ไข้หวัดเป็นโรคที่ใครๆ ก็เป็นได้ แต่ถ้าเป็นหวัดในช่วงอุ้มท้อง คุณอาจหายช้ากว่าคนทั่วไปนิดหน่อย เพราะระบบภูมิต้านทานในร่างกายของว่าที่คุณแม่จะลดต่ำลง
ส่วนใหญ่เชื้อหวัดจะไม่สามารถซึมผ่านเข้าไปทำให้เกิดการติดเชื้อถึงทารก แต่คุณแม่ก็ควรระมัดระวัง เพราะหากติดเชื้อหวัดชนิดรุนแรง อาจกระตุ้นให้เกิดการแท้งได้ในช่วง 3 เดือนแรก หรือภาวะคลอดก่อนกำหนดในช่วงไตรมาสท้ายได้ แต่ถ้ามีอาการไข้สูงเกินกว่า 38 องศา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากไข้สูงเกินกว่า 40 องศาอาจทำให้เกิดความพิการในทารกได้
ไข้หวัดธรรมดานั้นจะไม่ค่อยมีผลกระทบถึงลูก นอกจากบางอาการเท่านั้น เช่น
ไข้สูง : ถ้าแม่มีไข้สูง เด็กก็จะมีไข้ไปด้วย หัวใจก็จะเต้นเร็วขึ้น อาจมีเลือดสูบฉีดเร็วขึ้น ความดันเลือดอาจจะสูงขึ้น โดยทั่วไปเวลาคุณแม่มาตรวจ คุณหมอจะฟังเสียงหัวใจลูก 60 ครั้งต่อนาทีซึ่งก็ถือว่าเร็วกว่าปกติ ต้องมีการติดตามเพราะอาจมีความเสี่ยงเรื่องหัวใจวาย ช็อก แต่อย่ากังวลไปเพราะถือว่ายังมีโอกาสเกิดน้อยมาก
ไอ : การที่แม่ไอเยอะ ๆ ไอมาก ๆ ก็อาจกระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัว บางรายอาจมาในอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด ซึ่งก็จะทำให้เด็กตัวเล็กได้
และสำหรับแม่ท้องเมื่อมีอาการเจ็บป่วยมักจะมีอาการมากกว่าผู้หญิงทั่วไป อาการจะเปลี่ยนแปลงเร็ว หากปล่อยไม่ดูแลมีโอกาสสูงที่จะลงปอด เป็นปอดบวมได้ แต่ไม่ว่าไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดธรรมดา เชื้อหวัดนั้นจะไม่ไปถึงลูก ยกเว้นว่าแม่มาป่วยตอนกำลังจะเจ็บท้องคลอด แล้วเป็นหวัดพอดี พอลูกคลอดออกมาก็จะใกล้ชิดแม่ ก็มีโอกาสได้รับเชื้อ หากเป็นไข้หวัดใหญ่ปกติก็อาจจะต้องแยกแม่ลูกก่อน
ป้องกัน + รักษา อย่างไร?
- หลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้บุคคลที่เจ็บป่วย หรือเป็นหวัด
- กินอาหารร้อน หรืออุ่น ๆ ไม่ควรร้อนไป หรือเย็นไป
- ใช้ที่ปิดปาก-จมูกเป็นประจำ เมื่อบุคคลใกล้ตัวเป็นหวัด
- ล้างมือบ่อย ๆ
- ให้อยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรอยู่ในห้องแอร์ เพราะอากาศไม่ถ่ายเท และเชื้อโรคก็จะวนเวียอยู่ไม่ไปไหน
- ดื่มน้ำมาก ๆ
เมื่อเป็นหวัดแล้ว แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ที่อาจส่งผลต่อสมองหรืออวัยวะต่าง ๆ ของลูก โดยคุณหมอด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำการดูแลตัวเองของแม่ท้องแบบธรรมชาติบำบัดว่า อยากให้เน้นการพักผ่อนและการกินอาหารให้เหมาะสม โดยให้กินอาหารที่อุ่นหรือร้อนนิดๆ แต่ไม่ใช่เผ็ดร้อน เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น เพราะเมื่อร่างกายอบอุ่น ร่างกายก็จะดูแลรักษาตัวเองได้ระดับหนึ่ง ส่วนการดูแลตามอาการนั้น ก็สามารถทำได้ ดังนี้
มีไข้/คัดจมูก : นอนพักผ่อนเยอะ ๆ ดื่มน้ำเยอะ ๆ หรือใช้ยาจันทลิลา ซึ่งเป็นยาสมุนไพรสามัญประจำบ้าน เป็นเม็ดแคปซูลที่ประกอบด้วยสมุนไพร 8 ชนิด และรักษาร่างกายให้อบอุ่น
ปวดหลัง : ใช้ลูกประคบอุ่น ๆ มาประคบที่หลัง นวดเบา ๆ ไม่ควรนวดแรง ๆ เพราะอาจเกิดอาการเกร็งและส่งผลถึงเด็กในท้องได้ หรืออาจทาน้ำมัน ทายาหม่อง ที่ให้ความร้อนก็ใช้ได้เหมือนกัน
ไอ/จาม : ให้ดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำขิง โดยให้จิบบ่อย ๆ ก็จะช่วยลดอาการไอ และเสมหะที่เหนียวเกาะก็จะลดลง โดยน้ำขิงนั้นไม่จำเป็นต้องใส่น้ำตาล เพราะจะหวานเกินความจำเป็นสำหรับแม่ท้อง
เจ็บคอ : ดื่มน้ำอุ่นเยอะ ๆ หรืออาจใช้ยาอมมะแว้ง หรือมะนาว ซึ่งจะมีอยู่ในมื้ออาหารอยู่แล้ว เพียงแต่อาจต้องกินเยอะขึ้น
แต่หากอาการหวัดของคุณแม่ท้องเป็นหนักและเป็นนาน ก็ควรไปพบคุณหมอ เพราะอาจจะต้องได้รับยา ซึ่งต้องให้คุณหมอดูแลต่อไปค่ะ
บทความโดย : กองบรรณาธิการเรียลพาเรนติ้ง
ที่มาภาพ : Shutterstock