ใกล้จะได้เห็นหน้าลูกน้อยอันเป็นที่รักแล้ว ไตรมาสที่ 3 นี้คุณแม่ควรจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างไปดูกันค่ะ
Highlights
- เหนื่อยง่ายเพราะหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้น
- นอนหลับยาก ปัสสาวะบ่อย ปวดหลัง หายใจลำบาก ท้องผูก ท้องอืด กรดไหลย้อน ขี้ลืม
- มองเห็นกำปั้นหรือเท้าน้อยของลูกเวลาเตะหรือดิ้น
- ลูกเริ่มกลับศีรษะเมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 37
- น้ำหนักเพิ่มประมาณ 5 กิโลกรัม
อาการแบบนี้ต้องหาหมอ
- ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ มีอาการปวดหลังช่วงล่าง รู้สึกถึงแรงกดที่อุ้งเชิงกราน ปวดช่องท้อง มีการบีบตัวของมดลูกมากกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง
- ลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นเลย
- มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีน้ำเดิน หรือตกขาวผิดปกติ
- ปวดหัวรุนแรง มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน หรือจุดดำลอยไปมา
- ปวดท้องรุนแรง ท้องแข็งตึง
- อาเจียนตลอดเวลาร่วมกับมีไข้
- ปัสสาวะแสบขัด
- หน้าบวม ตาบวม มือและนิ้วบวมมากกว่าปกติ ขา เท้า และตามข้อบวมขึ้นกะทันหันผิดปกติ
- มีไข้เท่ากับหรือมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
- วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น หัวใจเต้นแรง หายใจลำบาก
- น้ำหนักขึ้นมากกว่า 2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
Must do
นับจำนวนการดิ้นของลูก วางแผนการคลอด จัดกระเป๋าเตรียมคลอด ฝึกหายใจเพื่อเตรียมคลอด ลงคลาสเตรียมตัวคลอด พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์และสุขภาพลูก หากเกิดอาการเจ็บครรภ์และมีน้ำเดิน ควรงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด และรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
อาหารการกิน
1. กะโหลกของลูกกำลังพัฒนา จึงต้องใช้แคลเซียมในการสร้าง และร่างกายจะใช้แคลเซียมได้ดีต้องใช้วิตามินดีในการดูดซึม วิตามินดีพบมากในแสงแดด และในอาหาร เช่น นม ปลาที่มีกรดไขมันดี เป็นต้น
2. ธาตุเหล็กขาดไม่ได้ เพราะจำเป็นต่อการหล่อเลี้ยงลูกน้อย และป้องกันการขาดเลือดเมื่อคลอด โดยปกติคุณหมอมักจะให้คุณแม่กินเสริมในรูปแบบของยาเม็ดอยู่แล้ว
3. ไขมันสำคัญต่อการสร้างสมองและการมองเห็น ควรเลือกกินไขมันดีที่มีอยู่ในปลา ถั่วเปลือกแข็ง ผักสีเขียวเข้ม ร่างกายแข็งแรงด้วยโปรตีน หากคุณแม่ไม่สามารถกินเนื้อสัตว์ได้ ลองมองหาโปรตีนจากแหล่งอื่นแทน เช่น เต้าหู้ ไข่ไก่ ผัก ถั่ว เป็นต้น
3. ซ่อมแซมดีเอ็นเอและป้องกันการพิการด้วยกรดโฟลิก หากเป็นไปได้คุณแม่ควรกินกรดโฟลิกตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพราะพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทเริ่มตั้งแต่หลังปฏิสนธิ
4. ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ มีออกซิเจนในกระแสเลือดเพียงพอ
5. วิตามินซีเพื่อคุณแม่ สำหรับซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ หลังคลอด
การออกกำลังกาย
การออกกำลังในไตรมาสนี้ค่อนข้างยากกว่าเดิม เพราะขนาดและน้ำหนักตัวที่มากขึ้น ทำให้เหนื่อยง่ายและหายใจลำบาก ดังนั้นวิธีออกกำลังกายที่ดีที่สุดคือ โยคะ การออกกำลังกายในน้ำ เช่น แอโรบิกหรือเดิน เป็นต้น และการฝึกขมิบ
Do You Know?
การกลั้นปัสสาวะทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
อ่านเพิ่มเติม
บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง