สิทธิประโยชน์หญิงตั้งครรภ์ ที่คุณแม่ทุกคนควรรู้ เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านสุขภาพ ด้านการเงินและสวัสดิการสังคม รู้ให้ครบรอบด้านไม่พลาดสิทธิชีวิตมีสุขลูกแข็งแรง
สิทธิประโยชน์หญิงตั้งครรภ์ สปสช.ชวนแม่ท้องตรวจฟรี!
สปสช. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชวนคนไทยสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ด้วยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ฟรี อีกทั้งยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับจัดหาบริการ สร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคของคนไทย ทุกกลุ่มวัย ทุกคนทุกสิทธิอีกด้วย
สร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค คือ???
บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เป็นสิทธิประโยชน์เดียวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จัดให้กับประชาชนไทยทุกสิทธิ เป็นบริการสาธารณสุขที่ให้โดยตรงแก่บุคคลครอบครัวหรือกลุ่มบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ อัตราป่วย/อัตราตายที่เป็นภาระโรคของประเทศและส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก บรรลุเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน
การสร้างเสริมสุขภาพ หมายความว่า บริการหรือกิจกรรมที่ให้โดยตรงแก่บุคคลครอบครัวหรือกลุ่มบุคคล เพื่อสร้างเสริมความตระหนักและขีดความสามารถของบุคคลในการดูแลสุขภาพของตนเอง
การป้องกันโรค หมายความว่า บริการหรือกิจกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ให้โดยตรงแก่บุคคล ครอบครัวหรือกลุ่มบุคคล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค
จากแนวคิดดังกล่าว จึงได้เกิดการจัดบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป ทุกคน แล้วสำหรับแม่ ๆ อย่างเราควรต้องรู้ สิทธิประโยชน์อะไรบ้างนั้น ตาม ทีมแม่ ABK มารับรองไม่พลาดสิทธิ์ให้เสียดายอย่างแน่นอน
สิทธิประโยชน์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ และหลังคลอด
ก่อนตั้งครรภ์
เมื่อเราเริ่มวางแผนที่จะมีเจ้าตัวน้อย ทราบหรือไม่ว่า เราก็สามารถใช้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพได้ตั้งแต่แรกเลย ได้แก่
- การทดสอบการตั้งครรภ์ ฟรี!!
โดยจะได้รับการตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์
ยังไม่หมดเท่านั้น…ปัจจุบันยังมีการเพิ่มสิทธิในการป้องกันโรคอีกด้วย
ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 4 รายการ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับสิทธิประโยชน์ใหม่ต่อไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.bangkokbiznews.com
สิทธิประโยชน์สำหรับหญิงที่วางแผนตั้งครรภ์…ฟรี!!
- บริการตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียของหญิงตั้งครรภ์ และสามี โดยสามีจะได้รับการตรวจคัดกรองอย่างน้อย 5 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 ช่วงเวลาที่คุณแม่อายุครรภ์ ก่อน 12 สัปดาห์
- ครั้งที่ 2 ช่วงเวลาที่คุณแม่อายุครรภ์ 13- ไม่เกิน 20 สัปดาห์
- ครั้งที่ 3 ช่วงเวลาที่คุณแม่อายุครรภ์ 20 – ไม่เกิน 26 สัปดาห์
- ครั้งที่ 4 ช่วงเวลาที่คุณแม่อายุครรภ์ 26 – ไม่เกิน 32 สัปดาห์
- ครั้งที่ 5 ช่วงเวลาที่คุณแม่อายุครรภ์ 32 – 40 สัปดาห์
เกร็ดความรู้..ทราบหรือไม่?? พบว่าต้นทุนการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียเท่ากับ 794 บาทต่อคู่ ขณะที่การดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมียอาการรุนแรง จะมีต้นทุนการรักษาคนละ 30,000 บาทต่อปี แม้จะยังไม่พบการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในไทย แต่จากการศึกษาของฮ่องกงพบว่าค่าตรวจคัดกรอง และติดตามจะอยู่ที่ 10 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (HKD) เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยตลอดอายุขัยจะอยู่ที่ 40 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
- การคัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์
เกร็ดความรู้…ทราบหรือไม่?? การคัดกรองซิฟิลิสในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ พบว่าการตรวจคัดกรองและรับการรักษาก่อนมีบุตร มีต้นทุนต่ำกว่าการตรวจและรักษาเมื่อตั้งครรภ์แล้ว โดยค่าใช้จ่ายในการคัดกรองอยู่ที่ 130-400 บาทต่อครัวเรือน และค่ารักษา 1,500 บาท ในขณะที่การรักษาซิฟิลิสแต่กำเนิด 1 คน จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอก และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเท่ากับ 70,667 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้นจึงควรขยายสิทธิเพื่อควบคุมป้องกันโรค ลดค่าใช้จ่ายการติดตามรักษา และลดผลกระทบในอนาคต
ระหว่างตั้งครรภ์
สิทธิประโยชน์สำหรับหญิงตั้งครรภ์…ฟรี!!
- ด้านสุขภาพ กับโครงการ “ฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ”
เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าเริ่มตั้งครรภ์ ทราบหรือไม่ว่า เราสามารถใช้สิทธิการฝากครรภ์ได้ฟรี โดยหากเราเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือกล่าวคือเป็นคนไทยนั่นเอง สามารถเข้ารับการฝากครรภ์ฟรี ณ สถานบริการสาธารสุข สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และขอแนะนำให้คุณแม่ไปฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อจะได้รับการคัดกรอง และจัดการความเสี่ยงตั้งแต่เริ่มแรก โดยการตรวจร่างกายของคุณแม่ท้อง ครอบคลุมไปยังเรื่องดังต่อไปนี้
- ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจร่างกายทั่วไป
- ตรวจทางห้องปฎิบัติการที่จำเป็น เช่น-ตรวจหากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในทางเดินปัสสาวะ ด้วยการตรวจปัสสาวะด้วยแถบตรวจ (multiple urine dipstick)-ตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส (VDRL) ช่วงฝากครรภ์ครั้งที่ 1 และ 4 (อายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์)- ตรวจการติดเชื้อเอชไอวี (Anti – HIV) ช่วงฝากครรภ์ครั้งที่ 1 และ 4- ตรวจคัดกรองพาหะไวรัสตับอักเสบบี ช่วงฝากครรภ์ครั้งที่ 1
– ตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (CBC) หรือวัดระดับความเข้มข้นของเม็ดเลือด (HB) หรือปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (HCT) ช่วงฝากครรภ์ครั้งที่ 1 และ 4
– ตรวจคัดกรองโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (MCV/OF+DCIP) ถ้าผลคัดกรองเป็นบวก ให้ตรวจคัดกรองสามีต่อ ถ้าผลเป็นบวกทั้งคู่ให้ส่งเลือดตรวจยืนยัน Hb typing/PCR เพื่อกำหนดคู่เสี่ยง การตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ และยุติการตั้งครรภ์ ช่วงฝากครรภ์ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อย่างช้าอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ ทั้งนี้ตามแนวทางหรือเวชปฏิบัติที่กำหนด
– ตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ รายที่ผลเป็นบวกให้ตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ และยุติการตั้งครรภ์ตามแนวทาง เวชปฏิบัติ ช่วงฝากครรภ์ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อย่างช้าอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ ทั้งนี้ตามแนวทางหรือแนวทางเวชปฏิบัติที่กำหนด(หญิงตั้งครรภ์ อายุ 35 ปีขึ้นไป)
– ตรวจหมู่เลือด (ABO และ Rh)
- ตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวน์
- ตรวจเต้านม
- ตรวจฟังเสียงปอด และหัวใจของทารกในครรภ์
- ตรวจสุขภาพช่องปาก ขัดและทำความสะอาดฟัน รวมถึงการขูดหินน้ำลาย ช่วงฝากครรภ์ครั้งที่ 1 หรือ 2 โดยทำในช่วงอายุครรภ์ไม่เกิน 6 เดือน
- ให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก (กรณีที่พบเชื้อ)
- การดูแลรักษาหากตรวจพบความผิดปกติ รวมถึงการแก้ไขภาวะทุพโภชนาการ
- ให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก โฟลิก และไอโอดีน กินทุกวันตลอดอายุของการตั้งครรภ์
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก (dT) ในรายที่ไม่เคยได้รับมาก่อน โดยฉีดที่ 0 1 และ 6 เดือนตามลำดับ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ช่วงอายุครรภ์มากกว่า 4 เดือนขึ้นไป
- การเข้าร่วมอบรมการดูแลครรภ์ และการมีส่วนร่วมในการดูแลครรภ์ของสามี
ซึ่งคุณแม่สามารถติดตามรายละเอียด และข้อมูลในกิจกรรมต่าง ๆ ได้จากช่องทางต่าง ๆ ของสาธารณสุขจังหวัดที่คุณแม่อาศัยอยู่ และสามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ฟรีที่ คู่มือการมีส่วนร่วมของสามีหรือญาติในการเฝ้าคลอด
หลังคลอด
สิทธิประโยชน์สำหรับหญิงหลังคลอด …ฟรี!!
- บริการตรวจหลังคลอด คุณแม่ต้องทำการตรวจหลังคลอดตามแนวทางของกรมอนามัย อย่างน้อย 3 ครั้ง
- ภายหลังคลอดไม่เกิน 7 วัน
- หลังคลอด 8-15 วัน
- หลังคลอด 16-42 วัน
- โดยคุณแม่หลังคลอดจะได้รับการบริการตรวจหลังคลอด ดังต่อไปนี้
- สอบถาม ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจภายในเฉพาะที่มีข้อบ่งชี้ทางคลินิก
- ตรวจคัดกรองประเมินสุขภาพจิต ตรวจโรคซึมเศร้าหลังคลอด
- ส่งเสริม และให้คำแนะนำในการเลี้ยงลูก และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- บริการวางแผนครอบครัวตามความสมัครใจ แนะนำการคุมกำเนิดทั้งยากิน ยาฉีดคุมกำเนิด ห่วงอนามัย ยาฝังคุมกำเนิด ตลอดจนการทำหมัน
- ให้ยาเสริมธาตุเหล็ก กรดโฟลิก ไอโอดีน กินทุกวันหลังคลอดเป็นเวลา 6 เดือน
ตรวจสอบสิทธิง่าย ๆ ด้วยตนเอง
คุณแม่ และทุกคนทุกกลุ่มวัยสามารถเช็กการบริการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ง่าย ๆ เพียงแค่เข้าเช็กสิทธิของตนเองได้ที่
- เว็บไซต์ สปสช. เข้าไปดูรายละเอียดสิทธิขั้นพื้นฐานของแต่ละช่วงวัยของเรา รวมถึงคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ด้วย และยังมีการอัปเดตสิทธิใหม่ ๆ อยู่เสมออีกด้วย
- แอปพลิเคชัน สปสช. ในแอปเป๋าตัง ปัจจุบันเราจะมีแอปเป๋าตังติดไว้เพื่อใช้ในการใช้สิทธิของทางภาครัฐต่าง ๆ ได้ง่ายสะดวก แต่รู้หรือไม่ว่า ภายในแอปเป๋าตังนั้น มีแอปพลิเคชั่นของ สปสช. โดยคุณแม่สามารถเข้าไปที่กระเป๋าสุขภาพ (Health Wallet) เพื่อตรวจสอบสิทธิประโยชน์หญิงตั้งครรภ์ และยังมีบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่แต่ละคนมีสิทธิที่จะได้รับตามแต่ช่วงอายุของแต่ละคนอีกด้วย
วิธีการเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพ
- ติดต่อโดยตรงที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลประจำสิทธิบัตรทอง ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง หรือ สถานพยาบาบประจำตามสิทธิ หรือสถานพยาบาลที่คุณแม่ไปใช้สิทธิเป็นประจำ
- แอปพลิเคชัน สปสช. ในกระเป๋าสุขภาพ ของแอปเป๋าตัง จะมีสิทธิประโยชน์ตามช่วงอายุวัยของแต่ละคน และท่านสามารถเลือกสถานที่ที่จะเข้ารับบริการ โดยทางแอปจะทำการคัดเลือกสถานบริการที่ใกล้เคียงกับถิ่นที่อยู่อาศัยของเราอีกด้วย เฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ท่านสามารถทำการนัดหมายล่วงหน้าก่อนการไปเข้ารับบริการ ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง และจะขยายพื้นที่การให้จองคิวก่อนเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศต่อไปในอนาคต
หากมีข้อมูลสงสัยในเรื่องการใช้สิทธิบัตรทอง สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากสิทธิประโยชน์ของคนท้องแล้ว ทางสปสช. ยังมีสิทธิประโยชน์ให้แก่ทุกคนทุกช่วงวัย ได้แก่ สิทธิประโยชน์สำหรับเด็ก สำหรับคนชรา เป็นต้น ดังนั้นคุณแม่นอกจากเช็กสิทธิประโยชน์เพื่อตนเองจนกระทั่งคลอดแล้ว ยังใช้สิทธิประโยชน์แก่คนในครอบครัวอื่นได้อีกด้วย อย่าลืมเช็คสิทธิกันด่วน เพื่อไม่ให้เสียสิทธิดี ๆ ที่เราควรได้กัน
ข้อมูลอ้างอิงจาก hp.anamai.moph.go.th/www.nhso.go.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่