คุณอาจจะเป็น “โรคฮาชิโมโตะ” โดยไม่รู้ตัวก็ได้
จากข้อมูลของสมาคมไทรอยด์แห่งสหรัฐอเมริกา มีหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกเพียง 10-20% เท่านั้นที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันที่บ่งบอกว่าเป็นโรคฮาชิโมโตะ แต่มีอาการแสดงเป็นเพียงภาวะต่อมไทรอยด์โต (Euthyroid) ซึ่งหมายความว่าต่อมไทรอยด์ทำงานปกติจากการวัดระดับฮอร์โมน TSH (Thyroid Stimulating Hormone ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์) ที่เป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์แบบหนึ่ง ต่อมไทรอยด์ของคุณแม่ท้องกลุ่มนี้ทำงานอย่างปกติในช่วงแรกของการตั้งครรภ์และคุณแม่คงรู้สึกปกติ ทั้งที่ร่างกายโจมตีและทำลายต่อมไทรอยด์ของตัวเองอย่างเงียบเชียบ มีคุณแม่ท้องจำนวนไม่น้อยในกลุ่มนี้ที่จะมีระดับฮอร์โมน TSH สูงกว่าที่เกณฑ์ที่กำหนดระหว่างตั้งครรภ์ในช่วงก่อนจะถึงไตรมาส 3 ก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้
ลำพังเพียงการตรวจระดับฮอร์โมน TSH อาจไม่เพียงพอ
การตรวจที่สามารถใช้วินิจฉัยโรคฮาชิโมโตะได้คือผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ หากคุณหมอไม่ได้สั่งตรวจให้ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่แน่ใจสามารถขอตรวจเพิ่มได้ โดยควรตรวจ 2 อย่าง คือ
- ไทรอยด์เพอร์ออกซิเดส แอนติบอดี (Thyroid Peroxidase Antibodies หรือ TPOAb)
- ไทโรโกลบูลิน แอนติบอดี (Thyroglobulin Antibodies หรือ TgAb)
ภูมิคุ้มกันต่อต้านต่อมไทรอยด์และการแท้ง
ทีมนักวิจัยที่ตีพิมพ์รายงานลงใน British Medical Journal ในปี พ.ศ. 2554 ที่รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาต่างๆ ทั้งหมด 31 ชิ้น ที่มีหญิงตั้งครรภ์ 12,126 รายที่มีความเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต่อต้านต่อมไทรอยด์และการแท้งบุตร พบว่ามีงานวิจัยถึง 28 ชิ้นจาก 31 ชิ้นที่พบว่า ภูมิคุ้มกันต่อต้านต่อมไทรอยด์เพิ่มความเสี่ยงในการแท้งมากขึ้นถึง 290% นักวิจัยให้ความเห็นว่า “แม้ในหญิงตั้งครรภ์ที่ต่อมไทรอยด์ทำงานปกติ งานวิจัยก็ยังรายงานว่าการพบภูมิคุ้มกันต่อต้านต่อมไทรอยด์ โดยเฉพาะไทรอยด์เพอร์ออกซิเดส แอนติบอดี (TPO แอนติบอดี) ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด และยังส่งผลต่อการพัฒนาระบบประสาทของเด็กในอนาคตด้วย”