ภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือด คืออะไร
ภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือด หรือ Amniotic Fluid Embolism เป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงจนทำให้แม่คลอดลูกตายได้ โดยจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปในแม่แต่ละคน บางคนอาจไม่มีอาการบ่งชี้เลย หรือมีอาการบ่งชี้เฉพาะ 3 อย่าง ดังต่อไปนี้
ความดันโลหิตต่ำลงกะทันหันระหว่างคลอด (Hypotension)
ขาดออกซิเจน (Hypoxia)
การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Comsumptive coagulopathy)
ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อมดลูกหดรัดตัวอย่างรุนแรง จนแรงดันภายในมดลูกสูงกว่าแรงดันของเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดดำปริแตกออกมาจากถุงน้ำคร่ำ แทนที่เลือดจะไหลออกทางเส้นเลือดแต่ย้อนกลับไปในหลอดเลือดแล้วเข้าสู่หัวใจห้องขวา ซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปที่ปอดเพื่อฟอกออกซิเจน
เมื่อน้ำคร่ำถูกฉีดเข้าสู่ปอดทั้งสองข้างแทนเลือดตามปกติ ทำให้ไข เศษขี้ไคล ขนอ่อน และขี้เทาที่ปะปนในน้ำคร่ำเข้าไปอุดตันเส้นเลือดฝอยในปอด การไหลเวียนของเลือดในปอดลดลง เกิดภาวะขาดออกซิเจนในเลือดแดง ภาวะช็อกจากหัวใจ น้ำท่วมปอดจนทำให้แม่คลอดลูกตายได้
สาเหตุของภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือด
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ ทั้งการใช้ยาเร่งคลอดที่กระตุ้นให้มดลูกหดตัว การคลอดลูกเฉียบพลันโดยเฉพาะกรณีคลอดก่อนกำหนดจากภาวะเสี่ยงต่างๆ เช่น ครรภ์เป็นพิษ หรืออุบัติเหตุ รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด มดลูกแตก การเจาะถุงน้ำคร่ำ การรีดเพื่อเปิดขยายปากมดลูก การหมุนเปลี่ยนท่าทารกจากภายนอกและภายใน หรือแม้แต่การออกแรงเบ่งของคุณแม่ขณะคลอดศีรษะแต่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก
คลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด เสี่ยง แม่คลอดลูกตาย เพราะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือด กว่ากัน
ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ระบุได้ชัดเจนว่าการคลอดแบบไหนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดมากกว่ากัน แต่เมื่อน้ำคร่ำรั่วเข้าสู่หลอดเลือด จะตรวจพบว่าแม่มีอาการ 2 ระยะ เริ่มจากภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ทำให้แม่หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หนาวสั่น ปวดหัว ปวดและชาตามปลายนิ้ว คลื่นไส้อาเจียน
คุณแม่ใกล้คลอดอาจมีอาการแบบนี้ก่อนถึงโรงพยาบาล และเป็นต่อเนื่องได้นาน 4 ชั่วโมง หากพบความผิดปกติต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหัวใจและปอดอาจหยุดทำให้ได้ตลอดเวลา ต่อมาร่างกายของคุณแม่จะเข้าสู่ระยะที่สอง ภาวะการแข็งตัวของก้อนเลือดที่กระจายไปทั่ว ตามด้วยภาวะตกเลือดหลังคลอด และเสียชีวิต บางรายอาจไม่มีระยะแรก แต่เข้าสู่ภาวะนี้เลย
การรักษาภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดทำได้ไหม
เมื่อเกิดภาวะดังกล่าว แพทย์จะรีบกู้ชีวิตอย่างเร่งด่วนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการให้ออกซิเจนเพื่อป้องกันภาวะสมองและไตขาดเลือด เพื่อรักษาชีวิตทารกและแม่ แล้วจึงให้เลือด สารละลายเพื่อทดแทนภาวะขาดน้ำ จากนั้นแพทย์จะต้องผ่าคลอดทันทีในกรณีที่คุณแม่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว และอายุครรภ์มากพอที่ทารกจะรอดชีวิต
กระบวนการช่วยชีวิตทารกและคุณแม่นี้ต้องทำพร้อมกันภายในเวลาอันสั้น หากไม่ทันท่วงทีคุณแม่มีโอกาสถึง 60 % ที่จะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยเฉพาะในชั่วโมงแรกของการคลอด ส่วนในรายที่รอดพ้นระยะนี้ไป จะเกิดภาวะเลือดไม่แข็งตัวที่ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
ส่วนมารดาที่ไม่เสียชีวิตมักมีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทขั้นรุนแรงมาถึง 85 % มีเพียง 8 % เท่านั้นที่กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขณะที่ทารกรอดชีวิตหลังแม่หัวใจหยุดเต้นมีน้อยมาก หรือถ้ารอดชีวิตก็มักมีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทเช่นกัน ดังนั้นแพทย์เก่งๆ หรือเครื่องมือทันสมัยก็ไม่อาจการันตีได้ว่า แม่และลูกในครรภ์จะรอดชีวิต
แม้เหตุการณ์นี้จะเป็นเรื่องน่ากลัวจนทำให้คุณแม่รู้สึกวิตกกังวลกับการคลอด แต่ภาวะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย การดูแลร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง และพบคุณหมออย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดภาวะเสี่ยงต่างๆให้เกิดขึ้นน้อยลงตามไปด้วยนะคะ
อ่านบทความอื่นๆที่น่าสนใจ
โฉมหน้า 15 โรคแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์
น้ำคร่ำอุดตันในกระแสเลือด “เพชฌฆาตเงียบ” ของแม่ท้อง
ขอบคณข้อมูลจาก http://www.med.cmu.ac.th, https://www.honestdocs.co
นาวาอากาศเอก(พิเศษ)นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ กรรมการแพทยสภา, น.พ.อานนท์ เรืองอุตมานันท์, นพ.สมพงษ์ วันหนุน หัวหน้ากลุ่มงานสูตินารีเวช โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/thaimedcouncil/
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่