียด เพื่อให้ร่างกายดูดซึมและมีแรงฟื้นตัว สรุปคือ ควรงดอาหารที่ย่อยยากนาน 24-48 ชั่วโมง หากท้องเสีย 1-2 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์สำหรับยารักษาอาการท้องเสีย ควรหลีกเลี่ยงยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ส่วนยาคาร์บอนคุณแม่ท้องสามารถรับประทานได้ค่ะ
ท้องผูกและริดสีดวง
เมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวช้าลง ส่งผลให้คุณแม่ท้องอืดและผูกได้ง่าย นอกจากนี้เมื่อขนาดท้องโตขึ้นก็จะยิ่งไปกดบริเวณลำไส้ ทำให้การผ่านของอุจจาระยากขึ้นไปอีก จึงมีโอกาสเป็นริดสีดวงมากขึ้นเช่นกัน
วิธีป้องกันและรักษาง่ายๆ คือ หนึ่งต้องรับประทานผักผลไม้มากๆ เคี้ยวอาการให้ละเอียดสอง ดื่มน้ำเยอะๆ แต่หากท้องผูกรุนแรง ควรมาพบแพทย์เพื่อใช้ยาช่วย
Q&A
Q ซื้อยาถ่ายมารับประทานเองได้หรือไม่
A ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ต้องดูอายุครรภ์ก่อนจึงจะกำหนดปริมาณยาที่ถูกต้องได้ เพราะยาถ่ายมีผลต่อลูกน้อย ดังนั้นหากมีอาการท้องผูกมากควรมาปรึกษาแพทย์ แต่หากมีอาการไม่รุนแรง อาจดื่มน้ำลูกพรุนหรือมะขามช่วยระบายได้ ส่วนยารักษาริดสีดวง สามารถใช้ยาแบบเหน็บได้ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
ฮีทสโตรค
คุณแม่ท้องสามารถเป็นฮีทสโตรคได้ เพราะเมื่อตั้งครรภ์ เลือดจะถูกดึงไปเลี้ยงมดลูกหมด อวัยวะอื่นๆ จึงได้เลือดน้อยกว่าปกติ จึงมีแนวโน้มเป็นลมได้ง่าย หากยิ่งวันไหนนอนน้อย กินน้อย ออกแดดช่วงเวลาร้อนจัดนาน ยิ่งทำให้เกิดภาวะนี้ได้มากขึ้น
ฮีทสโตรคแตกต่างจากการเป็นลมธรรมดา โดยสังเกตอาการง่ายๆ ได้ 3 ข้อ ดังนี้
- อุณหภูมิร่างกายสูง 40.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป และมีไข้
- ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้
- ระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ เช่น เป็นลม
หากคุณแม่ท้องมีอาการดังกล่าวข้างต้น ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นฮีทสโตรค
ปฐมพยาบาลเมื่อเป็นฮีทสโตรค
- เคลื่อนย้ายไปที่ที่อากาศถ่ายเท
- ปลดหรือคลายเสื้อผ้าให้หลวมสบายที่สุด
- เช็ดตัว วิธีการเช็ดเช่นเดียวกับเช็ดตัวตอนเป็นไข้
- ดื่มน้ำให้มากเพื่อระบายความร้อนออกทางปัสสาวะ
- หากไม่ดีขึ้นให้รีบส่งโรงพยาบาล โดยแพทย์จะช่วยให้น้ำเกลือ เพราะน้ำเกลือคือสารน้ำที่ช่วยระบายความร้อนได้ดีและรวดเร็ว
ตะคริว
ตะคริวคืออาการยอดฮิตของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ เพราะต้องใช้กล้ามเนื้อในการแบกน้ำหนักอย่างมากนานถึง 9 เดือน ทำให้เกิดการหดรัดเกร็งของกล้ามเนื้อกว่าปกติ นอกจากนี้ กล้ามเนื้อของคนเราต้องใช้แคลเซียมในการหดเกร็ง คลายตัว แต่เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่ต้องแบ่งแคลเซียมไปให้ลูกน้อยใช้ค่อนข้างมาก เมื่อแคลเซียมน้อยก็ทำให้เกิดตะคริวได้
ตะคริวป้องกันได้ บริเวณที่แม่ท้องเป็นตะคริวได้บ่อยคือ น่อง วิธีป้องกันก็คือ หนึ่ง แช่ขาส่วนน่องในน้ำอุ่นและบีบนวดให้กล้ามเนื้อคลายตัวสอง รับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ ซึ่งคุณแม่ท้องต้องการแคลเซียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน
เป็นตะคริวแล้ว ทำอย่างไรดี
ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้ช่วยยืดขาให้ จากนั้นให้เขาจับฝ่าเท้าข้างที่เป็นตะคริวขึ้นมา มือข้างหนึ่งดันฝ่าเท้าเข้าหาตัวคุณแม่ มืออีกข้างให้รูดขึ้นลงตรงบริเวณเอ็นร้อยหวาย ไม่นานก็หายเป็นปกติ
คุณแม่ท้องควรดูแลตัวเองให้มาก หากมีอาการที่ไม่ฉุกเฉินเร่งด่วน และสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น ก็ควรดูแลตัวเองก่อนไปพบแพทย์ เพื่อช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา เหนืออื่นใด วิธีทีป้องกันได้ดีที่สุดคือการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์และออกกำลังกาย ก็จะช่วยลดอาการเจ็บป่วยลงได้มากค่ะ