ถึงแม้ว่าจะมีการยืนยันแล้วว่า คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถรับประทานยา พาราเซตามอล ได้โดยไม่ส่งผลอันตรายกับลูกน้อยในครรภ์ แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีผลงานวิจัยชี้ชัดแล้วว่า การรับประทานยาพาราเซตามอลติดต่อกันนานเกินไปนั้น สามารถส่งผลกระทบกับลูกน้อยในครรภ์ได้จริง
เอลวินด์ สตรอม นักวิจัยชาวนอร์เวย์ จากสถาบันวิจัยสุขภาพในกรุงออสโล กล่าวว่า ตนเองไม่ใช่คนแรกที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ โดยก่อนหน้าก็ได้มีบทความวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังสถาบันอื่นๆ ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้แล้ว
เอลวินด์ ได้ทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กราว 113,000 คน พบว่า เด็กที่แม่รับประทานยาพาราเซตามอลตอนตั้งครรภ์นั้น มีพฤติกรรมที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคสมาธิสั้น มากกว่าเด็กที่แม่ไม่ได้รับประทานยาเลย
พาราเซตามอล ทำลูกสมาธิสั้นได้อย่างไร?
เอลวินด์ กล่าวว่า พาราเซตามอล มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Acetaminophen สามารถส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์ได้ หากแม่ตั้งครรภ์ รับประทานยาพาราเซตามอลนานติดต่อกันมากจนเกินไป หรือในช่วงระหว่างตั้งครรภ์นั้นใช้ยาแก้ปวดกลุ่มนี้มากกว่าปกติ
คริสตินา แชมเบอร์ หนึ่งในผู้บริหารของมหาวิทยาลัยแคลอฟอร์เนีย ซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงอยู่ที่งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า 2 ใน 3 ของเด็กที่คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานยาพาราเซตามอลนั้นเป็นโรคสมาธิสั้น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความถี่ และปริมาณการรับประทานยาของคุณแม่ในขณะตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวนี้ เป็นผลการวิจัยจากการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 29 วัน หรือมากกว่านั้น ถือเป็นการบริโภคยาที่มากเกินไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะทำให้ความเสี่ยงนี้ส่งผลกระทบไปยังลูกในครรภ์
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากตัวยาในพาราเซตามอลนั้นมีสารบางอย่างที่ส่งผลกับเซลล์ประสาท และการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรืออาจเป็นพิษโดยตรงต่อทารกในครรภ์ที่ยังไม่มีความสามารถในการเผาผลาญตัวยาชนิดนี้ได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่ ทำให้เซลล์เมมเบรนเสียหายและไม่สามารถทำงานได้ปกติ
โดยทั่วไปแล้ว การใช้ยาพาราเซตามอลในคนทั่วไป หรือแม้แต่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ มีข้อห้ามในการใช้ยาที่เหมือนกันคือ ไม่ควรกินยาพาราเซตามอลติดต่อกันนานเกิน 5-7 วันหรือเกินขนาดนั่นเอง