Pregnancy 0-13 Weeks ท้อง..จึงไม่กล้าเที่ยว “ประสบการณ์ต้องไปเที่ยวตอนท้องอ่อน เพราะได้ออกทีวี”
โดย Naruemon Sea (คุณเก๋ คุณแม่ของน้อง Seatalay)
“ตั้งแต่รู้ว่าท้อง นอกจากไปทำงานปกติแล้วจะไม่กล้าเดินทางไกลๆ ค่ะ กลัวกระทบกับลูกในท้อง ไปไหว้พระใกล้บ้านบ้าง แต่จะกังวลอยู่ตลอด ไม่ชอบนั่งรถนานๆ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ประทับใจไม่ลืมคือเก๋ได้รับคัดเลือกให้ไปเป็นแขกรับเชิญในรายการท่องเที่ยวที่ต้องบินไปเชียงราย โดยส่งรูปคู่ซี้กับเพื่อนส่งประกวด ทางรายการมีกิจกรรมให้ทำหลากหลายได้เล่นเกม ทำอาหาร ไปเที่ยวช้อปปิ้ง ได้เดินเยอะ มีนวดสปาด้วยค่ะ แต่เก๋บอกเขาว่าขอเว้นตรงท้องไว้ ไม่ให้นวดท้องค่ะ ก่อนไปก็ปรึกษากับคุณหมอที่ฝากครรภ์ หมอบอกว่าไปได้ค่ะ แต่ระหว่างเที่ยวก็ระวังตัวเรื่องอาหารเป็นพิเศษ ไม่กินอาหารแปลกๆ ที่เราไม่เคยทานมาก่อน ช่วงท้องนี่ยอมรับเลยว่าเที่ยวไม่บ่อย แต่ก็มีเที่ยวบ้างค่ะ”
Expert Says
การเดินทางเพื่อไปทำธุระหรือท่องเที่ยว ไม่เป็นข้อห้ามสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติ แต่อาจจำกัดบ้างกรณีที่คุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนเช่น มีเลือดออก หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องดูแลจากแพทย์ ซึ่งวิธีการเดินทางสามารถเลือกได้ตามต้องการ โดยแต่ละวิธีก็มีข้อแนะนำจำเพาะ ดังนี้
- รถยนต์ ควรคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ โดยเส้นล่างพาดที่หน้าขา เส้นบนคาดตรงกลางระหว่างเต้านมเพื่อลดความเจ็บปวดจากการกด
- จักรยานยนต์ ต้องใส่หมวกนิรภัย ระมัดระวังช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการลื่นล้มเช่น ฝนตก
- เครื่องบิน โดยทั่วไปสายการบินอนุญาตคุณแม่เดินทางได้จนอายุครรภ์ประมาณ 7 ถึง 8 เดือนบางสายการบินมีกฎที่ต้องใช้ใบรับรองจากแพทย์การผ่านเครื่องเอกซเรย์ที่สนามบินหากคุณแม่แจ้งกับเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานจะมีทางผ่านพิเศษเลี่ยงให้ขณะเครื่องบินอยู่บนอากาศแนะนำให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่นั่ง ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้การไหลเวียนโลหิตดี ขยับขาหรือลุกเดินบ้างเพื่อลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ พักผ่อนนอนหลับกรณีที่เป็นการเดินทางระยะไกล คุณแม่ควรเตรียมยาแก้แพ้ วิงเวียนติดตัวไว้ หรืออาจรับประทานก่อนเครื่องบินขึ้นเล็กน้อยเพื่อลดอาการวิงเวียน
- เรือ ระมัดระวังการลื่นล้ม ตกน้ำและอาการวิงเวียน
การนวดสปา ไม่เป็นข้อห้าม โดยหลีกเลี่ยงการนวดบริเวณท้องและหากอายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่สองหรือประมาณ 3 เดือนขึ้นไป การนอนหงายเป็นเวลานานๆ คุณแม่อาจเกิดอาการหน้ามืด ซึ่งเกิดจากเลือดดำไหลเวียนกลับเข้าสู่หัวใจได้น้อย จากการกดทับโดยมดลูก ควรงดการอบไอน้ำหรือแช่น้ำร้อนเป็นเวลานาน เนื่องจากทำให้คุณแม่มีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นคล้ายมีไข้ ซึ่งมีผลต่อการทำลายสมองของทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้สถานที่นวดสปาควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก
Pregnancy 14-27 Weeks ท้องเริ่มใหญ่แต่ชอบเที่ยวผจญภัย
“ประสบการณ์ท้อง 6 เดือน เที่ยวตะลุยป่าวังน้ำเขียว” โดย ANUTIDA SUNWA PIMKI (คุณก๊อก คุณแม่ของน้องต้นปัณณ์)
“ช่วงท้องมีเหตุให้เดินทางตลอดค่ะ แต่ถ้าเป็นเรื่องเที่ยวต้องขอเล่าตอนไปวังน้ำเขียวกับแฟน 2 คน หลงทางสมบุกสมบันมาก ติดหล่มอยู่ในป่า ทั้งๆ ที่จุดที่จะไปถ้าไปทางปกติ 20 นาทีก็ถึง แต่ GPS พาเลาะภูเขา พอดีว่าช่วงนั้นเป็นหน้าฝน รถจึงตกร่อง ตัวเรากระแทกตลอดทาง ต้องจับที่จับบนเพดานรถ ตรงประตูช่วยผ่อนแรง รถกระแทกตลอดทางจนทะเบียนรถหลุดหายในป่า ก่อนเข้าน้ำตกเจ้าหน้าที่เตือนแล้วว่าถ้าไม่ใช่รถโฟวีล ไม่แนะนำให้เข้าเพราะเป็นหน้าฝน แต่เราเห็นว่ามันน่าไปก็เลยลุยกันเข้ามา โชคดีที่มีน้องวัยรุ่นขับรถโฟวีลขับตามมา เห็นเราท้อง ก็เลยช่วยกันเข็นขึ้นมาได้ ไม่อย่างนั้นล่ะก็แย่เลยค่ะ พอขับมาในตัวเมืองโดนตำรวจวังน้ำเขียวจับป้ายทะเบียนหาย เราก็เพิ่งรู้กันก็ตอนโดนจับนี่แหละค่ะ”
Expert Says
- คุณหมอไม่แนะนำให้เดินทางแบบสมบุกสมบันจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเกิดแรงกระแทกโดยตรงสู่มดลูก เนื่องจากอาจทำให้เกิดรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตของทารกในครรภ์ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่อคุณแม่ด้วย
- การท่องเที่ยวป่าควรระวังแมลงสัตว์กัดต่อย ซึ่งอาจนำเชื้อที่เป็นอันตราย เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย เป็นต้น
- ระวังการเดินทางตามโขดหินซึ่งอาจเสี่ยงต่อการลื่นล้ม
- บนภูเขาหรือที่สูงจะมีอากาศน้อยกว่าระดับความสูงปกติ ซึ่งมีผลต่อการไหลเวียนเลือดของคุณแม่ มีรายงานว่าคุณแม่ที่อาศัยบนที่สูง น้ำหนักตัวของทารกแรกเกิดจะน้อยกว่าคุณแม่ที่อาศัยอยู่ที่ระดับความสูงปกติ
Pregnancy 28-41 Weeks ท้องแก่ไม่ชอบเที่ยวไกล
“ประสบการณ์ท้องแก่ขอแค่เดินห้าง” โดย Wnn Waleerat Nonthasri (คุณน้อยหน่า คุณแม่ของน้องนานา)
“พอท้องได้ 7 – 9 เดือนก็ไม่อยากไปไหนไกลมาก ถ้าจะเที่ยวก็แค่ตัวเมืองเชียงใหม่ เที่ยวห้าง หรือถนนคนเดิน เพราะน้ำหนักเริ่มเยอะ เดินไม่ค่อยไหวแล้วค่ะ จะเดินทางทีก็กังวล เพราะพอใกล้คลอดลูกจะดิ้นน้อยลง ปรับตัวด้วยการเปลี่ยนรองเท้าตอนท้องแก่มากๆ ค่ะ ช่วงท้องไม่ได้ทำงาน เพราะมัวแต่อึดอัดว่าเมื่อไหร่จะคลอดสักที ด้วยความที่ไม่อยากนั่งรถไปไหนมาไหน เวลาเบื่อๆ ก็จูงน้องหมาไปเดินเล่นค่ะ”
Expert Says
แม้ว่าคุณแม่จะตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสสามแล้ว แต่หากมีความจำเป็นต้องเดินทางยังสามารถทำได้ แต่คุณหมอมักแนะนำว่าไม่ควรเดินทางไปไหนไกลๆ หรือใช้เวลาเดินทางนานเกินไปค่ะ
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเดินทาง ควรพกพาสมุดฝากครรภ์ติดตัวเผื่อกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน หากไม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดการเดินออกกำลังกายเบาๆ ในที่โล่งเช่น สวนสาธารณะ จะทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น
แต่การไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า หรือโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นอาคารปิด อาจติดเชื้อทางเดินหายใจได้ ดังนั้นเมื่อกลับจากห้างสรรพสินค้าควรล้างมือและชำระร่างกายให้สะอาด เมื่อนั่งหรือนอน ควรยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อให้เลือดไหลเวียนกลับได้ดีขึ้น ลดอาการขาบวม นอกจากนี้คุณแม่ควรนอนพักผ่อนโดยแนะนำให้นอนตะแคงด้านซ้ายเพื่อเพิ่มการไหลกลับของเลือดดำสู่หัวใจให้ดีขึ้น
เรื่องโดย : รศ.พญ.ธารางรัตน์ หาญประเสริฐพงษ์ สูติแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center