ตั้งครรภ์ อายุมาก แต่ท้องได้สบายใจ (ไตรมาส 3) - Amarin Baby & Kids

ตั้งครรภ์ อายุมาก แต่ท้องได้สบายใจ (ไตรมาส 3)

Alternative Textaccount_circle
event

ไตรมาสที่ 3 ขนาดท้องของคุณแม่ใหญ่ขึ้น จึงอาจทำให้กังวลมากกว่าช่วงไตรมาสอื่นๆ ทว่า

จากประสบการณ์ คุณหมอณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อคิดว่า “หากคุณแม่ได้รับการตรวจถูกช่วงเวลา รวมทั้งดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม เมื่อมาถึงไตรมาสนี้แล้ว ถือว่าหมดห่วงไปหลายเปลาะแล้ว ทำใจให้สบาย ผ่อนคลายด้วยการเฝ้าดูการเจริญเติบโตของลูกน้อย และถือโอกาสวางแผนครอบครัวกับคุณพ่อจะเป็นประโยชน์มาก”

แต่ในไตรมาสนี้คุณหมอแนะนำว่า คุณแม่ท้องอายุมากควรทำความรู้จักและสังเกตภาวะครรภ์เป็นพิษอีกอย่างหนึ่งเพื่อเพิ่มความมั่นใจ และตรวจดูความสมบูรณ์แข็งแรงของลูกน้อยเพื่อความสบายใจของคุณแม่เท่านั้นค่ะ

การสังเกตภาวะครรภ์เป็นพิษ

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษคืออะไร เพราะอะไรถึงควรตรวจ

คุณหมออธิบายง่ายๆ ว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้าย แม่ซึ่งมีอายุมากมีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษมากกว่ากลุ่มแม่ที่มีอายุน้อย โดยสาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติจากสารเคมีบางอย่างที่มีอยู่ในรก ทำให้เส้นเลือดบริเวณที่ฝังตัวของรกมีความผิดปกติ ครรภ์เป็นพิษถือเป็นภาวะภาวะอันตรายทั้งแม่และลูก แต่ก็มีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ทั้งนี้การตรวจจะช่วยให้รู้ได้

  • วิธีการตรวจง่ายๆ

ได้แก่ ตรวจความดันโลหิตร่วมกับตรวจปัสสาวะ การจะวินิจฉัยว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษหรือไม่ คือ ตรวจพบว่ามีความดันสูงร่วมกับมีโปรตีนรั่วปะปนมากับปัสสาวะ ส่วนจะเป็นในระดับที่รุนแรงหรือไม่ คุณหมอจะทำการตรวจวินิจฉัยในขั้นต่อไป หากรุนแรงคุณหมอจะรักษาด้วยการทำคลอดก่อนกำหนดหรือยุติการตั้งครรภ์ เพื่อให้ความดันโลหิตของคุณแม่กลับมาเป็นปกติค่ะ (เรื่องของครรภ์เป็นพิษยังมีรายละเอียดอีก คุณแม่ที่สนใจอ่านต่อได้ ที่นี่ ค่ะ)

การตรวจความแข็งแรงของลูกน้อย

ในไตรมาสสุดท้าย คุณหมอจะนัดตรวจครรภ์ถี่ขึ้นกว่าไตรมาสก่อนๆ และในการฝากครรภ์ทุกครั้ง คุณหมอจะตรวจดูการเจริญเติบโตของทารกโดยใช้มือคลำและใช้เทปวัดสัดส่วน ถ้ามีข้อสงสัยอาจจะส่งตรวจอัลตราซาวนด์ประเมินน้ำหนักทารกเป็นระยะ คุณแม่เองก็สามารถช่วยประเมินความแข็งแรงของลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยการนับลูกดิ้นหลังมื้ออาหาร หรือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งถ้าพบความผิดปกติเช่นดิ้นน้อยลง อย่านิ่งนอนใจนะคะ รีบมาพบแพทย์เพื่อทดสอบความแข็งแรงของทารกด้วยเครื่องมืออื่นต่อไป

“แม้คุณแม่จะอายุ 35-40 ต้นๆ ก็ยังสามารถมีลูกที่สมบูรณ์แข็งแรงได้ค่ะ เพียงรีบฝากท้อง อย่าให้ล่วงเลยช่วงไตรมาสแรก ตรวจเช็คร่างกายตั้งแต่เนิ่นๆ สงสัยอะไรก็ซักถามคุณหมอทันที รวมถึงดูแลสุขภาพร่างกายตามคำแนะนำของคุณหมออย่างสม่ำเสมอ”

อ่านเพิ่มเติม ไตรมาส 1 | ไตรมาส 2

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up