Q: ตอนนี้คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง จึงเตรียมจะให้ลูกคนโตหย่านม ควรเตรียมตัวอย่างไรและมีวิธีบรรเทาอาการเต้านมคัดอย่างไรบ้างคะ
ไม่มีคำตอบแน่นอนสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละกรณีว่าควรหยุดหรือไม่ควรหยุดให้นมแม่ ควรเป็นการตัดสินใจของแต่ละครอบครัว เนื่องจากไม่เพียงแต่เหตุผลเรื่องกลัวแท้งลูก แต่อาจมีเหตุผลอื่น เช่น แม่มีอาการแพ้ท้องอย่างมากเหนื่อยมาก พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะไหนจะต้องดูแลลูกคนโต ดูแลสามี ทำงานนอกบ้าน แม่มีอาการไวที่หัวนมมากขึ้นจากฮอร์โมน ทำให้รู้สึกเจ็บเวลาลูกดูด
ขณะที่แม่บางคนอาจรู้สึกว่าการตั้งครรภ์พร้อมกับการให้ลูกดูดนมเป็นเรื่องธรรมดา รับมือได้สบายๆ เพราะอาจเคยพยายามลองให้ลูกหยุดดูดแล้วแต่ไม่สำเร็จ จึงเลยตามเลยจนคลอดลูกคนเล็ก คนโตก็ยังตามมาดูดในโรงพยาบาลที่ข้างเตียงคนไข้ ลูกคนเล็กสบายไปเลยเพราะมีน้ำนมตั้งแต่มาดูดครั้งแรก
การที่ลูกคนโตดูดนมแม่ ไม่ได้แย่งสารอาหารจากลูกที่อยู่ในท้อง และไม่ได้แย่งสารอาหารจากแม่จนส่งผลต่อสุขภาพของแม่ในระยะยาวอย่างที่หลายคนกังวล ถ้าหากคุณแม่กินอาหารครบ 5 หมู่รวมถึงแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ
หากคุณแม่ตัดสินใจที่จะหยุดให้นม วิธีการต่อไปนี้จะช่วยให้คุณแม่หย่านมได้โดยราบรื่นค่ะ
1. อย่าหยุดนมแบบทันทีทันใด
กรณีลูกยังดูดนมวันละหลายครั้ง เพราะจะทำให้เต้านมคัดจนอักเสบเป็นฝี ให้ค่อยๆ ลด 1 มื้อทุก 2 – 3 วัน จะทำให้เต้านมปรับตัวลดปริมาณการสร้างน้ำนม ประคบเย็นบ่อยๆ อาจกินยาพาราเซตามอลบรรเทาปวดได้ แต่ไม่แนะนำให้กินยาลดน้ำนม เพราะคุณตั้งครรภ์อยู่หากมีอาการปวดมากอาจบีบน้ำนมออกเล็กน้อยพอให้หายปวด หากบีบออกมากจะเป็นการกระตุ้นให้สร้างเพิ่มขึ้นได้
2. ให้ลูกกินนมจากขวด
จากถ้วย หรือหลอดดูด ขึ้นอยู่กับอายุของลูก โดยผู้อื่นเป็นคนให้ จะง่ายกว่าแม่เป็นคนให้ และควรให้ตอนลูกเคลิ้มๆ หรือหิว
3. ลูกร้องไห้มากขึ้นแน่
แต่หากอดทนได้นานถึง 1 – 2 สัปดาห์ เขาจะปรับตัวได้ และลืมไปด้วยซ้ำว่าการดูดนมแม่ทำอย่างไร (หลายคนกลัวว่าลูกอาจฝังใจ เป็นทุกข์จากการไม่ได้ดูดจนส่งผลต่อพัฒนาการตอนโต ซึ่งเป็นไปไม่ได้หรอกค่ะ แป๊บเดียวลูกก็ลืมแล้ว เพราะลูกต้องมีพัฒนาการเพื่อก้าวต่อไป)
4. เอาใจใส่ดูแลลูกมากขึ้นเป็นพิเศษ
เพื่อให้เขารู้สึกว่าคุณยังรักเขาอยู่เสมอ และหากิจกรรมให้ลูกทำเพลินๆ เพื่อช่วยให้ลืมนมแม่ได้ง่ายขึ้น
5. พอคุณคลอดลูกแล้ว อาจให้ลูกคนโตกลับมากินนมแม่อีกได้
จะด้วยการดูดหรือปั๊มให้กินก็ได้เพราะนมแม่มีประโยชน์สำหรับเด็กจนอายุ 7 ขวบ (ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะมีพัฒนาการถดถอยหรือเบี่ยงเบนเพราะปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการดูดนมแม่ แต่เป็นจากวิธีการเลี้ยงดูด้านอื่นๆ ไม่ถูกต้อง)
บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
ภาพ: Shutterstock