นับอายุครรภ์จากวันแรกของประจำเดือน
เมื่อว่าที่คุณแม่สังเกตว่าประจำเดือนขาดหาย ให้เริ่มนับอายุครรภ์จากวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด โดยในการนับให้นับเป็นวันและค่อยคำนวณจากวันเป็นสัปดาห์ หากคุณหมอสอบถามให้แจ้งอายุครรภ์เป็นวันหรือสัปดาห์ การบอกว่าอายุครรภ์ได้กี่เดือนนั้นมาจากการเอาสัปดาห์คำนวณเป็นเดือน
โดยปกติแล้ว เราจะเชื่อกันว่าคุณแม่จะตั้งครรภ์ 9 เดือนหรือประมาณ 36 สัปดาห์ แต่ในความเป็นจริง การนับสัปดาห์และคำนวณเป็นเดือน คุณแม่มักจะตั้งครรภ์หลังจากวันที่ประจำเดือนผ่านไปครั้งแรก 2 สัปดาห์ สัมพันธ์กับวันที่ไข่ตก ดังนั้นเมื่อเราพูดว่าอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ เด็กในครรภ์จริง ๆ แล้วน่าจะมีอายุประมาณ 38 สัปดาห์ และนั่นทำให้การนับอายุครรภ์จนถึงกำหนดคลอดเป็นไปได้ที่จะกินระยะเวลานานกว่า 9 เดือน
ถ้านับอายุครรภ์ผิดจะมีผลเสียหรือเปล่า
ความคลาดเคลื่อนการนับอายุทารกในครรภ์เป็นไปเองโดยธรรมชาติ เพราะแม้จะรู้วันไข่ตก แต่ไม่ใช่ว่าไข่ตกแล้วจะเกิดการผสมระหว่างไข่ของคุณแม่กับสเปิร์มของคุณพ่อเลย ดังนั้นการคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้อยู่แล้วในการนับอายุครรภ์ แต่ด้วยการพบคุณหมอสม่ำเสมอ จะสามารถติดตามความสมบูรณ์ของครรภ์ และปรับเปลี่ยนการคะเนวันคลอดได้อีก ไม่ใช่เรื่องที่คุณแม่ต้องวิตกกังวล
อย่างไรก็ตาม การจดบันทึกการมาของประจำเดือนในวันแรกของทุกเดือน ทำให้รู้ตัวไวว่าตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ได้เร็ว และทำให้คุณหมอประเมินกำหนดคลอดสำหรับให้คุณแม่เตรียมตัวได้แม่นยำขึ้น
จากอายุครรภ์สู่การคำนวณวันคลอด
สามารถคำนวณได้ 2 แบบ โดยจะได้คำตอบเป็นวันเดียวกัน
- นับจากวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ให้บวกไปอีก 9 เดือน และเมื่อได้วันออกมาแล้ว ให้บวกไปอีก 7 วัน เช่น ถ้ารอบเดือนสุดท้ายก่อนตั้งครรภ์ ประจำเดือนมาวันแรก 1 กรกฏาคม อีก 9 เดือน จะตรงกับวันที่ 1 เมษายน จากนั้นบวกอีก 7 วัน กำหนดคลอดจะตรงกับ 8 เมษายน
- นับย้อนจากวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย นับถอยหลังไป 3 เดือน (แทนการบวก 9 เดือน) และบวกอีก 7 วัน เช่น ถ้ารอบเดือนสุดท้ายก่อนตั้งครรภ์ ประจำเดือนมาวันแรก 1 กรกฏาคม ย้อนหลังไป 3 เดือน คือ มิถุนายน พฤษภาคม เมษายน แล้วนับบวกอีก 7 วัน จะได้วันกำหนดคลอดตรงกับ 8 เมษายน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก