“ความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งครรภ์” ที่ถ่ายทอดกันมาปากต่อปากจากคนโบราณนั้น ล้วนมุ่งหวังให้ทั้งแม่ท้องและลูกน้อยสุขภาพดี แต่ ความเชื่อคนท้อง หลายๆ อย่าง เมื่อใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ กลับมีคำอธิบายที่ต่างไป เราได้พูดคุยกับคุณหมอณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์ สูตินรีแพทย์ มีข้อมูลน่ารู้มาฝากคุณแม่กันค่ะ
8 ความเชื่อคนท้อง เกี่ยวกับสุขภาพของแม่และลูกน้อย
-
จริงหรือ? “ถ้าไม่อยากให้ลูกคลอดมา มีไขเต็มตัว แม่ท้องต้องไม่กินไข่ หรืออาหารที่มีไขมันมาก แต่ให้กินน้ำมะพร้าวจะได้ล้างไข”
ไม่จริงค่ะ อาหารที่มีไขมัน ไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดไขที่ตัวทารกแรกคลอดแต่อย่างใด ส่วนไขที่ห่อหุ้มตัวทารกในครรภ์เป็นสิ่งที่ดี ช่วยให้ทารกคลอดง่าย จึงไม่จำเป็นต้องกินน้ำมะพร้าวเพื่อล้างไข
ไขที่ห่อหุ้มตัวทารกในครรภ์ (vernix) นั้นเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไขนี้คือชั้นผิวหนังของทารกที่หลุดออกมาเมื่อทารกมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์เพียงพอ ในกรณีที่คุณแม่เจาะน้ำคร่ำแล้วเจอไข ยังเป็นสัญญาณที่ดี เพราะแสดงว่าทารกนั้นจะคลอดตามกำหนด ในขณะที่ทารกคลอดก่อนกำหนดจะไม่มีไขห่อหุ้มร่างกายค่ะ
ไขที่ห่อหุ้มร่างกายทารกจะยิ่งมีมากขึ้นเมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่า เด็กสมบูรณ์พอที่จะออกมาสู่โลกภายนอก และเมื่อคลอดแล้วก็เช็ดทำความสะอาดได้หมด ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำมะพร้าวให้ลดการเกิดไขหรืองดอาหารที่มีโปรตีนอย่างไข่หรืออาหารที่มีไขมันอย่างที่ว่ามาค่ะ
(บทความแนะนำ ไขทารก มีประโยชน์กับลูกหรือไม่ ทำไมต้องกำจัด?)
-
จริงหรือ? “อย่ากินไข่ และข้าวเหนียว จะทำให้แผลผ่าคลอดเป็นหนองและหายช้า”
ไม่จริงค่ะ ไข่เป็นแหล่งของโปรตีน ส่วนข้าวเหนียวก็ให้คาร์โบไฮเดรต ซึ่งต่างก็มีคุณค่าทางอาหาร ช่วยสมานแผล และทำให้ร่างกายคุณแม่มีภาวะทางโภชนาการปกติ เพียงแต่ควรกินอาหารอย่างระมัดระวัง ไม่ปล่อยให้อ้วนเกินไป
ส่วนการที่แผลผ่าคลอดจะเป็นหนอง ติดเชื้อหรือไม่นั้นมีปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ แม่ท้องเป็นเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย คุณแม่ที่อ้วนหรือมีน้ำหนักมากอยู่แล้ว มีโอกาสที่แผลจะหายช้า เป็นต้น
(บทความแนะนำ กินไข่ ลดน้ำหนัก อย่างไรให้แม่ลดอ้วน?)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่