8 พัฒนาการลูกในครรภ์ ช่วยให้แม่รู้จักลูกมากขึ้น! - Amarin Baby & Kids
พัฒนาการลูกในครรภ์

8 พัฒนาการลูกในครรภ์ ช่วยให้แม่รู้จักลูกมากขึ้น!

event
พัฒนาการลูกในครรภ์
พัฒนาการลูกในครรภ์

นี่คือ พัฒนาการลูกในครรภ์ ที่ลูกน้อยสามารถทำได้ การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ลูกในท้องทําอะไร ได้บ้าง แต่ละไตรมาส พัฒนาการทารกในครรภ์ เป็นอย่างไร ตามมาดูกันเลย

8 พัฒนาการลูกในครรภ์ ช่วยให้แม่รู้จักลูกมากขึ้น

แม่จ๋ารู้หรือไม่? เจ้าตัวน้อยในท้อง สามารถทำอย่างนี้…ได้ด้วยนะ!

ถึงแม้อาการแพ้จะแตกต่างกันไปในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้ว่าที่คุณแม่แต่ละคนสุขมากสุขน้อยแบบเทียบกันไม่ได้ แต่สิ่งที่ดูจะต่างกันน้อยมาก คือ ความรู้สึกตื่นเต้น ใจจดใจจ่อ หรือว่าที่คุณแม่บางคนก็ “ลุ้น” กับการเปลี่ยนแปลงของเจ้าตัวน้อย ๆ ในท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ท้องแรก ดังนั้น ทีมแม่ ABK จึงมี 8 พัฒนาการลูกในครรภ์ ตลอด 9 เดือน ที่จะช่วยให้คุณแม่รู้จักลูกน้อยมากขึ้นและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตัวเองได้ดีขึ้นในแต่ละไตรมาส

พัฒนาการลูกในครรภ์ {0 – 13 weeks}

1. หนูเคลื่อนไหว + ฝึกหายใจ

ประมาณสัปดาห์ที่ 9 เจ้าตัวน้อยในท้องจะสามารถขยับได้แล้ว พร้อมกับเริ่มฝึกหายใจ ซึ่งเป็นทักษะจำเป็น เพื่อการมีชีวิตรอดทันทีที่คลอดออกมา เพราะทุกอย่างต่างจากในท้องแม่อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิ

2. หนูชิ้งฉ่องได้…

เจ้าตัวน้อยในท้องคุณแม่เริ่มผลิตปัสสาวะได้เมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ด้วยการกลืนน้ำคร่ำ ระบบการย่อยทำงาน ไตทำหน้าที่ขับของเสีย และเจ้าตัวน้อยก็ฉี่ออกมาในมดลูก ผสมกับน้ำคร่ำที่จะกลืนกลับเข้าไปอีก วนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

หากคุณแม่ตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ คุณหมอจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนหรือไม่ เพื่อให้ คำปรึกษาได้ทันท่วงที

พัฒนาการลูกในครรภ์

พัฒนาการลูกในครรภ์ {14 – 27 weeks}

3. หนูมองเห็นแล้วนะ!

นักวิจัยพบว่า ทารกในครรภ์มีปฏิกิริยาเคลื่อนไหวเพื่อหลบแสงที่ส่องเข้าไปเมื่อตอนอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ แม้ว่าในท้องของแม่จะไม่มีอะไรให้ดูมากมาย แต่เมื่ออายุครรภ์ย่างเข้าสัปดาห์ที่ 28 (เดือนที่ 7) ลูกก็รู้จักลืมตาแล้ว

ทั้งนี้ว่าที่คุณแม่ท้องก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะนักวิจัยยืนยันว่า แสงที่ส่องจ้าผ่านผิวหนังหน้าท้องคุณแม่นั้น ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อลูกน้อยเลย

4. หนูรับรสได้หลากหลายเลย

แม่กินอะไร ลูกน้อยในท้องก็จะได้แบบนั้นเหมือนกัน แต่วิธีที่ลูกจะได้รับรสชาติอาหารเหล่านั้น ต่างจากคุณแม่ตรงที่ส่วนผสมต่าง ๆ ในอาหารจะถูกดูดซึมผ่านไปทางน้ำคร่ำ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่านี่คือวิธีสอนลูกให้รู้จักรสชาติอาหารที่หลากหลายตามธรรมชาติ

แต่เมื่ออายุครรภ์สัปดาห์ที่ 15 เป็นต้นไป ลูกในท้องจะแสดงให้เห็นว่าปลื้มรสหวาน โดยลูกจะกลืนน้ำคร่ำมากขึ้นเมื่อแม่กินอาหารรสหวาน และจะกลืนน้ำคร่ำน้อยลงเมื่อได้รับรสขม

ดังนั้นหากคุณแม่อยากให้ลูกน้อยเติบโตเป็นเด็กที่ลองลิ้มอาหารได้หลากหลาย การกินอาหารที่รสชาติแตกต่างกันตั้งแต่ช่วงท้อง ก็เป็นวิธีที่ดีไม่น้อย แม้รสหวานจะทำให้ลูกน้อยในท้องคุณตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า แต่เมื่อคลอดออกมาคุณแม่ก็คงอยากให้ลูกน้อยกินอาหารได้หลาย ๆ อย่างและมีประโยชน์นอกเหนือจากรสหวานอยู่แล้วใช่ไหมล่ะคะ

5. หนูยิ้มมม…พิมพ์ใจ ได้ด้วยยย…

แม้ความรู้ทางพัฒนาการเด็กจะบอกว่า ยิ้มของทารกในช่วงสัปดาห์แรก ๆ จะยังไม่ใช่ยิ้มที่มีความหมาย แต่หลักฐานจากอัลตราซาวนด์ 4 มิติ ก็ยืนยันว่า สัปดาห์ที่ 26 เจ้าตัวน้อยก็สามรถเริ่มยิ้มได้ตั้งแต่ยังนอนสบายอยู่ในท้องแล้ว

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

พัฒนาการลูกในครรภ์ {28 – 41 weeks}

6. หนูร้องไห้ได้ด้วยนะ

อย่าเพิ่งตกอกตกใจหากรู้ว่าลูกในท้องร้องไห้ได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะเป็นเรื่องปกติ ด้วยเทคโนโลยีการใช้อัลตราซาวนด์ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าการร้องไห้ คือพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างหนึ่ง และยังสังเกตเห็นถึงขนาดว่าริมฝีปากล่างของทารกมีอาการสั่นเล็กน้อยเวลาร้องไห้ เมื่อคลอดออกมาแล้ว การร้องไห้นี่เองยังคงเป็นวิธีเดียวที่ลูกน้อยจะสื่อสารกับคุณแม่ เพื่อบอกให้รู้ว่าต้องการความช่วยเหลือ เพราะลูกยังพูดไม่ได้นั่นเอง

พัฒนาการลูกในครรภ์

7. หนูสะอึกได้ด้วย

ทารกในครรภ์จะสะอึกได้ในช่วง 3 เดือนแรก แต่คุณแม่อาจจะรู้สึกได้มากในช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยคุณแม่จะรู้สึกเหมือนท้องกระตุกเป็นจังหวะหรือเกร็งเล็กน้อยคล้ายกับที่ผู้ใหญ่สะอึก ซึ่งคำถามแรกที่ตามมาในใจคงเป็นว่า อันตรายหรือเปล่า?

ซึ่งการสะอึกของทารกในครรภ์ แสดงว่าลูกสามารถหายใจในน้ำคร่ำได้แล้ว แต่ที่เกิดสะอึกก็เพราะขณะที่น้ำคร่ำไหลเข้าและออกจากปอดนั้นไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อกะบังลมหดตัวอย่างเร็ว

การสะอึกจึงเป็นเรื่องปกติของทารก ไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อลูกน้อยในครรภ์ ทั้งนี้แม่ท้องบางคนก็ไม่เคยรู้สึกเลยว่าลูกน้อยในท้องสะอึก ขณะที่อีกหลายคนก็รับรู้อาการอิ๊บอั๊บของลูกทุกวันจนชิน

แต่ในบางครั้งอาการสะอึกของทารกในครรภ์อาจเกิดจากได้รับอากาศไม่เพียงพอ คำแนะนำของแพทย์ คือ ถ้าคุณแม่สังเกตว่าอาการสะอึกของลูกเปลี่ยนไป เร็วขึ้น รุนแรง หรือนานเกินไป ควรไปพบแพทย์หรือตรวจอัลตราซาวนด์

8. หนูจำเสียงแม่ได้…อื้อฮือ!!

ถึงจะไม่เห็นกัน แต่โลกของแม่และลูกน้อยในท้องไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตหรือ WiFi เพื่อเชื่อมต่อ เพราะว่าที่คุณแม่กับลูกน้อยมีสิ่งที่เหนือกว่า นั่นคือความผูกพันตลอด 24 ชั่วโมง ของว่าที่คุณแม่มีลูกอยู่ด้วยตลอด

ยิ่งเป็นปลื้มกว่านั้นงานวิจัยยังพบว่า จนกระทั่ง 10 สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงกำหนดคลอดลูกทารกจะได้ยินเสียงของแม่ แม้จะไม่รู้ว่าแม่พูดอะไร พูดกับใครก็ตาม แต่เขาจะได้ยินน้ำเสียง โทนเสียง วิธีการพูดของคุณแม่จนจำเสียงแม่ได้ในทันทีที่คลอดออกมา ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้หลังจากที่ลูกน้อยได้ยินเสียงของคุณแม่ปลอบลูกก็จะหยุดร้องไห้ได้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นหน้าเห็นตากันมาก่อน

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพได้เลย ⇓

พัฒนาการของทารกในครรภ์ ตั้งแต่ปฏิสนธิ จนกระทั่งเกิด (มีคลิป)

พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือนมหัศจรรย์ เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตน้อยๆ ของแม่บ้าง

ลูบท้องให้ลูกฉลาด กระตุ้นพัฒนาการสมองทารกในครรภ์ด้วย 5 วิธี

นี่คือพัฒนาการ ความจำ ของลูกทารกตั้งแต่แรกเกิด – 1 ขวบ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up