หลังจากเมื่อปลายเดือน ก.ย. ได้มีข่าวจากสธ. ยืนยันมาแล้วว่า มีแม่ท้องคนไทย 2 ราย ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาจึงเป็นต้นเหตุให้เด็กทารกมีหัวเล็กลีบ จึงได้มีการจัดตั้งทีมแพทย์เพื่อหาทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดเมื่อ แม่ท้องติดเชื้อไวรัสซิกา
และเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสซิกา เพื่อพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและของเอเชีย
ทั้งนี้ทีมแพทย์ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหาแนวทางป้องกันโรค ไวรัสซิกา จึงได้ผุดแนวทางดูแลวินิจฉัยหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงติดเชื้อซิกา เด็กทารกหัวลีบ ครั้งแรกเอเชีย โดยกระจายแพทย์ทั่วประเทศดำเนินการ แจ้งว่า…หากจะยุติการตั้งครรภ์ของคุณแม่ที่ติดเชื้อต้องอายุครรภ์ไม่เกิน 6 เดือน และเป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับแพทยสภากำหนดเท่านั้น เพราะแม่ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วลูกหัวเล็ก ไม่ได้เป็นทุกคน
ไทยพบทารกหัวเล็กติดเชื้อไวรัสซิกา ก่อนประเทศอื่นในเอเชีย
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ซึ่งเป็นประธานกรรมการพิจารณาแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและดูแลหญิงตั้งครรภ์ฯ ในครั้งนี้ กล่าวว่า “ซิกาเป็นเชื้อเก่าเจอมา 60 ปี แต่หัวเล็กในเด็กเป็นกลุ่มอาการใหม่ที่เพิ่งเจอ ดังนั้น หัวเล็กจึงเป็นกลุ่มอาการใหม่ แต่ตัวซิกาจริงๆ อาการไม่มาก หายได้เอง และมีเพียงร้อยละ 20 ที่แสดงอาการไข้ ผื่นขึ้น ตาแดง อีกร้อยละ 80 ไม่แสดงอาการ”
ซึ่งไทยมีการตรวจพบซิกามาหลายปีแล้ว มีรายงาน 5-6 ปี กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเจอเด็กศีรษะเล็กจากซิกา 2 ราย ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ทางสำนักระบาดวิทยารายงานก็พบว่า มีการเฝ้าระวังและตรวจเชื้อจนพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 39 ราย มี 16 รายแสดงอาการ ที่เหลืออีก 23 รายหรือประมาณร้อยละ 60 ไม่แสดงอาการ ขณะที่พบว่ามี 9 รายคลอดทารกออกมาเป็นปกติดี ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคน แต่เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันจึงได้ออกแนวปฏิบัติดังกล่าวขึ้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นไกด์ไลน์ในการวินิจฉัยหญิงตั้งครรภ์