โรคซึมเศร้าหลังคลอด – หากคุณสงสัยว่าคนที่คุณรัก กำลังทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คุณควรต้องรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนต่างๆ ซึ่งจะช่วยในการระบุแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในการวินิจฉัยความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น
มีแม่ลูกอ่อนจำนวนไม่น้อยที่ต้องพบเจอกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หลายคนสุขภาพจิตย่ำแย่ถึงขีดสุด ที่น่าเสียใจสำหรับรายที่ไม่สามารถรับมือ หรือรู้เท่าทันโรคได้ ในกรณีร้ายแรงที่สุดพวกเขาอาจเลือกจบชีวิตตัวเองอย่างน่าเศร้าดังที่มีข่าวให้เราได้สะเทือนใจอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น การรู้เท่าทันสัญญาณของโรคซึมเศร้าหลังคลอดจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด
อาการซึมเศร้าหลังคลอดมีได้หลายรูปแบบ เป็นเพราะอาการ และอาการแสดงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งอาจมีความคล้ายคลึงกับลักษณะอาการของภาวะอื่นๆ ได้ ดังนั้นแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะเป็นผู้ที่สามารถวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างชัดเจนที่สุด
แม้ว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสามารถส่งผลกระทบต่อผู้หญิงแตกต่างกันออกไปได้ แต่ก็มีสัญญาณที่ชัดเจนที่ควรรู้ หากคุณสงสัยว่าคนในครอบครัวกำลังเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด ให้ใช้คำแนะนำต่อไปนี้เพื่อค้นหาสัญญาณเฉพาะของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้ป่วยได้
สัญญาณเตือน โรคซึมเศร้าหลังคลอด รู้ก่อนป้องกันได้ ไม่สูญเสีย!
การเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพและพฤติกรรมของผู้ป่วย โรคซึมเศร้าหลังคลอด
สิ่งแรกที่ต้องสังเกตเมื่อมองหาสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คือ การเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพ อารมณ์ และพฤติกรรมที่ผู้ป่วยแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน โดยสิ่งเหล่านี้อาจเป็นๆ หายๆ หรืออาจเป็นแบบเรื้อรังและยาวนาน
หากคุณสังเกตเห็นสัญญาณและรูปแบบต่างๆ ด้านล่างนี้ในคนที่คุณรัก แสดงว่าอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
สัญญาณทางอารมณ์
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความความสุขของผู้ป่วย ดังนั้นควรมองหาสัญญาณทางอารมณ์ของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ต่อไปนี้
- ร้องไห้หนักเป็นเวลานานโดยไม่มีเหตุผล
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากสงบเป็นหงุดหงิดบ่อยๆ
- ฉุนเฉียวหรือหงุดหงิดง่าย
- แสดงความวิตกกังวล และความกลัวจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่เคยทำได้
- แสดงความรู้สึกอับอาย รู้สึกผิดหวัง หรือสิ้นหวังกับชีวิต
- พร่ำบ่นถคงความรู้สึกเศร้าและสิ้นหวังบ่อยๆ
สัญญาณทางจิตใจ
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไม่เพียงส่งผลต่ออารมณ์ของแม่เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของแม่ด้วย นี่คือสัญญาณทางจิตทั่วไปของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด:
- ดูเหมือนไม่มีสมาธิหรือจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
- ลืมง่าย ความจำแย่ลง
- ฟุ้งซ่านง่าย
- ไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เคยทำได้
- จมอยู่กับความคิดลบ คิดว่าตัวเองต้องถูกตำหนิติเตียนจากคนรอบข้างในความผิดปกติที่เกิดขึ้น
สัญญาณทางกายภาพ
เนื่องจากความเครียดทางอารมณ์ และจิตใจจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ผู้ป่วยอาจมีอาการทางร่างกายได้เช่นกัน ได้แก่ อาการทางร่างกายต่อไปนี้
- ปวดศรีษะ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ปวดท้อง
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลียเรื้อรัง
- ความอยากอาหารผิดปกติ อาจกินมากหรือน้อยเกินไป
- นอนไม่หลับหรือง่วงนอนผิดปกติ
สัญญาณทางพฤติกรรม
บางทีสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่สังเกตได้ไม่ยาก คือ การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมอย่างฉับพลัน หากคุณรู้สึกว่าคนที่คุณรักแสดงท่าทีราวกับเปลี่ยนเป็นคนละคน ให้เข้าใจได้เลยว่าอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ ดังนั้นควรสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต่อไปนี้ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้านพฤติกรรม
- เก็บตัว ตีตัวออกห่างจากคู่รัก เพื่อนฝูง และครอบครัว
- ไม่อยากอยู่ลำพังกับลูก
- ไม่สนใจในการดูแลลูก
- ไม่อยากร่วมกิจกรรมตามปกติ เช่น ออกกำลังกาย งานอดิเรก
- แสดงความโกรธเกรี้ยวใส่ผู้อื่นอย่างรุนแรง
- หลีกเลี่ยงงาน และความรับผิดชอบของตัวเอง
ความแตกต่างระหว่าง โรคซึมเศร้าหลังคลอด และ Baby Blues
หากคุณสังเกตเห็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ให้พิจารณาระดับความรุนแรงที่ผู้ป่วยกำลังประสบก่อน เบบี้บลูส์หลังคลอด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในแม่หลายคนหลังคลอด ลักษณะเด่นของอาการคือ การร้องไห้ เหนื่อยล้า และกระสับกระส่าย ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากการคลอดบุตร
เมื่ออาการคงที่อยู่นานกว่าสองสัปดาห์ และรุนแรงขึ้นหรือรุนแรงขึ้นจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย คุณอาจเห็นสัญญาณของบางสิ่งที่รุนแรงกว่าอาการเบบี้บลูส์ การแยกความแตกต่างระหว่าง ซึมเศร้าหลังคลอด และ เบบี้บลูส์ จะช่วยให้คุณและคนที่คุณรักสามารถแสวงหาการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุดก่อนที่อาการจะแย่ลง
สัญญาณที่รุนแรงของโรคซึมเศร้าหลังคลอด
มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ประเภทอื่นๆ ที่รุนแรง ซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและอารมณ์ที่รุนแรง ซึ่งต่อไปนี้เป็นสัญญาณที่รุนแรงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่อาจบ่งบอกถึงชนิดของโรค เช่น โรคตื่นตระหนกหลังคลอด โรคย้ำคิดย้ำทำหลังคลอด(OCD) อาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง (PTSD) และ โรคจิตหลังคลอด
- พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ เช่น ทำความสะอาดและเปลี่ยนเสื้อผ้าของทารก
- ทุกข์ทรมานจากอาการ “ตื่นตระหนก” ด้วยอาการทางกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ และแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
- มีความคิดที่ที่จะทำร้ายทารก และตกใจกับความคิดเหล่านี้
- กลัวว่าตัวเองจะควบคุมความคิดตัวเองไม่ได้หรือกำลังจะเป็นบ้า
สัญญาณของโรคจิตหลังคลอด
- เห็นภาพหลอน ภาพลวงตา และความสับสน
- ความหวาดระแวงอย่างสุดขั้ว
- การแสดงความคิดทำร้ายตัวเอง
- การแสดงความคิดที่เป็นอันตรายต่อลูก
- ความคิดหรือการกระทำเพื่อฆ่าตัวตาย
- ความคิดหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับการทำร้าย หรือฆ่าลูก
หากคุณสังเกตเห็นสัญญาณที่รุนแรงเหล่านี้ ให้แจ้งแพทย์ทันทีเนื่องจากมีเพียงแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเท่านั้นที่สามารถวินิจฉัยได้
สิ่งที่ต้องทำ
หากคุณสังเกตเห็นสัญญาณต่างๆ ข้างต้น ของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ทั้งทาง จิตใจ กายภาพ และพฤติกรรม ของคนในครอบครัว ต่อไปนี้คือเคล็ดลับบางประการสำหรับสิ่งที่คุณต้องทำ
- หมั่นสังเกตสัญญาณผิดปกติ
- บันทึกวัน และเวลาที่พบเห็นความผิดปกติ
- ประเมินความยั้งคิดในพฤติกรรมของผู้ป่วย
- ให้ทำแบบทดสอบคัดกรอง
- นัดหมายกับแพทย์เพื่อส่งตัวผู้ป่วยรักษา
- ถามเกี่ยวกับตัวเลือกการรักษารวมทั้งยา และการรักษา
ด้วยความช่วยเหลือและการสนับสนุนของคุณในการเฝ้าดูสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คุณสามารถมั่นใจได้ว่าคนที่คุณรักจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมตามที่เธอต้องการเพื่อฟื้นตัวจากสภาวะเลวร้ายนี้
จะเห็นว่าการให้ความสำคัญกับสุขภาพทั้งกายและใจ ด้วยการ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และหาทางแก้ไขและป้องกันอาการเจ็บป่วยต่างๆ คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขตามปกติที่ควรเป็นจากการได้รับการรักษาและดูแลที่เหมาะสม
ความรักความเอาใจใส่ของคนในครอบครัวคือหัวใจสำคัญที่จำทำให้ทั้งสุขภาพกายและใจของคนในครอบครัวปราศจากทุกข์ภัยไข้เจ็บ เช่นเดียวกันสำหรับบ้านที่มีลูกเล็ก การหมั่นดูแลเอาใจใส่ สุขภาพความเป็นอยู่ตลอดจนพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกก็สำคัญไม่แพ้กันเมื่อพ่อแม่มีความสุขลูกก็จะมีความสุขจากการได้รับการดูแลที่ดี ตลอดจนการปลูกฝังเสริมสร้างนิสัยให้เด็กๆ เห็นความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี จากวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันก็จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กๆ เกิดความฉลาดที่รอบด้านด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี HQ ช่วยให้เด็กๆ ห่างไกลโรคไม่เจ็บป่วยง่าย มีพัฒนาการที่ดีสมวัย และนำมาซึ่งความสุขของทุกคนในครอบครัวค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : postpartumdepression.org , webmd.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วิจัยล่าสุดเผย! คนท้องอ่อนตากแดด ลดความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้!
คุมอาหารมากไป! คนท้องน้ำตาลต่ำ ระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายไหม?
ทำความรู้จัก ฮอร์โมนคนท้อง ทำไมท้องแล้วฮอร์โมนพลุ่งพล่าน!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่