คุณหมอได้รับคำถามว่า “ก่อนท้องติดการออกกำลังกายมาก แต่พอท้องแล้วต้องหยุดไหมคะ” จากการทบทวนข้อมูลของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีการออกกำลังกายต่อเนื่อง พบว่าการออกกำลังกายช่วยในเรื่องเหล่านี้ได้ดีมากคือ
- ช่วยลดอาการปวดหลังที่พบบ่อยมากขณะตั้งครรภ์ได้ชัดเจน เพราะกล้ามเนื้อมีความฟิตและยืดหยุ่นมากกว่าคุณแม่ที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย
- ช่วยในการควบคุมน้ำหนักขณะตั้งครรภ์ ลดภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ อีกทั้งยังทำให้ลูกในท้องไม่มีภาวะตัวโตเกินขนาดจนกลายเป็นเด็กอ้วน ที่สำคัญการออกกำลังกายในคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติ ไม่ได้ทำให้ลูกตัวเล็กหรือเกิดการคลอดก่อนกำหนดแต่อย่างใด
ถึงแม้ว่าการออกกำลังกายจะมีประโยชน์ แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน นอกจากคุณแม่จะต้องระมัดระวังตัวขณะออกกำลังกายไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือไม่ทำให้ท้องถูกกระแทกจนเกิดรกลอกตัวเป็นอันตรายกับชีวิตลูกได้แล้วหากคุณแม่มีภาวะดังต่อไปนี้ ก็ห้ามออกกำลังกายโดยเด็ดขาด
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ เพราะขณะออกกำลังกาย คุณแม่จะมีความดันโลหิตสูงขึ้นซึ่งทำให้ครรภ์เป็นพิษแย่ลง จนอาจเกิดอาการชักได้
- เคยมีประวัติการคลอดบุตรก่อนกำหนดหรือตั้งครรภ์แฝด โดยเฉพาะช่วงไตรมาสที่สองและสาม
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งการออกกำลังกายอาจจะทำให้เกิดเลือดออกทางช่องคลอด หากเลือดออกมากอาจจะทำให้ต้องยุติการตั้งครรภ์จนทำให้เด็กมีอันตรายถึงชีวิตได้
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ลูกในท้องมีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ ก็เข้าข่ายห้ามออกกำลังกาย เพราะขณะคุณแม่ออกกำลังกาย จะทำให้ออกซิเจนที่ส่งไปหาลูกลดลงชั่วขณะ จะยิ่งทำให้เด็กตัวเล็กลงไปอีก
ดังนั้นหากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วมีความประสงค์จะออกกำลังกายต่อเนื่อง เพราะก่อนตั้งครรภ์เคยออกกำลังกายอยู่แล้ว ควรปรึกษาสูติแพทย์ให้ทำการตรวจคัดกรองให้แน่ใจว่าคุณแม่แข็งแรงพอจะออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย ด้วยการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซักประวัติถึงชนิดของการออกกำลังกาย ระยะเวลาที่ใช้ ความถี่ความหนักของชนิดของการออกกำลังกาย ประวัติในครอบครัวว่าเคยมีสมาชิกที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบไหม ประวัติเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อว่าเคยมีการบาดเจ็บมาก่อนหรือไม่ ประวัติการใช้ยาชนิดต่างๆ และประวัติด้านโรคปอดที่อาจจะทำให้เกิดการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ เป็นต้น
อ่านเรื่อง ” “ท้อง” แล้วยังออกกำลังกายได้หรือไม่ ?” คลิกหน้า 2