"ยาระหว่างตั้งครรภ์" ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย
ยาระหว่างตั้งครรภ์

“ยาระหว่างตั้งครรภ์” ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

Alternative Textaccount_circle
event
ยาระหว่างตั้งครรภ์
ยาระหว่างตั้งครรภ์

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจมีอาการเจ็บป่วยระหว่างตั้งครรภ์ขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาในการรักษาอาการเจ็บป่วย และต้องเลือกใช้ยาอย่างระมัดระวัง ไม่ควรซื้อ ยาระหว่างตั้งครรภ์ ด้วยตัวเอง แม้แต่ยาสามัญประจำบ้าน เพราะยาทุกชนิดอาจส่งผลอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้

ผลร้ายจากการใช้ยา

ยาส่งต่อจากแม่ถึงลูกทางสายสะดือ เมื่อแม่ใช้ยาจะส่งผลต่อลูกในครรภ์ เพราะยาในกระแสเลือดของแม่จะซึมผ่านรกเข้าสู่กระแสเลือดของลูก เช่นเดียวกับน้ำ สารอาหาร และออกซิเจน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูก ซึ่งขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ อายุของทารก ชนิดและขนาดของยาที่แม่ได้รับ

1.ยากับอายุของทารก ในระยะเวลา 9 เดือนที่ลูกเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์นั้น ยาอาจส่งผลต่อลูกได้ ดังนี้

  • วันแรก – สัปดาห์ที่ 3 ถ้าแม่ได้รับยาที่มีอันตราย อาจทำให้แท้งลูกได้
  • สัปดาห์ที่ 3 – สัปดาห์ที่ 8 ถ้าได้รับยาอันตรายจะส่งผลต่ออวัยวะของลูก อาจทำให้ผิดปกติ
  • เดือนที่ 3-9 ทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวน้อย ศีรษะ ระบบประสาท อวัยวะเพศ เจริญเติบโตผิดปกติ

2.ชนิดและขนาดของยาที่แม่ได้รับ ยาส่วนใหญ่ส่งผลอันตรายกับลูก ดังนี้

  • ยา Isotretinoin เป็นยารักษาสิวหัวช้างและสิวชนิดรุนแรง โรคสะเก็ดเงิน ทำให้ลูกไม่สมประกอบ
  • ยารักษามะเร็ง อาจเป็นพิษต่อทารก ทำให้เกิดปากแหว่ง เพดานโหว่ และผิดรูปร่างได้
  • ฮอร์โมนเพศ ส่งผลต่อพัฒนาการอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับเพศและการสืบพันธุ์ของทารกให้ผิดปกติได้
  • ยากันชัก เช่น phenytoin, carbamazepam อาจส่งผลผิดปกติต่อหัวใจ รูปใบหน้า ปัญญาอ่อนได้
  • ยารักษาไมเกรน ergotamine ส่งผลต่อการบีบตัวของมดลูก ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด แท้ง
  • ยาแอสไพริน ชไอบูโพรเฟน เป็นยาแก้ปวดลดไข้ แก้อักเสบ รบกวนการแข็งตัวของเลือด เสี่ยงเลือดออกขณะตั้งครรภ์
  • ยารักษาต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เช่น propylthiouracil อาจทำให้เกิดคอพอกเป็นพิษได้
  • ยาต้านแบคทีเรียกลุ่มเตตราไซคลีน เกาะกระดูกและฟัน ทำให้เด็กมีกระดูกและฟันเหลืองและฟันผุ

ยาระหว่างตั้งครรภ์

ภาพจาก: huffingtonpost

ยา และการใช้ยาที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์

1.ยาลดไข้แก้ปวดที่ถือว่าปลอดภัยที่สุด สำหรับทารกในครรภ์แม่ คือ ยาพาราเซตามอล (อะซีตามิโนเฟน) ในผู้ใหญ่จะใช้ขนาดเม็ดละ ๕๐๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๒ เม็ด ทุก ๔-๖ ชั่วโมง เวลาปวดหรือเป็นไข้

2.ยาลดน้ำมูกแก้แพ้ที่ปลอดภัยที่สุด คือ ยาคลอร์เฟนิรามีน หรือยาเม็ดแก้แพ้อากาศเม็ดสีเหลือง ใช้ขนาดเม็ดละ ๔ มิลลิกรัม ครั้งละ ๑/๒ -๑ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ยาชนิดนี้อาจทำให้ง่วง

3.ยาปฏิชีวนะ ใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน เช่น เพนิซิลลิน-วี แอมพิซิลลิน หรืออะม็อกซีซิลลิน เป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับทารก ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่แพ้ยากลุ่มนี้ เพราะอาจเป็นอันตรายในบางคนที่แพ้รุนแรงที่อาจเสียชีวิตได้

4.ผงเกลือแร่ ใช้ทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ เนื่องจากท้องเสีย ท้องเดิน หรืออุจจาระ

คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?

วัคซีนชนิดฉีด ส่วนใหญ่เป็นชนิดเชื้อตาย ค่อนข้างมีความปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (ตามฤดูกาล และ 2009) วัคซีนป้องกันโปลิโอ วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนป้องกันตับอักเสบบีได้

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวังการฉีดวัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม ไทฟอยด์ หากยังไม่ตั้งครรภ์แต่ฉีดวัคซีนนี้ไปแล้ว ก็ควรเว้นระยะเวลาหลังจากฉีดวัคซีนไปอีก 3 เดือน จึงจะสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย

นอกจากการใช้ยาแล้ว การสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาแผนโบราณที่มีแอลกอฮอลล์ เช่น ยาสตรี ยาดองเหล้า ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อตั้งครรภ์ แอลกอฮอลล์อาจส่งผลให้ลูกในครรภ์มีพัฒนาการช้า หรืออาจมีผลต่อสมองได้

เครดิต: หมอชาวบ้าน ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด, หน่วยคลังข้อมูลยา, สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up