แพ้ท้อง สัญญาณบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ แต่ไม่ใช่อาการที่จะเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน บางคนอาจไม่มีอาการแพ้ท้องใดๆ เลย ซึ่งอาการแพ้ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน
แพ้ท้อง คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรับมืออย่างไร
คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนต้องเผชิญกับอาการ แพ้ท้อง บางคนแพ้มากไม่สามารถรับประทานอาหารได้ จนร่างกายซูบผอม อะไรคือสาเหตุของการแพ้ท้อง อาการ การรักษา หรือการช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อช่วยให้อาการทุเลาลง สามารถป้องกันอาการไม่ให้เกิดได้หรือไม่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ มาฝากคุณแม่แล้วค่ะ
คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรับมืออย่างไรกับอาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้อง (Morning Sickness) เป็นอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ และอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ เบื่ออาหาร หรืออาการอื่นร่วมด้วย โดยจะพบได้บ่อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และอาการจะเริ่มดีขึ้นแล้วหายไปในช่วงกลางหรือหลังไตรมาสที่ 2 แต่บางรายอาจมีอาการแพ้ท้องตลอดการตั้งครรภ์
อาการแพ้ท้อง
คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีอาการแพ้ท้องแตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าจะมีอาการ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ รู้สึกแสบลิ้นปี่ เบื่ออาหาร เหม็นกลิ่นสิ่งต่าง ๆ เช่น กลิ่นอาหาร น้ำหอม เป็นต้น และอาจมีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลร่วมด้วย
โดยทั่วไปแล้วจะพบว่าคุณแม่เริ่มมีอาการแพ้ท้องรุนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ 4-6 และอาการจะค่อย ๆ บรรเทาลงเมื่อผ่านเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12-14 คุณแม่บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องตลอดช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์ได้
นอกจากนี้ อาการแพ้ท้องอาจถูกกระตุ้นได้ง่ายจากกลิ่น อาหารที่มีรสเผ็ด ความร้อน หรือภาวะน้ำลายมาก ในบางกรณีอาจมีอาการแพ้ท้องได้แม้ไม่มีสิ่งกระตุ้น และอาจเกิดในช่วงใดก็ได้ตลอดวัน แต่มักจะมีอาการในช่วงเช้า
ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการดังนี้
- อาเจียนรุนแรงจนควบคุมไม่ได้
- ปัสสาวะได้น้อยและมีสีเข้มกว่าปกติ หรือไม่ปัสสาวะเป็นเวลามากกว่า 8 ชั่วโมง
- รู้สึกร่างกายขาดน้ำ
- วิงเวียน อ่อนแรง จะเป็นลมเวลาลุกขึ้นยืน
- หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- เจ็บท้อง
- เจ็บหรือมีเลือดออกขณะปัสสาวะ
- น้ำหนักลดลง
อาการแพ้ท้องเกิดจากสาเหตุใด
อาการ แพ้ท้อง มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ โดยในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของอาการแพ้ท้องที่แน่ชัด ส่วนมากมักถูกกระตุ้นจากกลิ่นหรือการรับประทานอาหารบางชนิดได้ง่าย ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจปรึกษากับแพทย์เพื่อหาวิธี บรรเทาอาการแพ้ท้อง ได้ ยกเว้นในผู้ที่มีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง (Hyperemesis Gravidarum) ควรพบแพทย์โดยเร่งด่วน
ทั้งนี้อาการแพ้ท้องมักเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งท้องลูกคนแรก จะมีโอกาสแพ้ได้มากขึ้น ถึงแม้ยังไม่มีผลการพิสูจน์ทางการแพทย์ถึงสาเหตุของอาการแพ้ แต่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากสาเหตุดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่มาจากเด็กทารกในครรภ์และรกทำให้ปริมาณฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้น
- อาจเกิดจากสภาวะทางด้านจิตใจที่มีความเครียด
- สัญชาตญาณการต่อต้านอาหารที่อาจส่งผลต่อเด็กในครรภ์จึงทำให้เหม็นกลิ่นอาหาร
สำหรับคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรง มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่อง อาจมีสาเหตุมาจากอาการของโรคหรือสภาวะอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ อย่างโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือโรคตับ แต่พบได้ค่อนข้างน้อย
คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีโอกาสแพ้ท้องเพิ่มมากขึ้น หากมีปัจจัยดังต่อไปนี้
- เคยมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนจากการเมารถ ปวดไมเกรน ได้กลิ่นหรือการรับประทานอาหารบางชนิด หรือเคยได้รับยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน (Estrogen) ก่อนการตั้งครรภ์
- เคยมีอาการแพ้ท้องจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ๆ
- ตั้งครรภ์ทารกแฝดหรือมากกว่า 1 คนขึ้นไป
นอกจากนี้ หากเคยตั้งครรภ์ทารกเพศหญิง สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการแพ้ท้องอย่างรุนแรง หรือเคยมีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ๆ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่ออาการแพ้ท้องที่รุนแรง
การวินิจฉัยอาการแพ้ท้อง
แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการแพ้ท้องได้จากอาการที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป แต่ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ตั้งครรภ์อาจมีอาการแพ้ท้องที่รุนแรง แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ การตรวจปัสสาวะเพื่อหาภาวะขาดน้ำ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจางและภาวะขาดน้ำ สมดุลเกลือแร่ สารอาหาร หรือวิตามินบางชนิด รวมไปถึงอาจมีการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อตรวจดูพัฒนาการของทารกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่
อ่านต่อ…แพ้ท้อง คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรับมืออย่างไร คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่