เมื่อการตั้งครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 2 การเริ่มต้นเป็นว่าที่คุณแม่ยังคงทำให้คุณแม่รู้สึกตื่นเต้น มีความสุข และวิตกกังวลกับสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ในท้องไม่น้อย ซึ่งตอนนี้ พัฒนาการทารกในครรภ์ 2 เดือน มีความอัศจรรย์เพิ่มขึ้นกว่าเดือนที่แล้วในหลาย ๆ ด้าน มาดูไปพร้อม ๆ กันค่ะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ 2 เดือน หัวใจลูกเริ่มเต้นแล้วนะ!
เจ้าตัวน้อยในท้องที่ขนาดเท่าเมล็ดงาในเดือนแรก ตอนนี้ลูกน้อยของคุณแม่ได้พัฒนามีขนาดตัวเท่าผลเชอร์รี่แล้วนะ มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ในเดือนนี้คุณแม่สามารถตรวจเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ได้อย่างแม่นยำ เรียกว่าเป็นว่าที่คุณแม่ได้แล้ว ตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์ในเดือนที่ 2 พัฒนาการของลูกน้อยจะเพิ่มมากขึ้น โครงสร้างใบหน้าของทารกมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หัวใจเริ่มเต้น อวัยวะต่างๆ เริ่มเจริญเติบโต หูแต่ละข้างจะเริ่มขึ้นเป็นรอยพับขนาดเล็กของผิวหนังที่ด้านข้างของศีรษะ มีการสร้างแขนและขาเกิดขึ้น รวมถึงนิ้วมือและนิ้วเท้า สมองซีกขวาและซ้ายของทารกจะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ และมวลเซลล์สมองเติบโตอย่างรวดเร็ว กระดูกอ่อนเริ่มพัฒนาและตับเริ่มผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง และในช่วงนี้หลอดประสาท สมอง ไขสันหลัง และเนื้อเยื่อประสาทอื่น ๆ มีการพัฒนาเป็นอย่างดี ทางเดินอาหารและอวัยวะรับสัมผัสเริ่มมีการพัฒนาในช่วงนี้ และอายุครรภ์ในแต่ละสัปดาห์ ทารกจะมีพัฒนาการอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง
แม่รู้มั้ย? พัฒนาการของทารกในครรภ์เดือนที่ 2 น่าอัศจรรย์เพิ่มขึ้นอย่างไร
พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 5
- อายุครรภ์ 5 สัปดาห์หลังจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ตัวอ่อนในครรภ์จะยังคงมีการแบ่งกลุ่มเซลล์ต่อไปเพื่อที่จะเจริญเติบโตกลายเป็นอวัยวะต่าง ๆ บางส่วนก็จะกลายเป็นสมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ หรือกระดูก สร้างหัวใจครบ 4 ห้อง
- ทารกน้อยในครรภ์ยังคงมีขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร
- ในช่วงต้นของสัปดาห์ที่ 5 อวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น หัวใจ ไต ตับ กระเพาะอาหารเริ่มทำงานได้แล้ว สมองและไขสันหลังของลูกน้อยเริ่มพัฒนาเช่นกัน แต่ยังเปิดอยู่และจะปิดสนิทในภายหลัง กล้ามเนื้อ และกระดูก ปอด ลำไส้ รวมถึงตา หู จมูก ปาก เกิดขึ้นแล้ว ส่วนแขนขานั้นก็เริ่มยื่นออกมาจากลำตัวเป็นเพียงแท่งสั้น ๆ โดยรกจะทำหน้าที่นำสารอาหารจากแม่สู่ทารก และถุงน้ำคร่ำจะให้สภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและปลอดภัยกับลูกน้อย ทำให้ทารกสามารถเคลื่อนที่ได้ง่าย และในช่วงนี้จะมีการสร้างสายสะดือขึ้นซึ่งเชื่อมต่อระหว่างทารกกับระบบหมุนเวียนเลือดของคุณแม่
- คุณพ่อคุณแม่อาจมองเห็นการเต้นของหัวใจลูกน้อยในครรภ์ผ่านการอัลตร้าซาวด์ครั้งแรก เห็นสัญญาณชีพจากการเต้นของหัวใจ หัวใจลูกเริ่มเต้นสูบฉีด สามารถเต้นได้ 100-160 ครั้งต่อนาที (เต้นมากกว่าหัวใจของคุณแม่ถึง 2 เท่า) ระบบไหลเวียนโลหิตก็เริ่มทำงานแล้วเช่นกัน มองเห็นการเต้นของของหัวใจทารกในครรภ์จากการตรวจอัลตร้าซาวด์
- หัวใจของทารกยังคงมีขนาดเล็กและยังไม่แบ่ง 4 ห้องชัดเจน แต่หลอดเลือดหัวใจทำงานสมบูรณ์ตามพัฒนาการและส่งผ่านเลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย
- ตอนนี้ลูกน้อยสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้ แต่ก็เบามากจนคุณแม่ไม่รู้สึก
Tips: สัปดาห์นี้คุณแม่ที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรได้ไปพบสูตินรีแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อฝากครรภ์ การเริ่มดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือเป็นสิ่งควรทำเพื่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์จะได้สมบูรณ์แข็งแรงตลอดการตั้งครรภ์
พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 6
- ช่วงนี้ทารกจะเข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 ของพัฒนาการแล้ว ตอนนี้ลูกมีความสูงประมาณ 8 มม.
- แม้หน้าตาของลูกยังเห็นไม่ชัด เพราะเป็นระยะเริ่มแรกของการพัฒนาตัวอ่อน แต่อวัยวะสำคัญหลายอย่างกำลังพัฒนา โดยเริ่มจากดวงตาและจมูกก่อน มีการสร้างเปลือกตาและหูขึ้น สมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนานิ้วมือและนิ้วเท้าในลักษณะที่ยังติดกันอยู่
- ทารกเริ่มมีกราม คาง และแก้มแล้ว แต่ก็มีขนาดเล็กจิ๋วตามสัดส่วนของร่างกาย และจะค่อย ๆ เห็นชัดเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น
- ในส่วนระบบประสาทส่วนกลางมีการพัฒนาหลอดประสาท ซึ่งประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง และเนื้อเยื่อเส้นใยประสาทมากมาย ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณกับเซลล์อื่น ๆ เพื่อพัฒนาการตอบสนองและพัฒนากล้ามเนื้อ ทำให้ลูกน้อยเริ่มขยับตัว
- เมื่อเติบโตจนถึงปลายสัปดาห์ที่ 6 ขนาดลำตัวของลูกน้อยจะมีขนาดลำตัวความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร หนักไม่ถึง 1 กรัม และอยู่ในท่าขดตัวและงอช่วงเข้ามากลางลำตัวมีลักษณะตัวงอคล้ายกุ้ง หากทำการอัลตร้าซาวน์ก็จะเห็นหัวและกระดูกสันหลังได้อย่างชัดเจน และสามารถเริ่มแยกได้แล้วว่าส่วนไหนเป็นศีรษะซึ่งมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว ขณะเดียวกันด้านข้างของร่างกายเริ่มเห็นปุ่มเล็ก ๆ ที่กำลังจะเริ่มพัฒนาต่อไปเป็นแขนและขาของทารกในครรภ์ และสองข้างของศีรษะมีรูเล็ก ๆ ที่จะกลายเป็นช่องหูต่อไป
- ระบบทางเดินอาหารและระบบหายใจของทารกในครรภ์เริ่มสร้าง หัวใจเริ่มเต้นประมาณ 100–130 ครั้งต่อนาที เลือดเริ่มไหลเวียน
Tips : ในช่วงอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ถือว่าเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว จนทำให้คุณแม่รู้สึกว่า ทำไมช่วงนี้ถึงรู้สึกเหนื่อยมากผิดปกติ นั่นก็เพราะว่าพลังงานของคุณแม่ถูกใช้ไปในการสร้างอวัยวะใหม่ของลูกน้อยตลอดเวลา แม้แต่เวลาคุณแม่หลับแล้วพัฒนาการของทารกในครรภ์ก็ยังดำเนินต่อไป ดังนั้นการพักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม และรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และรับประทานวิตามินบำรุงขณะตั้งครรภ์ตามคำแนะนำของคุณหมอก็จะช่วยให้คุณแม่มีพลังงานและสารอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกายตัวเองและลูกน้อยในครรภ์นะคะ
พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 7
- ในช่วงนี้ลูกมีส่วนสูงประมาณ 12 มม. จากตัวอ่อนเริ่มดูเป็นเด็กทารกขึ้นอีกเล็กน้อย หลายๆ ส่วนของร่างกายมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น คือ หัวใจ ปอด ลำไส้ไส้ติ่ง สมอง ไขสันหลัง และส่วนต่าง ๆ บนใบหน้าเริ่มปรากฏชัดขึ้น โดยจะสังเกตเห็นจุดสีดำบริเวณดวงตา สีของม่านตามองเห็นได้ชัดเจน ส่วนเลนส์ตาก็กำลังเป็นรูปเป็นร่าง เปลือกตา นิ้วเท้า และนิ้วมือก็เริ่มเป็นรูปร่างแม้จะมีพังผืดหนาๆ เชื่อมอยู่ จมูกเป็นรูปเป็นร่างเห็นรูจมูกชัดเจนขึ้นและเริ่มเห็นปลายจมูก ปากเป็นรอยเว้า เห็นร่องของหูอยู่ที่ด้านข้างของคอและส่วนกลางของหูเชื่อมต่อกับหูชั้นในแล้ว กะโหลกศีรษะด้านหลังของทารกโตเร็วกว่าด้านหน้า มีส่วนแขนและขาขึ้นมาดูคล้ายกับใบพัดหรือพายเล็ก ๆ ยื่นออกมาจากด้านข้างของหน้าอกจะพัฒนาชัดเจนขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์
- ในสมองของทารกพัฒนาไปเร็วมาก โดยสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนใหญ่ที่สุดและมีรอยหยักมากที่สุดกำลังเจริญเติบโตขึ้น เซลล์ประสาทกำลังเจริญเติบโต มีการแตกกิ่งก้านสาขาและเริ่มเชื่อมต่อกัน โดยเซลล์สมองแบ่งตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เซลล์ทุก ๆ นาที ส่วนกะโหลกนั้นยังคงโปร่งใสอยู่ โดยส่วนหัวของทารกจะมีการขยายออกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกับสมอง
- ระบบการย่อยอาหารพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลำไส้ส่วนหนึ่งยื่นเข้าไปในสายสะดือ ระบบหัวใจของลูกน้อยจะเต้นเร็วประมาณ 2 เท่าของคุณแม่ ตับของลูกเริ่มฟอกเม็ดเลือดแดงได้และทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดแดงไปก่อนจนกว่าไขกระดูกจะเจริญเติบโตพร้อมรับหน้าที่ต่อไป
- สายสะดือสำหรับการรับออกซิเจนสารอาหารจากแม่ และขับของเสียของทารกเริ่มก่อตัวขึ้น รวมถึงร่างกายเริ่มสร้างไตขึ้นมาแล้ว แม้จะยังทำหน้าที่กรองของเสียออกจากระบบเลือดไม่ได้ แต่เริ่มผลิตปัสสาวะที่มาจากการน้ำคร่ำที่ทารกกลืนเข้าไปทางปากในระหว่างลอยอยู่ในท้องแม่ไปตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งถือว่าลูกน้อยเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้นกับการอยู่ในมดลูกของคุณแม่
- ต่อมเพศของทารกในครรภ์เริ่มสร้างขึ้นในช่วงนี้ แต่การตรวจอัลตราซาวด์ในสัปดาห์นี้ก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าลูกเป็นเพศชายหรือหญิง
- เส้นใยกล้ามเนื้อก็เริ่มก่อตัวเพื่อให้ร่างกายทารกเริ่มเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย
Tips : ในช่วงนี้คุณแม่อาจจะรู้สึกหิวบ่อย เป็นเพราะว่าลูกน้อยในท้องนั้นต้องใช้พลังงานในการสร้างเซลล์สมองและพัฒนาการต่าง ๆ อย่างรวดเร็วนั่นเอง ดังนั้นในแต่ละวันคุณแม่สามารถแบ่งมื้ออาหารทานมื้อละน้อย ๆ ได้แทน 3 มื้อใหญ่ หรือมีมื้อว่างระหว่างวัน ไม่ควรปล่อยให้กระเพาะอาหารว่าง เพราะจะทำให้รู้สึกคลื่นไส้อาเจียนได้
พัฒนาการทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 8
- ตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์ขึ้นไป ลูกน้อยเติบโตจากตัวอ่อนกลายเป็นทารกตัวจิ๋วในครรภ์แม่แล้ว ตอนนี้ลูกมีความสูงประมาณ 6 เซนติเมตร ลักษณะหัวโตตัวเล็ก คล้ายกับลูกอ๊อดตัวกลมที่มีส่วนหหางสั้นลง นอนตัวงอเป็นกุ้งหรือคล้ายกับตัว C ลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำในมดลูกของคุณแม่
- ในช่วงสัปดาห์นี้ลูกน้อยจะเริ่มมีพัฒนาการบนใบหน้ามากขึ้น อวัยวะทุกส่วนจะเริ่มเข้าที่ ตา ปาก และจมูกจะเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น เห็นปลายจมูก ปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้า ริมฝีปาก เปลือกตา และเริ่มเห็นส่วนที่เป็นแขนขาจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้น ส่วนของมือและเท้าเป็นนิ้วชัดเจนขึ้นมีลักษณะคล้ายใบพายเล็ก ๆ จะมีนิ้วมือและนิ้วเท้าให้เห็นแล้วมือและเท้า มีเล็บงอกออกมา แต่ดวงตายังอยู่ห่างกันมากราวกับจะแยกกันอยู่ด้านข้างของใบหน้า หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ขยับมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
- กระดูกสันหลังของลูกจะตรงขึ้น ศีรษะจะมีลักษณะก้มไปข้างหน้าเข้าหาลำตัว และมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับส่วนล่างของลูก
- เซลล์ประสาทในสมองเริ่มพัฒนาและเติบโต เซลล์กระดูกเริ่มเป็นรูปร่างขึ้นมาแทนที่กระดูกอ่อน ข้อต่อเล็ก ๆ เริ่มเจริญเติบโตขึ้น ปุ่มฟันน้ำนมเริ่มเป็นรูปร่างและลูกจะเริ่มมีลายนิ้วมือในระยะนี้
- ทารกเริ่มมีลิ้นหัวใจแล้ว มีท่อทางเดินหายใจซึ่งจะช่วยให้อากาศไหลเวียนจากลำคอไหลเข้าสู่ปอด
- เริ่มเห็นตุ่มที่กำลังจะพัฒนาเป็นอวัยวะเพศ
- ในช่วงสัปดาห์นี้ทารกในครรภ์เริ่มขยับตัวได้ เริ่มงอแขนช่วงข้อศอกและข้อมือได้ แต่คุณแม่จะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกในท้อง เนื่องจากลูกยังมีขนาดตัวที่เล็กอยุ่
Tips : เข้าสู่อายุครรภ์ 8 สัปดาห์หรือราว 2 เดือน ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ซึ่งเติบโตรวดเร็วมาก อาการแพ้ท้องหรืออารมณ์แปรปรวนขึ้น ๆ ลง ๆ ที่มีผลต่อพัฒนาการลูกในท้องได้ ดังนั้นในช่วงนี้คุณแม่ควรใส่ในในเรื่องการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และหาอะไรทำเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ไม่ให้เกิดความเครียดมากเกินไป
ตั้งครรภ์เดือนที่ 2 แม่ต้องเจอกับอะไรบ้าง
ในช่วงเดือนที่สองนี้ หน้าท้องของคุณแม่อาจจะยังไม่ขยายใหญ่มากเท่าไรนัก หรืออาจไม่มีอาการแพ้ท้อง จนคุณแม่บางคนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ แต่ก็มีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่ทำให้สัมผัสได้ว่าคุณแม่กำลังมีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อยู่ในท้องแล้วนะ โดยอาการของแม่ตั้งครรภ์ที่พบบ่อย เช่น
- อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ คุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกประมาณ 70%-80% จะมีอาการแพ้ท้องหนักมาก เพื่อลดอาการ “แพ้ท้อง” ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มัน ๆ หรือรสจัด ควรเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย และรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ ระหว่างมื้ออาหาร หรือก่อนนอน เช่น นม แครกเกอร์ เพื่อช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่และช่วยลดอาการแพ้ท้องตอนเช้าวันรุ่งขึ้นได้ และดื่มน้ำขิงที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียนได้อย่างดีดี
- รู้สึกไม่สบาย เมื่อยล้า อ่อนเพลียบ่อย พัฒนาการของลูกในท้องที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้การตั้งครรภ์ต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าเดิม รู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ มีความรู้สึกอยากนอนตลอดทั้งวัน ลองหาเวลางีบพักผ่อนระหว่างวันอย่างน้อยสัก 10 นาทีหรือพักผ่อนให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็จะช่วยเติมพลังงานสร้างความกระฉับกระเฉงให้คุณแม่สามารถต่อสู้กับความเหนื่อยล้าได้
- อาการท้องผูก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ โดยสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและลำไส้ ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวและย่อยอาหารได้ช้าลง รวมทั้งการเจริญเติบโตของลูกน้อยในท้องก็ทำให้คุณแม่ท้องผูกได้ เมื่อคุณแม่ต้องเจอกับอาการท้องผูกควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือกากใยสูง เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ หมั่นออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน ว่ายน้ำ โยคะ เป็นต้น ก็จะช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้น
- อยากกินของแปลก ๆ หรือเบื่ออาหาร ฮอร์โมนที่สูงขึ้นในขณะตั้งครรภ์ช่วงแรก ๆ ทำให้คุณแม่อยากกินอะไรแปลก ๆ ที่ไม่เคยกินได้ หรือกลับมีอาการเบื่ออาหารขึ้นมาก็ได้ อย่างไรก็ตามคุณแม่จำเป็นต้องกินอาหารให้ครบ 3 มื้อ หรือแบ่งเป็นมื้อน้อย ๆ แต่กินให้บ่อย ๆ พยายามดูแลเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อไม่ให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อสุขภาพร่างกายคุณแม่และลูกน้อยในท้อง
- รู้สึกเหม็นง่ายไวต่อกลิ่น เป็นอาการปกติอีกอย่างหนึ่งของคนท้องที่เกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาสแรก จมูกของคุณแม่จะไวต่อกลิ่นทุกชนิดมากเป็นพิเศษ อาจจะรู้สึกเหม็นกลิ่นน้ำหอมที่คุ้นเคย เหม็นกลิ่นอาหารบางชนิด แม้กระทั่งกลิ่นตัวคุณพ่อ ได้กลิ่นทีไรก็อยากจะอาเจียนขึ้นมาทันที ในช่วงนี้การได้พักผ่อนมากที่สุดจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ และนอกจากการรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย น้ำอุ่น หรือน้ำขิง ลองเลือกกินสับปะรด และกล้วย ก็เป็นผลไม้ที่ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนนี้ได้ดี
- เต้านมขยายใหญ่ขึ้น ในช่วงประมาณเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้นจากเดิมได้ถึง 1-2 ไซส์ โดยเฉพาะในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก ซึ่งผิวหนังที่ยืดขยายอาจทำให้คุณแม่รู้สึกคัดตึงเต้านมมาก และมีรอยแตกลายบริเวณเต้านมด้วย อาการนี้เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการตั้งครรภ์และให้นมลูกหลังคลอดนั่นเอง
- มีอารมณ์แปรปรวนเป็นภาวะปกติที่อาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้คุณแม่มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อ่อนไหว ซึมเศร้า อ่อนล้า หรือบางครั้งก็รู้สึกหงุดหงิดได้ง่าย ๆ โดยไม่มีสาเหตุ ในช่วงนี้คุณแม่อาจหากิจกรรมต่าง ๆ ทำเพื่อให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น เช่น การพูดคุยกับสามีหรือเพื่อน ๆ การนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย หรืองานอดิเรกที่ชื่นชอบ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ พัฒนาการของทารกในครรภ์นั้นเริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้ชัดขึ้น ในช่วงเดือนนี้คุณแม่มองเห็นพัฒนาการลูกน้อยครั้งและและได้ยินเสียงหัวใจเต้นผ่านการอัลตร้าซาวด์ได้ นับเป็นเดือนที่สร้างความตื่นเต้น ความอัศจรรย์ และเพิ่มความสุขให้กับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้ไม่น้อยทีเดียว
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :www.huggies.co.th, www.scarymommy.com, www.honestdocs.co
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจอื่นๆ
แม่รู้มั้ย! พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 เดือน เกิดอะไรขึ้นกับลูกในท้องบ้าง?
พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือนมหัศจรรย์ เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตน้อยๆ ของแม่บ้าง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่