การมีลูกแฝด ถือเป็นความต้องการยอดฮิตของคู่สมรสหรือครอบครัวที่มีความพร้อมมากพอ ด้วยความที่ท้องครั้งเดียวแต่ได้เด็กน่ารักพร้อมกันถึง 2 คน (หรือมากกว่า) จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนสงสัยว่าถ้าอยากได้ลูกแฝดต้องทำอย่างไร ?
ธรรมชาติการที่จะเกิดลูกแฝดนั้นถือได้ว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์พอสมควรเหมือนกันฝาแฝดมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ
1. เด็กแฝดที่เกิดจากการปฏิสนธิจากไข่ 1 ใบ (Identical twins) เด็กจะรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน เพศเดียวกัน
2. เด็กแฝดที่เกิดจากการปฏิสนธิจากไข่มากกว่า 1 ใบ (Fraternal twins) จะมีรูปร่าง หน้าตา ไม่เหมือนกันซึ่งอาจเป็นคนละเพศกันก็ได้
การตั้งครรภ์แฝดโดยธรรมชาตินั้นไม่สามารถกำหนดหรือคาดเดาได้เลย เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการทางธรรมชาติล้วนๆ แล้วถ้าท้องนี้คุณแม่อยากจะมีลูกแฝด จะมีโอกาสเป็นไปได้แค่ไหน มาดูปัจจัยที่ทำให้คุณแม่มีโอกาสได้ลูกแฝดกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1. คนในครอบครัว…มี ลูกแฝด
คนในครอบครัวมีประวัติมี ลูกแฝด โดยเฉพาะครอบครัวฝ่ายมารดา เพราะผู้หญิงจะได้รับยีนแฝดที่ทำให้เกิดการผลิตไข่มากกว่าคนที่ไม่มียีนนี้ ทำให้คุณแม่มีโอกาสมีลูกแฝดนั่นเอง ซึ่งแฝดในที่นี้หมายถึงแฝดคล้ายเท่านั้น เพราะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่แฝดเหมือนไม่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ค่ะ
2. อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง เชื้อชาติ
มีงานวิจัยออกมาแล้วว่า คุณแม่ที่มีอายุมากมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดสูงกว่าคุณแม่อายุน้อย โดยคุณแม่ที่อายุมากกว่า 45 ปี มีโอกาสได้ลูกแฝดถึง 17% ในเรื่องของน้ำหนักก็มีผลเช่นกัน หากคุณแม่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 และรูปร่างสูง ก็มีโอกาสตั้งครรภ์แฝด นอกจากนี้ผู้หญิงเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกัน มีอัตราการตั้งครรภ์แฝดสูงกว่าเชื้อชาติอื่น และเอเชียถือเป็นเชื้อชาติที่มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้น้อยที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณแม่ก็ไม่ควรรอมีลูกตอนอายุมากๆหรือเพิ่มน้ำหนักเกินมาตรฐานเพื่อให้ได้ลูกแฝดนะคะ เพราะผลแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์แฝดก็จะสูงตามไปด้วย
3. กินยากระตุ้นไข่และกรดโฟลิก
การกินยากระตุ้นการตกไข่ของคุณแม่ ในกรณีของผู้มีบุตรยาก ทำให้คุณแม่มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดสูงกว่าวิธีธรรมชาติ ส่วนงานวิจัยจากประเทศออสเตรเลียพบกว่า กรดโฟลิกมีส่วนช่วยให้ตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น แม้จะมีนักวิจัยอื่นๆแย้งว่าพิสูจน์ได้ยาก แต่การกินกรดโฟลิกก่อนการตั้งครรภ์ก็เป็นเรื่องจำเป็นของคุณแม่กำลังจะท้องอยู่ดีค่ะ เข้าตำราว่า กินไว้ไม่เสียหาย
4. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม
ผลงานวิจัยของดร.แกรี่ สไตน์แมน ประจำศูนย์การแพทย์ที่เมืองลองไอแลนด์ มลรัฐนิวยอร์ก บอกว่าผู้หญิงที่ดื่มนมมากกว่าปกติ 5 เท่าจะมีโอกาสได้ลูกแฝดมากกว่าผู้หญิงที่เป็นมังสวิรัติที่ไม่บริโภคอาหารประเภทเนื้อเลยถึง 5 เท่า !! นอกจากนี้ผลการวิจัยยังสันนิษฐานด้วยว่าโปรตีนที่พบในตับของสัตว์เป็นปัจจัยของการมีลูกแฝด เพราะโปรตีนชนิดนี้มีองค์ประกอบการเติบโตคล้ายอินซูลิน เรียกว่า IGF ที่พบได้ในนมวัวและผลิตภัณฑ์ของสัตว์อื่น ๆ ซึ่งเป็นโปตีนที่จะช่วยให้รังไข่มีปฏิกิริยาไวขึ้นและช่วยเพิ่มจำนวนไข่ให้มากขึ้น