เตือน!! คนท้องเก็บขี้แมว เสี่ยงแท้ง!!
คนท้องเก็บขี้แมว ก็อาจเสี่ยงต่อการแท้งได้!! สุขภาพของคุณแม่สำคัญต่อสุขภาพของลูกน้อยขณะตั้งครรภ์มาก หากคุณแม่ได้รับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง ลูกในท้องอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคชนิดนั้น ๆ ไปด้วย ซึ่งเรื่องที่คุณแม่อาจคิดไม่ถึงล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัว ก็คือ โรคที่มากับอุจจาระของน้องแมว ที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงไว้ภายในบ้าน นั่นคือ โรคทอกโซพลาสโมซิส โดยคุณแม่อาจมีความเสี่ยงติดเชื้อโรคและแท้งได้จากการที่ทำความสะอาด หรือสัมผัสใกล้ชิดกับอุจจาระของแมวค่ะ
โรคทอกโซพลาสโมซิส โรคของ คนท้องเก็บขี้แมว
โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หรือโรคขี้แมว เป็นโรคติดเชื้อจากปรสิตที่มีชื่อว่า Toxoplasma gondii โดยสามารถพบได้ในมูลของแมว เนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ แม้ปกติมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด และเชื้อยังสามารถแพร่จากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้
สาเหตุของโรค
โรคทอกโซพลาสโมซิส เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยสาเหตุที่ทำให้ได้รับเชื้อมาได้จากหลายทาง ได้แก่
- เผลอสัมผัสปากตนเอง หรือนำเชื้อโรคเข้าปาก หลังจากสัมผัสดิน หรืออุจจาระแมว ที่มีเชื้อปรสิตปนเปื้อน โดยอาจเกิดขึ้นได้หลังจากทำความสะอาดกระบะทรายแมว เล่นกับแมว หรือปลูกต้นไม้แล้วล้างมือไม่สะอาด
- รับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่ม ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อปรสิต
- โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ดิบอย่าง เนื้อหมู หรือแกะดิบ
- สัตว์น้ำอย่าง หอยนางรม หรือหอยแมลงภู่
- ผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ หรือกระบวนการฆ่าเชื้อ
- ผัก และผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด
- รวมไปถึงการใช้เครื่องครัวอย่าง มีด เขียง และช้อนส้อม กับเนื้อสัตว์ดิบ และสัตว์น้ำ ก็อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนเช่นกัน
- ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก สตรีที่ป่วยเป็นโรคทอกโซพลาสโมซิสในระหว่างตั้งครรภ์ อาจส่งต่อเชื้อไปสู่ทารกได้
- กรณีที่พบได้น้อยมาก คือ ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ติดเชื้อ หรือการถ่ายเลือดที่ติดเชื้อ
ที่อันตรายคือ เชื้อปรสิตชนิดนี้ สามารถแฝงอยู่ภายในร่างกายของผู้ที่มีสุขภาพดี แต่หากระบบภูมิคุ้มกันของนที่แข็งแรงนั้น อ่อนแอลงจากการเจ็บป่วย หรือจากการใช้ยาบางชนิด อาจส่งผลให้การติดเชื้อกำเริบขึ้นมา และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ค่ะ
อาการของโรคทอกโซพลาสโมซิส
ผู้ป่วยโรคทอกโซพลาสโมซิส มักจะไม่มีอาการแสดงออกมา แม้จะมีปรสิตชนิดนี้อยู่ภายในร่างกาย แต่บางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น
- มีไข้
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- เจ็บคอ เป็นต้น
อาการจะหายไปได้เองภายในระยะเวลาไม่นาน ทำให้แม่ที่อาจติดโรคไม่ทราบว่ากำลังได้รับเชื้ออยู่
ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางกลุ่มควรเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน อาจพบอาการที่เป็นอันตรายต่อสมอง ดวงตา และอวัยวะอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ในผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี อาจไปกระตุ้นเชื้อปรสิตในร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน ร่างกายทำงานไม่ประสานกัน ชัก โคม่า มีอาการของโรคติดเชื้อฉวยโอกาส อย่างไอแห้งติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือหายใจไม่อิ่ม ปวดตา ตามัวจากการอักเสบของจอตา เป็นต้น
ผู้ที่ติดเชื้อก่อน หรือในระหว่างการตั้งครรภ์
ผู้ที่ได้รับเชื้อในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ อาจถ่ายทอดเชื้อไปยังทารกได้น้อย แต่มักส่งผลให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเกิดการแท้งบุตร สำหรับทารกที่รอดชีวิต มีแนวโน้มจะพบปัญหาสุขภาพรุนแรงตามมา เช่น ชัก ตับโต ม้ามโต ดีซ่าน หรือติดเชื้อที่ดวงตาอย่างรุนแรง
ผู้ที่ติดเชื้อนี้ในช่วงไตรมาสที่ 3 อาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสู่ทารกได้มากที่สุด แต่มักพบอาการผิดปกติได้น้อย และเด็กที่เกิดมาอาจจะพัฒนาอาการได้เมื่อโตขึ้น
หมอเตือน คนท้องเก็บขี้แมว เสี่ยงแท้ง
ผศ. นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เตือนไว้ว่าในกรณีของการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์นั้น มีความสำคัญ โดยถึงแม้ว่าการติดเชื้อครั้งเเรกในขณะตั้งครรภ์นั้นอาจมีอาการไม่รุนเเรงต่อหญิงตั้งครรภ์ แต่อาจส่งผลไปยังเด็กในครรภ์ได้
- เด็กอาจเกิดการติดเชื้อทำให้มีขนาดตัวเล็ก ศีรษะโตจากโพรงสมองที่ใหญ่ขึ้น
- นอกจากนั้นยังอาจมีปัญหาเรื่องการมองเห็น การได้ยิน
- อาจถึงขั้นแท้ง หรือตายคลอดได้
การส่งต่อเชื้อจากหญิงตั้งครรภ์ไปสู่เด็กได้นั้น มักเกิดจากการติดเชื้อครั้งแรก แต่ถ้าหากเคยได้รับเชื้อมาแล้ว เเละเกิดการกำเริบช่วงที่ตั้งครรภ์ มักจะไม่ติดไปสู่เด็ก เนื่องจากร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว
จากการศึกษา โดยการตรวจเลือดผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ในประเทศไทยพบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อชนิดนี้อยู่ประมาณร้อยละ 28 โดยส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองได้รับเชื้อมาก่อน จึงเป็นการยากที่จะทราบว่า เราเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ดังนั้น การป้องกันการรับเชื้อตั้งแต่แรกจึงดีที่สุด
การรักษาโรค
การรักษาโรคทอกโซพลาสโมซิสในหญิงตั้งครรภ์ มีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะที่ติดเชื้อ และความรุนแรงของเชื้อ เช่น
- การติดเชื้อภายใน 16 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะอย่าง สไปรามัยซิน เพื่อลดอัตราการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์
- การติดเชื้อหลังสัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์ หรือทารกในครรภ์ติดเชื้อ อาจต้องรับประทานยาไพริเมตามีน ยาซัลฟาไดอะซีน กรดโฟลิก และยาลูวโคโวริน ทั้งนี้ ยาทั้ง 2 ชนิดนี้อาจส่งผลข้างเคียงต่อมารดา และทารกในครรภ์ได้ เช่น กดไขกระดูกที่ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือด เกิดความเป็นพิษต่อตับ เป็นต้น
การรักษาผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรง ผู้ที่ร่างกายแข็งแรง มักไม่ต้องรักษา แต่หากมีสัญญาณของโรคทอกโซพลาสโมซิสเฉียบพลัน มีอาการรุนแรง เช่น ส่งผลต่อดวงตา และอวัยวะภายในอื่น ๆ แพทย์อาจให้รับประทานยารักษาโรคมาลาเรียอย่าง ไพริเมตามีน ร่วมกับยาปฏิชีวนะอย่าง ซัลฟาไดอะซีน เช่นเดียวกับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์อาจใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับกรดโฟลิก เพื่อป้องกันการขาดวิตามินบี 9 หรือใช้ยาไพริเมตามีน คู่กับยาคลินดามัยซินแทนได้
การป้องกันการติดเชื้อ
ผศ. นพ.จักรพงษ์ เตือนว่า หากหญิงตั้งครรภ์ที่เลี้ยงแมวรู้สึกกังวลใจ ควรปฏิบัติตัวดังนี้ค่ะ
- อาจหาคนช่วยดูแลแมวในขณะตั้งครรภ์
- ควรห่างจากแมว
- งดเว้นการเก็บอุจจาระแมวด้วยมือเปล่า ควรสวมถุงมือทุกครั้ง
- หมั่นรักษาความสะอาด โดยการล้างมือเป็นประจำก่อนรับประทานอาหาร
- นอกจากนั้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกอยู่เสมอ โดยเฉพาะเนื้อหมู เนื้อวัว หอยนางรม และหอยแมลงภู่ ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อได้อีกด้วย
และเนื่องจากเชื้อโรคนี้ ติดต่อทางอื่นได้ด้วย นอกจากทางอุจจาระของน้องแมว การป้องกันที่ดีก็คือ การปรับพฤติกรรมของตัวเราเอง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- สวมถุงมือเมื่อต้องขุดดิน ปลูกต้นไม้ หรือสัมผัสกับดิน และควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากเสร็จแล้ว
- ล้างผัก และผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน หรือก่อนนำไปประกอบอาหารทุกครั้ง และอาจปอกเปลือกผลไม้หลังล้างเสร็จแล้ว
- ล้างเครื่องมือ และเครื่องใช้ในครัวทุกครั้งหลังจากประกอบอาหาร ด้วยน้ำร้อน เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนตามเขียง มีด จานชาม หรือช้อนส้อม รวมไปถึงล้างมือหลังจากสัมผัสกับเนื้อดิบ
- เลือกดื่มผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านกระบวนฆ่าเชื้อแล้วเท่านั้น
- เลี้ยงแมวในระบบปิด และให้อาหารเม็ด หรืออาหารกระป๋องแทนเนื้อสัตว์ดิบที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค
- สวมถุงมือ และหน้ากากอนามัย หากต้องทำความสะอาดกระบะทรายแมว ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดหลังเสร็จภารกิจ และควรเปลี่ยนทรายทุกวัน เพื่อป้องกันเชื้อปรสิตที่ออกมาพร้อมมูลแมว
โรคที่เกิดจากการติดเชื้อในแม่ตั้งครรภ์นั้น นับว่าเป็นส่งผลต่อลูกในท้องไม่มากก็น้อย หากคุณแม่คุณพ่อเลี้ยงสัตว์ เช่น แมว ไว้ในบ้าน ย่อมมีความเสี่ยงที่จะส่งต่อเชื่อโรคไปยังลูกในท้อง จนกระทั่งทำให้แท้งได้ การป้องกันสาเหตุตั้งแต่เบื้องต้นจึงเป็นสิ่งที่แม่ท้องวรทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้เสียลูกน้อยในครรภ์อันเป็นที่รักไปนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, pobpad
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แม่ท้องกินอะไรได้บ้าง? เมนูอาหารแม่ท้อง 1-3 เดือน เติมคุณค่าอาหารให้แม่และลูกแข็งแรง