-
แพ้ท้องก็ส่งผล
สุขภาพฟันคุณแม่ท้องก็เกี่ยวข้องกับการแพ้ท้องด้วยค่ะ เพราะในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ซึ่งคุณแม่มักจะแพ้ท้อง มีอาการอาเจียน ซึ่งการอาเจียนนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำย่อยจากกระเพาะซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดออกมาทำลายผิวเคลือบฟันได้ด้วย
-
สุขภาพช่องปากไม่ดี มีหินปูน
หากสภาพช่องปากคุณแม่มีหินปูนอยู่แล้วหรือใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ และไม่ได้รักษาสุขภาพช่องปากให้ดี จะยิ่งส่งผลทำให้เหงือกของคุณแม่มีปัญหา และทำให้เสี่ยงต่อการมีปัญหาปวดฟัน ฟันผุขณะตั้งครรภ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ด้วยสาเหตุต่างๆ เหล่านี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แม่ท้องต้องได้รับการดูแลรักษาทางทันตกรรมอย่างเหมาะสมและใกล้ชิดนะคะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
คนท้อง ทำฟัน อย่างไร
-
คนท้อง ทำฟัน ไตรมาสแรก
หากคุณแม่ท้องในช่วง 3 เดือนแรก มีปัญหาเรื่องฟันจริงๆ การทำทันตกรรมใดๆ ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นี้ ส่วนใหญ่จะทำเฉพาะกรณีที่จำเป็นหรือที่ทำง่ายๆ ไม่ซับซ้อนยุ่งยากเท่านั้น เช่น การอุดฟัน การขูดหินปูน เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงแรกมักจะมีอาการแพ้ท้อง ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว การทำฟันจึงอาจทำให้คุณแม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ทำฟันไม่ได้นาน หรือทำฟันได้ไม่สะดวก
** หากมีการถ่ายภาพรังสีเอ็กซเรย์ฟัน คุณแม่จะต้องได้รับการปกป้องร่างกายและครรภ์จากเสื้อตะกั่ว เพื่อป้องกันรังสี และวิธีการนี้จะทำเฉพาะกรณีจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
-
คนท้อง ทำฟัน ไตรมาสที่สอง
การรักษาฟันและเหงือกที่ยุ่งยากขึ้นและต้องใช้เวลานาน เช่น การใส่ฟันปลอม การรักษารากฟัน การอุดฟันยากๆ การรักษาโรคเหงือกที่รุนแรง ควรจะทำการรักษาในระยะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ในช่วง 4 ถึง 6 เดือน เพราะเป็นช่วงที่คุณแม่ไม่ค่อยมีอาการแพ้ท้อง และร่างกายเริ่มปรับเปลี่ยนต่อการตั้งครรภ์ได้ดี รวมถึงท้องคุณแม่ก็ยังไม่ใหญ่มากจนทำให้รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง เวลาที่ต้องนอนทำฟันค่ะ
-
คนท้อง ทำฟัน ไตรมาสที่สาม
สำหรับในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวในการนอนราบนานๆ เพื่อทำฟัน จึงควรหลีกเลี่ยงการทำฟันในช่วงนี้ ยกเว้นกรณีจำเป็นจริงๆ ก็อาจทำทันตกรรมได้ โดยทำในแบบที่เป็นการรักษาง่ายๆ และต้องทำในช่วงเวลาสั้นๆ และต้องพลิกตัวบ่อยๆ