เรื่องปากต่อปากของแม่ท้อง เชื่อหรือไม่เชื่อดีนะ? (ไตรมาส 2) - Amarin Baby & Kids

เรื่องปากต่อปากของแม่ท้อง เชื่อหรือไม่เชื่อดีนะ? (ไตรมาส 2)

Alternative Textaccount_circle
event

“ความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งครรภ์” เรื่องไม่เล็กไม่ใหญ่ ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่กลับยิ่งเข้าหูเมื่อตั้งครรภ์ เพราะหลักใหญ่ใจความของเรื่องว่ากันว่า ปากต่อปากกันนั้นมุ่งหวังให้ทั้งแม่ท้องและลูกน้อยสุขภาพดี คราวนี้เรามาต่อกันที่ไตรมาส 2 ค่ะว่ามีความเชื่ออะไรกันบ้าง

ไตรมาสสอง ว่าด้วย “นานาสารพันสุขภาพลูก”

1. ว่ากันว่า “ถ้าไม่อยากให้ลูกคลอดมา มีไขเต็มตัว แม่ท้องต้องไม่กินไข่ หรืออาหารที่มีไขมันมาก เพราะจะทำให้ทารกมีไขตามตัวและคลอดยาก แต่ให้กินน้ำมะพร้าวจะได้ล้างไข”

ความเชื่อนี้ไม่จริงเลยค่ะ อาหารที่มีไขมัน ไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดไขที่ตัวทารกแรกคลอดแต่อย่างใด

ไขที่ห่อหุ้มตัวทารกในครรภ์ (vernix) นั้นเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไขนี้คือชั้นผิวหนังของทารกที่หลุดออกมาเมื่อทารกมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์เพียงพอ นอกจากนี้ในกรณีที่คุณแม่เจาะน้ำคร่ำแล้วเจอไข ยังเป็นสัญญาณที่ดี เพราะแสดงว่าทารกนั้นจะคลอดตามกำหนด ในขณะที่ทารกคลอดก่อนกำหนดจะไม่มีไขห่อหุ้มร่างกาย

ไขที่ห่อหุ้มร่างกายทารกจะยิ่งมีมากขึ้นเมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่า เด็กสมบูรณ์พอที่จะออกมาสู่โลกภายนอก และเมื่อคลอดแล้วก็เช็ดทำความสะอาดได้หมด ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำมะพร้าวให้ลดการเกิดไขหรืองดอาหารที่มีโปรตีนอย่างไข่หรืออาหารที่มีไขมันอย่างที่ว่ามาค่ะ

2. ว่ากันว่า “อย่ากินไข่ และข้าวเหนียวนะ แผลผ่าคลอดจะเป็นหนองและหายช้าด้วย”

ไข่เป็นแหล่งของโปรตีน ส่วนข้าวเหนียวก็ให้คาร์โบไฮเดรตค่ะ ต่างก็มีคุณค่าทางอาหาร ช่วยสมานแผล และทำให้ร่างกายคุณแม่มีภาวะทางโภชนาการปกติ เพียงแต่ควรกินอาหารอย่างระมัดระวัง ไม่ปล่อยให้อ้วนเกินไป

“ส่วนการที่แผลผ่าคลอดจะเป็นหนอง ติดเชื้อหรือไม่นั้นมีปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ แม่ท้องเป็นเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย คุณแม่ที่อ้วนหรือมีน้ำหนักมากอยู่แล้ว มีโอกาสที่แผลจะหายช้า เป็นต้น”

3. ว่ากันว่า “อัลตราซาวนด์บ่อยไม่ดีกับลูกน้อยนะ”

อัลตราซาวนด์เป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงที่ส่งเข้าไปในท้อง เพื่อสะท้อนให้เกิดเป็นภาพทารก เป็นวิธีการตรวจเพื่อดูอายุครรภ์และติดตามการเจริญเติบโตของทารกว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ อย่างไร

“แม้ยังไม่มีรายงานใดๆ เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากการทำอัลตราซาวนด์ แต่คุณหมอก็แนะนำให้ทำเท่าที่จำเป็น และในหลายๆ กรณีก็จำเป็นต้องอัลตราซาวนด์บ่อย เช่น ทารกในครรภ์ตัวเล็กมาก อาจต้องอัลตราซาวนด์ทุกสัปดาห์ เพื่อดูการไหลเวียนของเลือด

“นอกจากนี้การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ได้พัฒนาจากการเห็นภาพทารกในครรภ์แบบ 2 มิติ มาเป็น 4 มิติในปัจจุบัน ทำให้เห็นหน้าตาและความเคลื่อนไหวของทารก ช่วยให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าลูกน้อยสมบูรณ์แข็งแรงดี”

4. ว่ากันว่า “สวีทวี้ดวิ้วระหว่างท้อง อันตรายถึงตัวเล็กนะ!”

“การมีเพศสัมพันธ์ไม่ถือเป็นข้อห้ามของคุณแม่ท้อง สามารถมีได้ตามปกติค่ะ ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการกดทับบริเวณหน้าท้อง และเป็นข้อยกเว้นในรายที่มีภาวะความเสี่ยง เช่น เคยมีภาวะเจ็บท้องคลอดก่อนอยู่แล้วหรือรกเกาะต่ำ เพราะจะส่งผลต่อการบีบตัวของมดลูกและกระตุ้นให้เกิดการเจ็บท้องคลอด”

 

อ่านเพิ่มเติม ไตรมาส 1 | ไตรมาส 3

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ.ณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลราชวิถี และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center

บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up