ยาสำคัญ บำรุงแม่และลูกน้อย
ยาบำรุงสำหรับแม่ท้องมีวางขายอยู่มากมายหลายขนาน แต่ยาที่มีประโยชน์กับแม่ท้องจริงๆ และหมอแนะนำให้คุณแม่รับประทาน มีเพียงยาบางชนิดเท่านั้นเองค่ะ
- โฟลิกหรือโฟเลต
หมอแนะนำให้กิน 0.4 มิลลิกรัมต่อวันตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 1 เดือน ไปจนถึง 3 เดือนหลังตั้งครรภ์ ยาตัวนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการพิการบางอย่างได้ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ หรือท่อประสาทสันหลังไม่ปิด อีกทั้งยังเป็นยาที่ช่วยบำรุงระบบประสาทของลูกด้วยค่ะ
- ยาเสริมธาตุเหล็ก
มีผลการวิจัยทางการแพทย์รองรับว่าสำคัญกับแม่ท้องอย่างมาก เนื่องจากลูกดึงธาตุเหล็กของคุณแม่ไปใช้ตลอดเวลา และในร่างกายแม่ท้องจะมีปริมาณน้ำเลือดเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เม็ดเลือดยังเท่าเดิม ทำให้คุณแม่เกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก ยาเสริมธาตุเหล็กจึงไปช่วยในการสร้างเม็ดเลือดให้คุณแม่ แต่ปัญหาอยู่ที่การกินธาตุเหล็กอาจไปเพิ่มอาการคลื่นไส้อาเจียนในช่วงไตรมาสที่ 1 หมอจึงแนะนำให้กินธาตุเหล็กในไตรมาสที่ 2 ขึ้นไปจนหลังคลอด คุณแม่จะได้สามารถเสียเลือดในระหว่างคลอดได้โดยที่ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนค่ะ นอกจากนี้ธาตุเหล็กอาจส่งผลข้างเคียงได้บ้าง เช่น ทำให้คลื่นไส้ ถ่ายดำ หรือท้องผูก แต่ก็มีความสำคัญและแม่ท้องจำเป็นต้องกินค่ะ
- ยาเสริมแคลเซียม
แม่ท้องต้องการแคลเซียมประมาณ 1000 มิลลิกรัมต่อวัน หากคุณแม่ได้รับแคลเซียมจากอาหารที่กินอยู่เพียงพอ หมอจะไม่แนะนำให้กินเสริมอีกค่ะ อาหารที่มีแคลเซียมสูงนอกจากนม ยังมีผักใบเขียว กุ้งหรือปลาตัวเล็ก เต้าหู้ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ กะปิ ฯลฯ คุณแม่บางคนเข้าใจว่าแคลเซียมมาจากนมอย่างเดียว ก็จะพยายามกินนมเยอะๆ ทำให้ร่างกายได้รับอาหารประเภทนมมากเกินไป ส่งผลให้เด็กแพ้นมวัวกันมากมายอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเลือกกินอาหารที่มีแคลเซียมให้หลากหลายและกินสลับกันไปดีกว่าค่ะ
ซื้อยาบำรุงกินเอง ต้องระวังอันตราย
วิตามินบางอย่างหากได้รับมากๆ อาจมีผลเสียได้ โดยเฉพาะยาเสริมวิตามินรวมและน้ำมันตับปลาซึ่งอาจจะมีปริมาณของวิตามินบางชนิดที่มากเกินความจำเป็น และร่างกายไม่ต้องการ โดยเฉพาะวิตามินเอในยารักษาสิวแบบกิน หากคุณแม่ใช้ยาทาแต้มผิวเพียงเล็กน้อยหมอก็ยังอนุโลมให้ใช้ได้ แต่ยากินรักษาสิวหรือโรแอคคิวเทนซึ่งสะกัดจากวิตามินเอเข้มข้น อันนี้หมอขอห้ามเด็ดขาดทั้งในแม่ท้องและแม่ที่กำลังวางแผนจะมีลูก เพราะมีรายงานชัดเจนว่ามีแนวโน้มทำให้เด็กพิการถึง 26 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติค่ะ
ลูกน้อยในช่วงไตรมาสแรกกำลังพัฒนาโครงสร้างร่างกายอย่างต่เนื่อง คุณแม่จึงควรระวังสิ่งที่อาจมากระตุ้นหรือทำให้การพัฒนาโครงสร้างผิดปกติ เช่น การใช้ยา อาหารเสริม หรือวิตามินอื่นๆ ที่ไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะแม้จะเป็นยาบำรุงหรือยารักษาโรคก็มีอยู่หลายกลุ่ม บางกลุ่มปลอดภัย มีผลกระทบต่ำไปจนถึงมีผลกระทบสูง และอันตรายมาก หากคุณแม่อยากกินยานอกเหนือจากที่หมอแนะนำ หรือเจ็บป่วยแล้วมีความจำเป็นต้องกินยารักษาโรค แม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้านทั่วไปก็ควรปรึกษาหมอก่อนนะคะ
แม่ท้องอยากสวย & เฟิร์ม
หมอไม่แนะนำการทำเลเซอร์หรือการฉีดสารต่างๆ เพื่อความงามสำหรับแม่ท้อง เพราะยังไม่มีงานวิจัยรับรองว่าปลอดภัยสำหรับเด็กจริง แต่ครีมหรือโลชั่นทาผิวที่มีมาตรฐานรับรองยังใช้ได้ค่ะ ส่วนการออกกำลังกาย สำหรับคุณแม่ที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีภาวะเสี่ยง ไม่มีโรคประจำตัว ยังทำได้ตามปกติ เพียงแต่ไม่ควรหักโหมเท่าตอนก่อนตั้งครรภ์และหลีกเลี่ยงท่าออกกำลังกายที่เกี่ยวกับข้อต่อ เพราะข้อกระดูกของแม่ท้องจะหลวมกว่าปกติ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการปะทะ การชน การล้ม และการกดทับบริเวณหน้าท้อง การออกกำลังกายที่หมอแนะนำคือ การว่ายน้ำ เพราะน้ำจะช่วยพยุงน้ำหนักให้ไม่เกิดการบาดเจ็บต่อหน้าท้องและข้อต่อต่างๆ โยคะก็ทำได้นะคะ แต่ต้องหลีกเลี่ยงท่านอนคว่ำนอนหงายต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการทับท้องและทับเส้นเลือด ซึ่งอาจทำให้คุณแม่เวียนหัวและความดันตกได้ค่ะ
หมอฝากถึงแม่ท้องมือใหม่
หมอไม่อยากให้คุณแม่กังวลมากจนเกินไป เพราะกระบวนการตั้งครรภ์เป็นเรื่องธรรมชาติ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ซึ่งหากคุณแม่ดูแลตัวเองดีแล้ว แต่ยังมีปัญหาแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ นั่นอาจเป็นสิ่งที่คุณแม่ควบคุมไม่ได้ เพราะการแท้งมีหลายปัจจัย ทั้งเกิดจากตัวเด็กเองที่มีปัญหา ซึ่งหากเด็กไม่มีความสมบูรณ์ เขาก็จะแท้งไปเองเป็นกลไกตามธรรมชาติ คุณแม่เพียงแค่ทำใจให้สบาย ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่เครียด กินอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย กินยาตามแพทย์สั่ง เพียงเท่านี้ก็ถือว่าคุณแม่ทำได้ดีที่สุดแล้วค่ะ
ที่มา: นิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์ ฉบับ มกราคม 2559
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารฯ
ภาพ: Shutterstock