นักวิจัยพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่คลื่นไส้ และมี อาการ แพ้ท้องหนักมาก ในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังตั้งครรภ์มีแนวโน้มจะได้ลูกที่มีไอคิวสูง โดยว่าที่คุณแม่ราว 4 ใน 5 คนมักมีอาการแพ้ท้อง
แม้วงการแพทย์จะยังไม่ค่อยเข้าใจถึงสาเหตุเรื่องของการแพ้ท้องดีเท่าไหร่ แต่ก็เข้าใจว่าอาการแพ้ท้อง เป็นผลจากการปล่อยฮอร์โมนออกมาเพื่อปกป้องสายรก และทารกในครรภ์ซึ่งมีงานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า อาการ แพ้ท้อง คลื่นไส้เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ที่แข็งแรงดี และบ่งบอกว่าทารกมีความเสี่ยงน้อยลงที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ และมีโอกาสน้อยลงที่จะแท้ง
งานวิจัยเรื่อง อาการ แพ้ท้อง
ต่อมานักวิจัยของโรงพยาบาลเด็กในเมืองโทรอนโตของประเทศแคนาดา พบเพิ่มเติมว่า อาการ แพ้ท้อง อาจเชื่อมโยงกับพัฒนาการของสมองของทารกด้วย โดยเผยว่า ผู้หญิงที่แพ้ท้องมากๆ ระหว่างช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ลูกที่ออกมาจะสมองดี พูดจาฉะฉาน
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นครั้งแรกที่ศึกษาผลระยะยาวของอาการคลื่นไส้ที่มีต่อสมองของทารก และได้ติดต่อผู้หญิง 121 รายที่ได้ใช้บริการโทรศัพท์สายด่วนสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์ระหว่างปี 2541-2546 ผู้หญิงในกลุ่มนี้มี 30 รายที่ไม่มีอาการแพ้ท้อง ที่เหลือบอกว่าตัวเองมีอาการเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน นักวิจัยได้วัดไอคิว และทดสอบพฤติกรรมของบุตรของผู้หญิงเหล่านี้เมื่อเด็กมีอายุได้ 3 ปี และ 7 ปี โดยได้รายงานในวารสาร Pediatrics ว่า เด็กที่แม่มีอาการแพ้ท้องมีแนวโน้มที่จะมีคะแนนไอคิวสูงกว่าเด็กที่แม่ไม่มีอาการ
อีกทั้งเด็กเหล่านี้ยังทำคะแนนในหมวดของภาษา คณิตศาสตร์ ได้ดีกว่าด้วย แม้ว่าได้คำนึงถึงตัวแปรอื่นๆ ร่วมด้วยแล้วก็ตาม เช่น ไอคิวของแม่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และภูมิหลังทางสังคม
ซึ่งหัวหน้าทีมวิจัย ยอมรับว่าผลวิจัยนี้ฟังดูแปลกๆ แต่การเปลี่ยนระดับฮอร์โมนอย่างปุบปับซึ่งทำให้แพ้ท้องอาจเป็นเรื่องดี ‘ฮอร์โมนที่หลั่งออกจากสายรกทำให้คุณรู้สึกคลื่นไส้ แต่มันอาจส่งผลดีต่อเด็ก คุณแม่รู้สึกไม่สบายเพราะเรื่องนี้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลดี’ นักวิจัยเชื่อว่า เรื่องนี้ช่วยให้เข้าใจเรื่องการตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น
เมื่อปี 2549 ยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า อาการแพ้ท้องเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ เนื้อ น้ำตาล และน้ำมันมากเกินไป และอาจเป็นวิวัฒนาการเพื่อป้องกันไม่ให้ว่าที่คุณแม่กินอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่พูดต่อๆ กันมาว่า อาการแพ้ท้องเป็นสัญญาณว่าทารกในครรภ์เป็นเด็กหญิง เพราะเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน