ทำความเข้าใจกับภาวะรกเกาะต่ำ
รกเกาะต่ำ หรือภาวะรกเกาะต่ำ หมายถึง ภาวะที่รกเกาะอยู่ที่ผนังมดลูกส่วนล่าง ใกล้กับปากมดลูก หรือปิดขวางปากมดลูก ซึ่งโดยปกติแล้วการตั้งครรภ์โดยทั่วไป รกควรจะเกาะอยู่ที่ผนังส่วนบนค่อนไปทางด้านหลังของโพรงมดลูก ทำให้ไม่มีสิ่งกีดขวางทางคลอดของทารก (บริเวณนี้เนื้อมดลูกจะหนา เลือดมาเลี้ยงได้ดี) แต่ถ้ารกเกาะอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูกหรือคลุมมาถึงด้านในของปากมดลูก จะเรียกว่า “ภาวะรกเกาะต่ำ” ซึ่งถือเป็นภาวะที่ไม่ปกติ ส่งผลให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนี้น้อย จึงทำให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
ซึ่งภาวะที่ว่านี้ พบได้ในหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 1 ใน 200 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วหรือคลอดหลาย ๆ ครั้ง (ยิ่งครรภ์หลัง ๆ จะยิ่งมีโอกาสพบได้มากขึ้น) หรือในครรภ์แฝด รวมถึงคุณแม่ที่มีความผิดปกติของปากมดลูก เช่น มีก้อนเนื้องอกในมดลูกหรือมีแผลเป็นที่ตัวมดลูก หรือเคยมีประวัติผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องมาก่อนก็อาจทำให้การเกาะตัวของรกกับผนังมดลูกผิดปกติไป เมื่อคุณแม่ใกล้คลอดจึงมักทำให้เกิดอาการตกเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
อาการที่พบ :
สำหรับความผิดปกติของภาวะรกเกาะต่ำนั้น จะไม่กระทบกระเทือนต่อการตั้งครรภ์ในระยะแรกๆ แต่เมื่อคุณแม่เข้าสู่ระยะใกล้คลอด มดลูกจะเริ่มมีขนาดใหญ่มากขึ้น ปากมดลูกก็จะเริ่มบางและยืดขยายออก ทำให้รกที่เคยเกาะแน่นนั้นมีรอยปริ และเกิดการแยกตัวจากบริเวณปากมดลูก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รกเกาะ จึงเป็นสาเหตุให้คุณแม่มีเลือดออกเป็นพัก ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บท้องแต่อย่างใด ส่วนใหญ่แล้วจะพบมากในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งในระยะแรกหรือในระยะที่เป็นนั้น เลือดจะออกไม่มาก หรืออาจจะออกน้อยจนแทบไม่มีเลยก็ได้ค่ะ นั่นหมายถึงคุณแม่สามารถคลอดลูกได้ตามปกติค่ะ แต่หากคุณแม่ตกเลือด มีเลือดไหลออกมากจนเกินไปนั้น อาจทำให้เกิดภาวะช็อก หรืออาจทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน และเสียชีวิตในครรภ์ได้