Pregnancy 0-13 Weeks “แนะนำน้องให้พี่รู้จักตั้งแต่แม่แพ้ท้อง”
เรื่องจากคุณ Oheem Pj
ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ ชื่อแม่น้ำค่ะ ลูกชายคนโตชื่อ พี่ทะเล อายุ 5 ขวบ ลูกชายคนเล็กอายุ 1 ขวบ 4 เดือน ชื่อน้องอันดามัน กว่าจะรู้ว่ามีน้องคนที่ 2 ในท้องก็ 3 เดือนแล้ว ช่วงนั้นมีอาการแพ้ท้องบ้างค่ะ พอรู้ว่ามีน้องก็ต้องสอนให้พี่ทะเลรักน้อง คุณแม่กับคุณพ่อบอกพี่ชายว่าแม่น้ำมีน้องตัวน้อยๆ อยู่ในท้อง เหมือนพี่ทะเลตอนเด็กๆ เลยครับ ผลตอบรับของพี่ทะเลพอรู้ว่าได้เป็นพี่ก็พูดสั้นๆ ว่า “เลไม่รักน้อง” เป็นแบบนี้อยู่พักใหญ่ค่ะ
แต่พอถึงเวลาตรวจครรภ์กับคุณหมอ แม่ก็พาพี่ทะเลไปด้วย เขาเริ่มมีความเป็นพี่ชายมากขึ้น อยากมีส่วนร่วมในการตั้งชื่อน้อง “ขอตั้งชื่อน้องนะแม่” แม่ก็ตอบว่า “ได้จ้ะลูก” ทำให้ยิ่งรักน้องมากขึ้น และเมื่อคลอดน้องแล้วก็รู้สึกว่าพี่น้อง 2 คนรักกันมาก เชื่อไหมคะ ในยามที่แม่น้ำเป็นยักษ์ดุพี่ชาย น้องชายตัวน้อยๆ จะรีบคลานมานอนทับและเอามือลูบหัวตบตัวพี่ชาย
พี่คนโตบอกว่าไม่รักน้อง เป็นเรื่องธรรมชาติค่ะ ความรู้สึกเด็กจะเหมือนมีคนมาแย่งความรักและทุกสิ่งที่เคยได้ ขาดความมั่นใจในความรักที่ตนเคยได้รับ ครอบครัวต้องใจเย็นและให้เวลาการปรับตัวค่ะ ระมัดระวังการใช้คำพูดเวลาเด็กดื้อ เช่น “ดื้อเดี๋ยวเป็นหมาหัวเน่า, ดูซิน้องไม่เห็นดื้อเลย (น้องยังดื้อไม่เป็นไงคะ)” เป็นต้น กอดและพยายามทำกิจกรรมที่เคยทำกับเด็กให้เหมือนเดิม พ่อหรือแม่ควรให้ความสนใจกับเด็ก บางครั้งอาจต้องอุ้มหรือเอาใจบ้างก่อนแล้วจึงสอนค่ะ เมื่อเด็กปรับตัวได้ ความมั่นใจที่เคยมีกลับมา อาการไม่รักน้องก็จะลดลงค่ะ
…………………………………………………………………………………………………………………………
Pregnancy 14-27 Weeks “ท้องใหม่แล้วแต่คนพี่เพิ่ง 6 เดือน”
เรื่องโดย Ausa Jongsuksai
ตอนท้องคนที่ 2 ลูกคนโตเพิ่งจะ 6 เดือน ยอมรับเลยค่ะว่าเหนื่อย ยิ่งตอนคลอดคนน้องแล้ว ยิ่งอ้อนพ่ออ้อนแม่ เผลอเป็นแกล้งน้องตลอด ตอนให้นมน้อง (กินนมแม่ทั้ง 2 คน) คนโตก็ร้องจะกินบ้างแม่นี่เพลียสุดๆ ค่ะ ต้องผลัดกันกิน คนน้องหลับคนพี่กินต่อ วันๆ ไม่ต้องทำอะไรรบอยู่แต่กับลูก สบายสุดๆ ค่ะ (ร้องไห้) ตอนนี้คนโตอายุได้ 1 ขวบ 5 เดือน ส่วนคนเล็กจะ 3 เดือนแล้วค่ะ
ในทางการแพทย์ จะมีการศึกษาถึงระยะห่างของการมีบุตรพบว่า หากระยะดังกล่าวยิ่งสั้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย คุณหมอจึงขอแนะนำว่า หากเป็นไปได้ ควรเว้นระยะการคลอดอย่างน้อย (จากคลอดคนแรกจนกำหนดคลอดคนที่สอง) ประมาณ 1 ปี โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีความเสี่ยง เช่น คลอดโดยการผ่าตัดคลอด คลอดก่อนกำหนด
แต่บางครั้งคุณแม่ก็มีความจำเป็น เช่น คุมกำเนิดพลาด หรืออายุมากแล้ว คุณหมอขอแนะนำว่า เว้นสักนิดถ้าทำได้ บำรุงร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ ลดน้ำหนักหลังคลอดให้ได้พอสมควร พักผ่อนให้เพียงพอ พบแพทย์ตรวจทางห้องปฏิบัติการเรื่องอาการซีด การติดเชื้อต่างๆ ก่อนที่จะตั้งครรภ์ รับประทานยาโฟลิกก่อนตั้งครรภ์ และรับประทานยาบำรุงเลือดและอาหารที่มีประโยชน์ตลอดการตั้งครรภ์
…………………………………………………………………………………………………………………………
Pregnancy 28-41 Weeks “พี่ไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ไม่อุ้ม”
เรื่องโดยคุณพชรพร เมย์
คนโตได้ 2 ขวบก็ท้องคนที่สองค่ะ พอทราบก็กลัวหลายเรื่อง เรื่องแรกคือ น้องยังกินนมแม่อยู่ (ดูดจากเต้า) ไปปรึกษาคุณหมอ คุณหมอก็บอกให้กินได้ แต่ก็กังวลเพราะเวลาคนโตดูดนม มดลูกก็จะบีบรัดตัว เกรงจะไม่ปลอดภัยกับน้องที่อยู่ในท้อง และเกรงว่าหากน้องออกมาจะแย่งกันดูด เลยตัดสินใจหย่านม
เรื่องที่สองคือ คุณแม่ไม่สามารถอุ้มเขาได้เหมือนแต่ก่อน เขาจะถามตลอดว่าทำไม คุณแม่ต้องค่อยๆ คุยกับเขาว่าเขากำลังจะมีน้อง ให้เค้าคุยเล่นกับน้อง ให้ฟังเสียงหัวใจน้องผ่านเครื่อง พาไปหาหมอด้วยทุกครั้ง
เรื่องสุดท้าย ตอนคลอดคุณแม่ต้องแอบเตรียมของขวัญที่เขาชอบไว้ พอพี่น้องเจอกันครั้งแรก คุณแม่ต้องยื่นของขวัญให้พร้อมกับบอกเขาว่าน้องเกิดมาแล้ว น้องซื้อของขวัญมาให้พี่ด้วย คนพี่เขาจะดีใจและไม่ต่อต้านน้อง แรกๆ อาจจะมีเรียกร้องความสนใจจากคุณแม่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้รักและหวงน้องมากคะ คอยช่วยเอาผ้าอ้อมไปทิ้ง เช็ดน้ำลายให้น้อง ตอนนี้คนเล็กได้ 3 เดือนแล้ว พี่น้องรักกันดีค่ะ คุณแม่ปลื้มใจ
การไม่อุ้มคงไม่ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กโดยตรง อาจจะดีในมุมที่เด็กจะได้ใช้แขนขามากขึ้น แต่ในมุมด้านจิตใจ การไม่อุ้มอาจส่งผลถึงความมั่นใจต่อเด็ก คุณหมอแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรปรับสมดุล อุ้มบ้างในบางครั้ง ให้เด็กมีความมั่นใจต่อความรักที่ตัวเองเคยมี สำหรับเรื่องความเอาใจใส่ ไม่ควรลดลงเลยค่ะ กิจกรรมที่เคยทำกับลูกควรทำให้เหมือนเดิมมากที่สุด บางครั้งแม่อาจต้องแบ่งเวลาจากน้องคนเล็กมาให้พี่คนโตได้อยู่ลำพังกับแม่บ้างจนลูกปรับตัวได้
ในช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์ การให้นมลูกไม่ได้เป็นข้อบ่งห้ามแต่อย่างไร แต่คุณแม่ต้องรับประทานอาหารเพิ่มให้เพียงพอทั้งการสร้างน้ำนม และการตั้งครรภ์ เว้นแต่แม่มีความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น เลือดออก เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด กรณีนี้แนะนำให้งดการให้นมบุตร ในระยะใกล้คลอดก็เช่นกัน หากมีอาการแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์เช่น ท้องแข็ง เลือดออก กรณีเหล่านี้ควรเลี่ยงการให้นมเช่นกันค่ะ
ที่ปรึกษา : รศ.พญ.ธารางรัตน์ หาญประเสริฐพงษ์ สูติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และที่ปรึกษาAbout Us Advanced Maternity Center
บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารฯ