1. ตัวใหญ่เป็นยักษ์เลย!
ว่าที่คุณแม่บางคนเศร้ากับรอบเอวที่ค่อยๆ หายไปทีละนิด บางคนกลัวว่ารูปร่างจะไม่กลับเป็นเหมือนเดิม ส่วนอีกหลายคนกลัวว่า หุ่นที่เปลี่ยนไปจะส่งผลต่อสัมพันธ์รักกับคุณสามี
วิธีเอาตัวรอดจากความกังวลนี้ : ตอนนี้สายตาของคนรอบข้างที่มองมา มีแต่ชื่นชมกับพุงกลมๆ ของคุณทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครสนใจต้นแขนอวบๆ หรือเท้าที่เริ่มบวมนักหรอกน่า ว่าที่คุณแม่ไตรมาสสองส่วนใหญ่จะมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ผมดกเงางามขึ้น แถมหน้าอกหน้าใจก็อวบอิ่มขึ้นด้วย แต่ก็ต้องระวัง ไม่หม่ำเพลินจนน้ำหนักขึ้นเร็วเกินไปนะ
2. ตรวจดี – ไม่ตรวจดี?
ถึงเวลาต้องอัลตราซาวด์และตรวจภาวะผิดปกติทางพันธุกรรมดาวน์ซินโดรมแล้ว ว่าที่คุณแม่หลายคนกังวลตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มตรวจ เพราะการตรวจบางอย่าง เช่น การเจาะน้ำคร่ำ ก็มีความเสี่ยงต่อการแท้งได้ พอตัดสินใจตรวจไปแล้ว ระหว่างรอผลก็เครียดอีกว่า ลูกจะผิดปกติอะไรหรือเปล่า
วิธีเอาตัวรอดจากความกังวลนี้ : การตรวจที่ไม่มีความเสี่ยง เช่น การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นเรื่องที่ควรทำ โดยไม่ต้องลังเล ส่วนการตรวจเจาะน้ำคร่ำ หากคุณมีความเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติทางพันธุกรรมดาวน์ซินโดรม เช่น มีอายุมากกว่า 35 ปี, หรือตรวจเลือดแล้วพบว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะนี้สูง ก็ควรตรวจอยู่ดี ยกเว้นหากคุณพ่อคุณแม่คู่ไหนตั้งใจว่า ต่อให้ลูกมีภาวะอย่างไรก็จะตั้งครรภ์และเลี้ยงดูเขาต่อไป ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจ ลองตกลงปรึกษากับคุณสามีดูก่อนนะ
3. เอ๊ะ นี่ลูกดิ้นหรือยังนะ?
แรกๆ เจ้าเบบี๋ยังตัวนิดเดียว พอขยับตัว คุณแม่ก็เลยยังไม่รู้สึกอะไร ถ้าคุณแม่คนไหนมีผนังหน้าท้องหนาหน่อย (เรียกง่ายๆ ว่า มีพุง) อยู่ก่อนแล้ว ก็อาจจะรู้สึกช้ากว่าคุณแม่ตัวเล็ก
วิธีเอาตัวรอดจากความกังวลนี้ : ความรู้สึกตอนที่ลูกดิ้นแรกๆ จะไม่เหมือนกับลูกเตะหรือชนท้องอย่างที่คุณแม่ท้องแก่รู้สึกกันหรอก คุณอาจรู้สึกแค่เหมือนมีปลาตัวเล็กๆ ตอดในท้องเท่านั้นเอง ลองถามเพื่อนๆ หรือคนรอบข้างที่เคยท้องดูสิ ถ้าคราวหน้าไปพบสูติแพทย์จะลองปรึกษาคุณหมอดูก็ได้
อ่านเพิ่มเติม พายุอารมณ์แม่ท้อง (ไตรมาส 1) | พายุอารมณ์แม่ท้อง (ไตรมาส 3)
บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ที่มาภาพ : Shutterstock