ผู้หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ และคุณแม่ที่กำลังให้นมลูก มีความจำเป็นต้องรับประทาน โฟเลต หรือกรดโฟลิกมากขึ้นเป็นพิเศษ
โฟเลต หรือ กรดโฟลิก สิ่งสำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ห้ามขาด!!!
คุณแม่หลายท่านอาจมีข้อสงสัยว่า โฟเลต กับ กรดโฟลิก เหมือนกันไหม ควรรับประทานช่วงไหนดี มีประโยชน์อะไรบ้าง ถ้ารับประทานไม่เพียงพอจะมีผลกระทบอย่างไร ควรรับประทานปริมาณเท่าไหร่ ทีมแม่ ABK ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโฟเลต หรือกรดโฟลิกมาให้แล้วค่ะ
โฟเลต กับ กรดโฟลิก ต่างกันอย่างไร
โฟเลต (Folate) กับ กรดโฟลิก (Folic Acid) นั้น คือวิตามินบี 9 เหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ กรดโฟลิก นั้นคือชื่อเรียกของวิตามินบี 9 ที่ได้มาจากการที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น แต่ โฟเลต คือชื่อเรียกของวิตามินบี 9 ที่ได้รับจากอาหารตามธรรมชาติ ทั้งนี้โฟเลตจะสลายได้ง่าย หากนำไปปรุงอาหารด้วยความร้อน เช่น ต้ม ผัด ลวก ดังนั้นจึงควรรับประทานผัก และผลไม้สด เพื่อให้โฟเลตยังคงอยู่
ประโยชน์ต่อทารกในครรภ์
กรดโฟลิกนั้นมีส่วนช่วยในการสร้างตัวอ่อน ช่วยป้องกันและลดความผิดปกติของระบบประสาท ทั้งภาวะไม่มีเนื้อสมอง ภาวะไขสันหลังไม่ปิดจากการขาดโฟลิก นอกจากนี้ยังช่วยซ่อมแซมพันธุกรรม ควบคุมการสร้างกรดอะมิโนที่จำเป็นในการแบ่งเซลล์ ไปจนถึงการสร้างเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาวในไขกระดูกของลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย
กรดโฟลิกยังช่วยลดความเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรถ์ได้ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติของแขน ขา ความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคไม่มีรูทวารหนัก เป็นต้น
คุณแม่ตั้งครรภ์มีความต้องการกรดโฟลิกเพื่อทารกในครรภ์ แต่ร่างกายกลับดูดซึมจากอาหารได้น้อยกว่าปกติ ดังนั้น คุณแม่จึงควรทานกรดโฟลิกเพิ่มมากกว่าปกติ
ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
กรดโฟลิกเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร tetrahydrofolate ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์ และซ่อมแซมสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าดีเอ็นเอ (DNA) ควบคุมการสังเคราะห์กรดอะมิโน ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย อีกทั้งยังควบคุมการสร้าง และการแก่ตัวของเม็ดเลือด โดยเฉพาะเม็ดเลือดแดง ด้วยเหตุนี้การเสริมกรดโฟลิก จึงถูกนำมาใช้อย่างเป็นวงกว้างในการป้องกัน และรักษาภาวะโลหิตจาง นอกเหนือจากประโยชน์ที่ใช้ในการรักษาภาวะโลหิตจาง ในปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยที่ถูกตีพิมพ์อยู่ในวารสารระดับนานาชาติพบว่า การเสริมกรดโฟลิก สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
นอกจากนี้ กรดโฟลิกมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสร้าง และการสลายกรดอะมิโนที่ชื่อว่า โฮโมซีสทีน (homocysteine) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดภายในร่างกาย หากร่างกายมีสารดังกล่าวคั่งสะสมในกระแสเลือดสูงเกิน 15 ไมโครโมลต่อลิตร จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนที่มีระดับปกติ
ควรรับประทานช่วงไหน
สำหรับผู้หญิงที่กำลังวางแผนมีบุตร ควรทานก่อนตั้งครรภ์ 1 – 3 เดือน และทานต่อเนื่องไปอีกหลังเริ่มตั้งครรภ์ไปจนอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ ทั้งนี้หากรอจนทราบว่าตั้งครรภ์ก่อน แล้วค่อยทานอาจจะสายเกินไป เพราะในช่วงอายุครรภ์ที่ 3-4 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ จะเป็นช่วงที่พัฒนาการของสมอง และระบบประสาทของทารกจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลอดประสาทจะปิดอย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งนั่นอาจช้าเกินไปที่จะแก้ไขความผิดปกติ
ผลเสียหากทารกได้รับโฟลิกไม่เพียงพอ
อาจทำให้ทารกเสี่ยงต่อความพิการได้ ในกรณีที่เป็นมาก อาจเกิดความพิการทางสมอง และระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงกระโหลกศีรษะอาจไม่ปิด หากปล่อยไว้จนคลอด ทารกจะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ในส่วนของประสาทไขสันหลังเองก็เสี่ยงต่อความพิการได้เช่นกัน การสร้างเม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่กว่าปกติหรือโตไม่เต็มที่ รวมถึงภาวะสารโฮโมซีสเตอีนสูงกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ ไขมันอุดตันในหลอดเลือดสมอง โคเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานได้
ปริมาณที่ร่างกายต้องการ
ผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ ควรได้รับกรดโฟลิกปริมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน ในขณะที่หญิงตั้งครรภ์ มีความต้องการกรดโฟลิกมากขึ้นถึง 800 ไมโครกรัมต่อวัน แต่ทั้งนี้ควรรับประทานไม่ให้เกิน 1 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะหากร่างกายได้รับกรดโฟลิกมากเกินไป กรดโฟลิกนี้จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของวิตามินบี 12 ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เป็นโรคโลหิตจางได้
ในประเทศไทยยาเม็ดโฟลิกจะมีชนิดเม็ดละ 5 มิลลิกรัม และในยาบำรุงครรภ์ทุกชนิดมักจะมีโฟลิกผสมอยู่แล้วอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม ผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตร ควรรับประทานโฟลิกวันละ 1 เม็ด (1 – 5 มิลลิกรัม) ตั้งแต่ 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ต่อเนื่องไปจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นรับประทานต่อวันละ 0.4 มิลลิกรัม
มีงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา พบว่า คนทั่วไปได้รับโฟเลตไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว จึงมีการทำเป็นยาเม็ดโฟลิกเพื่อรับประทานเสริมเข้าไป โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์
การรับประทานโฟเลต หรือโฟลิกมาก ๆ จะมีผลเสียหรือไม่
การรับประทานโฟเลตในรูปแบบผักและผลไม้มาก ๆ ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ไม่มีสะสมในร่างกาย ส่วนที่เกินจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ
ส่วนโฟลิกที่อยู่ในรูปของยาหรือวิตามินแแบบเม็ด หากรับประทานเกินปริมาณที่กำหนดต่อวันนั้น ยาหรือวิตามินจะสามารถสลายได้เช่นเดียวกับผักและผลไม้ โดยจะละลายได้ในน้ำ ดังนั้น แม้จะได้รับในปริมาณที่มาก ก็สามารถสลายไปได้ในร่างกาย
อาหารที่มีโฟลิกสูง
ผักใบเขียว เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลต เช่น คะน้า ผักบุ้ง ตำลึง ผักโขม กะหล่ำปลี ผักปวยเล้ง ถั่วลันเตา หน่อไม้ฝรั่ง
บล็อคโคลี่ บร็อคโคลี่ 1 ถ้วย ทำให้เราได้รับโฟเลตมากถึง 26% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการโฟเลตต่อวันเลยทีเดียว ยิ่งทานแบบลวก หรือทานกับน้ำสลัดแบบสด ๆ ก็จะยิ่งได้คุณค่าสารอาหารที่ดีกว่าการนำไปทอดหรือผัด
ผลไม้รสเปรี้ยว ความจริงแล้วผลไม้ส่วนใหญ่ต่างอุดมไปด้วยโฟเลตทั้งนั้น เพียงแต่ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจะมีโฟเลตปริมาณเยอะมาก โดยเฉพาะส้ม ในส้ม 1 ลูกมีโฟเลตสูงถึง 50 กรัม นอกจากนี้พวกมะละกอ องุ่น กล้วย แคนตาลูป เอพริคอต และสตรอเบอรี่ ก็มีโฟเลตสูงเช่นกัน
อื่นๆ ไข่แดง ตับ เมล็ดทานตะวัน ฟักทอง อะโวคาโด ถั่วชนิดต่าง ๆ รวมทั้งธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ล้วนอุดมไปด้วยโฟเลตทั้งสิ้น
บทความเกี่ยวกับ โฟเลต หรือกรดโฟลิก ที่ทาง ทีมแม่ ABK นำเสนอนี้ คงทำให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ และกำลังวางแผนการตั้งครรภ์ ได้เห็นถึงความสำคัญ และได้เตรียมโภชนาการสำหรับคุณแม่ เพื่อบำรุงทารกในครรภ์ให้สมบูรณ์แข็งแรง และป้องกันทารกพิการแต่กำเนิด
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://pharmacy.mahidol.ac.th, https://www.phyathai.com, https://www.synphaet.co.th, https://www.thaihealth.or.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่