ผ่าคลอดลูก สำหรับแม่ท้องที่ไม่สามารถคลอดแบบปกติได้ รู้ทันภาวะสำลักน้ำคร่ำ ภาวะอันตรายต่อทารกที่อาจเกิดได้สำหรับแม่ท้องใกล้คลอดที่มีข้อบ่งชี้ว่าคลอดยาก
ลูกสำลักน้ำคร่ำตาย!! เหตุคลอดยากแม่ร้องขอ ผ่าคลอดลูก รพ.ชี้ไม่เข้าเกณฑ์
เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2565 เพจสายไหมต้องรอด ได้แชร์ภาพเด็กทารกเสียชีวิต โดยมีข้อความว่า #โรงพยาบาลในจังหวัดปทุมธานี แม่ใจสลาย ทารกน้อยสำลักน้ำคร่ำเสียชีวิต หลังไปคลอดลูกที่ รพ.รัฐแห่งหนึ่ง ใน จ.ปทุมธานี เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยคุณหมอใช้วิธีการวีดีโอคอล มาอธิบายวิธีการทำคลอด ให้พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลช่วยกันทำคลอดอย่างทุลักทุเล ใช้เวลาทำคลอดนานกว่า 3 ช.ม. ตั้งแต่ 12.00 – 15.30 น. แม่พยายามร้องขอให้ผ่าคลอด เนื่องจากแบ่งจนสุดแรงแล้วแต่หัวของทารกก็ยังไม่ออกมา
สุดท้ายผ่านไป 3 ชม. จนแม่หายใจรวยริน คุณหมอที่วีดีโอคอลจึงตัดสินใจให้พยาบาลใช้เครื่องดูดทารกออกมาจากช่องคลอด แต่ไม่ทันการ ทารกสำลักน้ำคร่ำ จนนอนแน่นิ่งไม่รู้สึกตัว ต้องส่งไปรักษาตัวที่ รพ.ปทุมธานี ผ่านไป 2 สัปดาห์ รพ.แจ้งว่าสุดยื้อชีวิต ต้องปล่อยลูกน้อยจากไป พ่อ-แม่ ประสาน #เพจสายไหมต้องรอด ส่งรถรับศพทารกน้อยไปประกอบพิธีทางศาสนาทั้งน้ำตา #แอดขอแสดงความเสียใจด้วยนะคะ #เรื่องนี้ใครควรรับผิดชอบคะ กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สบส. กระทรวงสาธารณสุข??
ที่มา : https://www.facebook.com/saimaitongrot
คลอดยาก…ฝันร้ายแม่ท้อง!!
ภาวะคลอดยาก หรือ คลอดบุตรยาก หรือ คลอดลูกยาก (Fetal dystocia หรือ Dystocia หรือ Obstructed labor) เป็นคำกล่าวรวมๆ หมายถึง การคลอดบุตรที่ไม่ได้ดำเนินไปตามปกติ มีความยากลำบากในการคลอดบุตรทางช่องคลอด ระยะเวลาในการดำเนินไปสู่การคลอดยาวนานกว่าปกติ ซึ่งต้องนำไปสู่การทำหัตถการต่างๆ เพื่อช่วยในการคลอด เช่น ใช้เครื่องดูดสุญญากาศ(Vacuum extraction) การใช้คีมช่วยคลอด(Forcep extraction delivery) และการผ่าตัดคลอด ทำให้มีโอกาสเกิด ผลข้างเคียงหรือผลเสียต่อทั้งมารดา และทารกในภาวะที่มีการคลอดยากเพิ่มมากขึ้นด้วย
อนึ่ง ภาวะคลอดบุตรยากพบได้ในอัตราที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยทั่วไปพบได้ประมาณ 0.3-1%ของการคลอดปกติทางช่องคลอด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีภาวะคลอดบุตรยาก ได้แก่
1. อายุมารดามากหรือน้อยเกินไป ในสตรีที่อายุมากเกินไปนั้น การขยายตัวของเอ็นยึดกระดูกต่างๆ ไม่ดี ทำให้การยืดขยายไม่ดี ส่วนสตรีที่อายุน้อยเกินไป การพัฒนาของกระดูกเชิงกรานยังโตไม่เต็มที่
2. มารดาตัวเตี้ย ช่องเชิงกราน มักจึงมักจะแคบ
3. มารดาอ้วนมากเกินไป
4. มารดามีพยาธิสภาพอย่างอื่นในอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกรังไข่
5. มารดาเคยได้รับการผ่าตัดกระดูกเชิงกรานจึงทำให้ช่องเชิงกรานผิดรูป
6. มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำให้ทารกมีขนาดโตกว่าทารกทั่วไปได้
7. เคยคลอดบุตรตัวโต
8. เคยมีภาวะคลอดบุตรยาก ต้องใช้เครื่องมือหรือหัตถการช่วยคลอดในครรภ์ก่อนๆ
9. มีความผิดปกติของมดลูก เช่น รูปร่างมดลูกผิดปกติแต่กำเนิด รวมทั้งการมีเนื้องอกมดลูกด้วย
เมื่อคุณแม่คลอดยาก การรักษาจะเป็นอย่างไร??
ในกรณีที่แพทย์คาดว่าสามารถให้คลอดทางช่องคลอดโดยไม่เป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารก เช่น ทารกตัวขนาดไม่โตแต่นอนตะแคง แพทย์อาจใช้นิ้วมือหมุนให้ศีรษะทารกกลับมาอยู่ในท่าก้มศีรษะ หรือใช้เครื่องดูดสุญญากาศในการช่วยคลอดศีรษะ ซึ่งสามารถหมุนศีรษะทารกได้ หรือในกรณีทารกนอนหงายอาจใช้เครื่องดูดสุญญากาศ หรือคีมช่วยคลอดศีรษะ ในรายที่การหดรัดตัวของมดลูกไม่ดี แพทย์จะให้ยากระตุ้นการหดตัวของมดลูก ส่วนกรณีที่มีการผิดสัดส่วนชัดเจน แพทย์จะทำการผ่าตัดคลอด
ส่วนมากปัญหาเกิดจากแพทย์วินิจฉัยไม่ได้ว่าจะเกิดภาวะคลอดยากหรือไม่ เพราะบางครั้งเป็นภาวะที่ก้ำกึ่งมาก ทำให้แพทย์ตัดสินใจลำบาก จึงปล่อยให้การคลอดดำเนินต่อไปและเกิดภาวะคลอดยาก หรือจนกระทั่งมีการหยุดชะงักของการคลอด ก็จะพิจารณานำไปผ่าตัดคลอด
การผ่าคลอด นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ที่ปรึกษาราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์และประธานคณะกรรมการเรื่องการผ่าท้องคลอดขององค์การอนามัยโลก อธิบายว่า การผ่าท้องคลอดเป็นหัตถการสำคัญในกรณีที่ไม่สามารถคลอดเองได้ตามปกติ การผ่าคลอดจะใช้ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถมีภาวะครรภ์ที่ปกติ หรือไม่สามารถคลอดเองได้ จำเป็นต้องผ่าคลอดด้วยข้อบ่งชี้ทางสูติศาสตร์ เช่น เด็กท่าก้น หรือเด็กไม่กลับหัว เด็กตัวโต อุ้งเชิงกรานมารดาแคบ ทารกมีความพิการที่ไม่สามารถคลอดเองได้ ปากมดลูกไม่เปิด หรือเปิดช้า หรือทารกมีภาวะหัวใจเต้นช้า เป็นต้น
ที่มา : https://haamor.com
อ่านต่อ >>ทารกสำลักน้ำคร่ำ สาเหตุทำให้ลูกเสียชีวิตจริงหรือ คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่