อาการ เชื้อราในช่องคลอด
อาการ เชื้อราในช่องคลอด เริ่มและเด่นชัดที่สุด คือ คันและมีตกขาวมากผิดปกติ ลักษณะเป็นแป้งๆขาวๆ ไม่มีกลิ่นเหม็น อาจมีอาการคันลึกๆ เข้าไปในช่องคลอด อาจมีอาการแสบขณะปัสสาวะเพราะเกิดจากการเกา ผิวหนังบริเวณปาดช่องคลอดถลอd เมื่อโดนปัสสาวะจึงทำให้แสบ
Must read : ตกขาวแบบไหนอันตราย
Good to know : ตกขาวที่ปกติ สร้างมาจากต่อมที่ปากช่องคลอดและปากมดลูก รวมทั้งยังสร้างมาจากผนังช่องคลอดด้วย ตกขาวจากแหล่งต่างๆ จะมารวมกันในช่องคลอดเพื่อทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น หล่อลื่นช่องคลอด ช่วยขับสิ่งแปลกปลอม ฆ่าเชื้อโรคที่เข้าไปในช่องคลอด และปรับสภาพความเป็นกรดด่างในช่องคลอดให้สมดุล
ซึ่งมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่มีการติดเชื้อราโดยไม่มีอาการอะไรเลย ที่รู้ว่ามีเชื้อราก็เพราะเผอิญไปตรวจภายในด้วยเหตุอื่น เช่น ไปตรวจภายในประจำปีหรือตรวจเนื้องอกมดลูก ผู้หญิงกลุ่มนี้อาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษาอะไรก็ได้ เพราะเชื้อราที่ไม่ก่ออาการพวกนี้ ส่วนมากก็จะถูกตกขาวขับทิ้งออกไปจากร่างกายได้เอง แต่มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่เมื่อได้รับเชื้อราเข้าไปในช่องคลอด มันจะเจริญเติบโตต่อไป ในระยะแรกจะมีรูปร่างคล้ายดอกเห็ด (blastospore) ซึ่งยังไม่ทำให้เกิดอาการอะไร แต่ถ้าไม่ได้รับยารักษา เชื้อราจะเจริญต่อไปกลายรูปร่างเป็นสายยาวๆ (mycelia) ซึ่งสามารถแทรกเข้าไปในผนังช่องคลอดได้ ถึงขั้นนี้จะเริ่มมีอาการคัน
บางคนอาจทนเอาเพราะอายที่จะไปตรวจภายใน แต่พอทิ้งไว้ไม่นานอาการคันกลับมากขึ้นจนทนไม่ไหว เลยเลิกอายรีบไปหาหมอเพื่อตรวจภายในก็มี นอกจากคันแล้วลักษณะของตกขาวที่มีก็จะเปลี่ยนไปด้วย จากที่เคยเป็นมูกใสๆ หรือขาวขุ่นๆ ก็จะกลายเป็นคล้ายนมที่เด็กอวกออกมา (curd) แต่ของบางคนมีลักษณะคล้ายแป้งก็มี
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องคลอดที่พบบ่อย ได้แก่
- ภาวะตั้งครรภ์เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณสารไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสในช่องคลอดสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้เชื้อรามีการเจริญเติบโตดีขึ้น นอกจากนี้ปริมาณฮอร์โมนที่สูงขึ้น ก็จะทำให้เชื้อรามีปริมาณมากขึ้นเช่นกัน
- โรคเบาหวานโดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมโรคไม่ดี
- การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานเกินไป จะไปทำลายเชื้อต่างๆที่ทำให้เกิดภาวะสมดุลของ เชื้อราในช่องคลอด ทำให้เชื้อราเพิ่มปริมาณมากขึ้น
- การรับประทานยาสเตียรอยด์เพราะจะลดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
- ผู้ป่วยที่มีโรคภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่อง หรือโรคเอดส์
- การใส่กางเกงที่คับมากและอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น
- ภาวะที่คู่นอนมีการติดเชื้อรา
นอกจากนี้ การใช้ผ้าอนามัยไม่ถูกวิธี คือการใส่ผ้าอนามัยแผ่นเดียวเป็นเวลานานๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าอนามัย การใส่กางเกงยีนส์ที่คับแน่น การอยู่ในที่ร้อนชื้นเป็นเวลานาน การฉีดน้ำชำระล้างช่องคลอดและทำความสะอาดไม่ถูกต้อง การที่ช่องคลอดมีความอับชื้น และการใส่กางเกงในที่เปียกหรืออับชื้น ก็จะทำให้เกิดโรคเชื้อราได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
ซึ่งผู้หญิงทุกกลุ่มอายุสามารถพบได้เท่าๆ กัน ถึงแม้ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนก็พบได้ หากเชื้อได้ลุกล้ำเข้าไปในช่องคลอด จะทำให้เกิดอาการคันจิ๊มิ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตและลุกลามเข้าไปลึกเรื่อยๆ
โรคเชื้อราในช่องคลอด ขณะตั้งครรภ์มีผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่?
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะพบเชื้อราได้มากกว่าผู้หญิงทั่วไปที่ไม่ตั้งครรภ์ เพราะร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากกว่า โดยอาการที่พบได้แก่ ตกขาวผิดปกติ มีอาการคัน ซึ่งเมื่อช่องคลอดมีความอับชื้น อาจพบอาการได้มากกว่ากลุ่มผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ส่วนการรักษาใช้วิธีเดียวกับในกลุ่มผู้หญิงไม่ตั้งครรภ์
อ่านต่อ >> “การรักษาและป้องกันการเกิดเชื้อราในช่องคลอด” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่