สูติแพทย์มีการตรวจอย่างไร อย่างที่ทราบผู้หญิงเรามักจะอายกับเรื่องนี้มาก แต่เพื่อความปลอดภัย คุณหมอจะทำการตรวจโดยการตรวจภายในและนำเอาตกขาวไปส่องกล้องหาเชื้อ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำตรงอาการ
√ การรักษา เชื้อราในช่องคลอด
ยารักษา เชื้อราในช่องคลอด มีทั้งยาทา และยาเม็ดสำหรับเหน็บ และยารับประทาน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ใช้ 1 วัน 3 วัน หรือ 7 วัน ขึ้นอยู่กับตัวยาที่แพทย์เลือกใช้ และอาการของโรคที่ตรวจพบ
หลาย ๆ คนมีอาการคัน ๆ หาย ๆ ไม่หายขาด เกิดจากอะไร ก็อย่างที่แนะนำไว้ข้างต้นว่า ควรให้เเพทย์ตรวจหาเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการคัน จะได้รักษาอย่างถูกต้อง หลายๆคน ซื้อยาใช้เองหรือใช้ผิดวิธี ทำให้เชื้อรายังคงอยู่ จึงมีอาการคันๆหายๆรบกวนจิตใจ เกิดจาก
- ใช้ยาปฏิชีวนะฤทธิ์ของยาไปทำลายเชื้อที่มีประโยชน์ในช่องคลอด ทำให้เชื้อราลุกล้ำเข้าไปได้ง่าย
- สวนล้างช่องคลอดเป็นการทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่ผิดมากๆ การสวนล้างทำให้เชื้อที่มีประโยชน์ในช่องคลอดที่คอยจับกินเชื้อต่างๆลดลงไป เชื้อราจึงลุกล้ำเข้าไปในช่องคลอดของคุณได้ง่ายขึ้น
- เป็นโรคโรคบางอย่างที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำลง เช่น HIV เบาหวานที่ควบคุมไม่ดี หรือ คนที่ได้ยากดภูมิ ยาต้ม ยาหม้อ ยาเถื่อน ต้องระวัง
ซึ่งเมื่อทราบการดูแลที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์แล้ว ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พบแพทย์ดีกว่าหาซื้อยาทาเองนะคะ ใน 1 ปีหากคุณมีอาการคันในช่องคลอดมากกว่า 4 ครั้งควรพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหาความผิดปกติค่ะ
วิธีป้องกัน และ ดูแลตัวเองให้ห่างไกลเชื้อรา
อย่างไรก็ตาม จากที่กล่าวมาว่า เชื้อราในช่องคลอด ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับคุณผู้หญิง ที่นอกจากจะส่งผลถึงสุขภาพและอนามัยแล้ว ยังส่งผลต่อบุคลิกภาพที่คงจะไม่ดีแน่ ๆ ถ้าคุณเกิดอาการคันในร่มผ้าในที่สาธารณะ ฉะนั้นป้องกันไว้ก่อนเป็นดีที่สุด ดังนั้นจึงมีวิธีการดูแลตัวเองเพื่อให้คุณปลอดจากอาการอันไม่พึงประสงค์ให้หงุดหงิดใจมาให้
1. กินโยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์ เพื่อเพิ่มแลคโตบาซิลลัสในช่องคลอด จะสามารถช่วยลดอัตราการเป็นเชื้อราในช่องคลอดได้
2. กินอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลทีมีดัชนีไกลซีมิกต่ำ เพื่อให้น้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นที่ละน้อย และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ภาวะแพ้อาหารทำให้อาการของโรคแย่ลง
3. หลีกเลี่ยงกางเกงชั้นในที่นัดแน่น ควรสวมใส่เสื้อผ้าสบาย
4. การทำความสะอาด ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำสะอาดเท่านั้น เพราะการใช้น้ำยาเพื่อทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น ถ้าใช้นานก็อาจทำให้ความเป็นกรดด่างในช่องคลอดเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุทำให้มีเชื้อราขึ้นได้
5. ดูแลชุดชั้นในของคุณให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ และควรตรวจตราคอยเคลียร์ชั้นในตัวเก่าที่ซุกอยู่ก้นตู้เพราะอาจมีสปอร์ติดอยู่ด้วยค่ะ
6. ใส่ผ้าอนามัยระหว่างมีประจำเดือน ก็ควรต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ และหากไม่ได้อยู่ในช่วงรอบเดือนก็ไม่ควรต้องใส่ผ้าอนามัย เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นมากกว่า
7. ลดของหวาน การกินของหวานหมายถึงการที่คุณจะมีปริมาณน้ำตาลในเซลล์ต่าง ๆ เยอะขึ้น ซึ่งพบว่าเป็นอาหารโปรดของเชื้อรา ทำให้เจริญเติบโตได้ดี คนไข้ที่เป็นเชื้อราในช่องคลอดบ่อย ๆ คุณหมอก็จะให้หลีกเลี่ยงน้ำตาลและของหวาน
8. ระวังการกินยา เพราะสำหรับคนที่กินยาแก้อักเสบ กินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน หรือได้รับยาประเภทกดภูมิคุ้มกัน เช่นโรคเลือดหรือการทำเคมีบำบัดนั้น จะส่งผลให้แบคทีเรียในช่องคลอดลดลง ทำให้ความสมดุลกรดด่างในช่องคลอดเปลี่ยนไป เชื้อราก็จะเจริญเติบโตขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดเชื้อราในช่องคลอดได้ง่าย
9. ผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดเป็นสาเหตุให้โรคกำเริบ
อาการคันในที่ลับ นับเป็นเรื่องน่าอายสำหรับผู้หญิง ไม่กล้าปรึกษาหรือบอกกล่าวกับใคร เพราะเกรงว่าจะถูกมองเป็นคนสรกปรก แต่หากคุณผู้หญิงมีอาการเหล่านี้อยู่ ให้สงสัยว่าคุณอาจเป็นเชื้อราในช่องคลอดค่ะ แต่อย่างซื้อยาทาเองนะคะ เพราะอาการคันดังกล่าวอาจเป็นโรคอย่างอื่นได้เช่นกัน ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของการคันนั้นก่อนค่ะ
และที่สำคัญ เมื่อเป็นเชื้อราในช่องคลอดแล้ว สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีบางส่วนประมาณ 5-8% กลับมาเป็นซ้ำได้อาจเพราะยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความอับชื้น หรือมีภาวะที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เพราะฉะนั้นการดูแลความสะอาดและอนามัยส่วนบุคคลจึงจำเป็น ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำทำความสะอาด ต้องเช็ดให้แห้ง ช่วงที่มีประจำเดือนควรหลีกเลี่ยงการแต่งตัวฟิต รัด กระชับ ควรแต่งตัวเน้นให้โปร่ง โล่ง สบาย เพื่อลดความอับชื้น อันจะนำไปสู่ปัญหาช่องคลอดอักเสบได้
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- เซรั่มกระชับช่องคลอด ผู้หญิงจำเป็นต้องใช้จริงหรือ?
- ตรวจภายใน เรื่องเขินอายที่คุณแม่ควรรู้!! พร้อมวิธีเตรียมรับมือ
- สัญญาณเตือนโรค “มะเร็งรังไข่” ภัยเงียบที่ผู้หญิงควรรู้!
- 10 สัญญาณเตือน มะเร็งปากมดลูก
ขอบคุณข้อมูลจาก :www.si.mahidol.ac.th , haamor.com