คำถามคาใจว่าที่คุณแม่ทั้งหลาย คนท้องห้ามกินอะไร มันช่างกวนใจนัก ช่วงเวลาท้องลูกก็ช่างอยากนู้นอยากนี่ไปเสียหมด แต่เอ๊ะ! จะกินได้ตามใจจริงหรือวันนี้มีคำตอบ
เคลียร์ชัด!! 10 คำตอบกับคำถาม คนท้องห้ามกินอะไร ?
แม่ท้องกับโภชนาการเป็นของที่ต้องระวัง เพราะนอกจากคุณแม่จะต้องคอยระมัดระวังในการกินอาหารให้ครบหมู่ เสริมแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับลูกในครรภ์แล้ว ยังมีอาหารบางประเภทที่คุณแม่ควรงดในช่วงเวลาตั้งครรภ์อีกด้วย เพราะอาจมีสารบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยได้เช่นกัน ทำให้ว่าที่คุณแม่ทั้งหลายจึงเกิดคำถามต่าง ๆ นานาขึ้นมาในใจ ระหว่างที่จะหยิบจับสิ่งใดเข้าปากกันใช่ไหมว่า คนท้องห้ามกินอะไร บ้างนะ
วันนี้ทีมแม่ ABK เข้าใจดีต่อสภาวะที่คุณแม่ที่กำลังท้องต้องเผชิญ จึงขอรวบรวมนำ 15 คำถามยอดฮิตที่คนท้องมักจะสงสัยว่า อาหารที่กำลังอยากรับประทานนั้น สามารถรับประทานได้ไหม จะส่งผลต่อลูกในท้องหรือไม่ ให้ได้คลายกังวล และจะได้สรรหาของอร่อยถูกใจมารับประทานได้อย่างสบายใจกันละทีนี้
15 คำถามคาใจ คนท้องห้ามกินอะไร?
1. คนท้องกิน “ปลา” อะไรดี?
ไม่ใช่ปลาทุกชนิดที่สามารถทานได้อย่างปลอดภัย เพราะสิ่งที่ต้องระวัง คือ อาหารทะเลทุกอย่างมีโอกาสปนเปื้อนสารโลหะหนัก ซึ่งปนเปื้อนมาจากโรงงานใกล้แหล่งน้ำ การปนเปื้อนจะถูกสะสมจากปลาเล็กไปสู่ปลาที่มีขนาดใหญ่ที่กินปลาขนาดเล็กเข้าไป ดังนั้น ปลาที่มีขนาดใหญ่จะมีโอกาสปนเปื้อนสารโลหะหนักได้มาก เช่น ปลาที่มักมีสารปรอทสูง ตัวอย่างเช่น ปลานาก (Swordfish) ปลาแมกเคอเรล (King mackerel) เนื่องจากอาหารที่มีปรอทสูงเป็นปัจจัยหลักต่อพัฒนาการด้านระบบประสาทของลูกน้อยในครรภ์
ปลาน้ำจืด คนท้องกินได้ไหม?
ปลาน้ำจืดสามารถรับประทานได้ ที่แนะนำ คือ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาสวาย โดยเฉพาะถ้าเป็นปลาเลี้ยงจะพบว่ามีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่สูง (ได้กรดไขมันโอเมก้า-3 ผ่านทางอาหารที่ใช้เลี้ยงปลา) สามารถรับประทานแทนปลาทะเลได้
ปลาดิบ อาหารญี่ปุ่น รับประทานได้หรือไม่?
รับประทานได้ แต่ควรเลือกปลาบางชนิด เช่น แซลมอน ปัจจุบันมีการเลี้ยงปลาแซลมอนเป็นฟาร์ม ซึ่งด้วยวิธีการเลี้ยงโอกาสติดเชื้อพยาธิที่ตัวปลาจะน้อยมาก ๆ ซึ่งก็เพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น แต่ปลามากุโร่ไม่อยากให้รับประทานเยอะ และต้องมั่นใจว่าปลาที่นำมาทำอาหารผ่านการแช่แข็งมาแล้ว เพราะการแช่แข็งจะทำให้พยาธิที่อยู่ในตัวปลาตาย ถ้าคุณแม่บางคนอยากทำซูซิ/ซาเซมิทานเองที่บ้าน แนะนำว่าให้แช่แข็งเนื้อปลาอย่างน้อย 4 วัน กรณีที่คุณแม่รับประทานปลาดิบแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย แนะนำว่าให้งดทานปลาดิบตลอดการตั้งครรภ์จะดีกว่า (เช่นเดียวกับกรณีของส้มตำอาหารยอดฮิต)คนท้องห้ามกินอะไร เมนูปลาดิบควรระวัง
2.ไข่ดิบ คนท้องรับประทานได้ไหม?
จากข้อมูลของกองโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าไข่ไก่ 1 ฟองมีโปรตีนประมาณ 6.25 กรัม หรือประมาณ 10-15% ที่ร่างกายต้องการต่อวัน มีคอเลสเตอรอลประมาณ 213 กรัม มีไขมันอิ่มตัวประมาณ 1.5 กรัม มีไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่าคือ 1.91 กรัม ซึ่งร่างกายจะนำไขมันไม่อิ่มตัวไปใช้ได้ง่าย แถมคอเลสเตอรอลที่ได้รับจากไข่ยังเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลตัวดีที่ช่วยลดปัญหาหลอดเลือดอุดตัน การรับประทานไข่ในช่วงท้องนั้น จะมีส่วนช่วยเติมเต็มความต้องการของร่างกายได้เป็นอย่างดี เพราะในแต่ละวันนั้น ร่างกายของคุณแม่ท้องต้องการแคลอรี่วันละ 200 – 300 แคลอรี่ ซึ่งไข่ 1 ฟองจะมีประมาณ 70 แคลอรี่ จึงควรรับประทานอาหารอื่นควบคู่ไปด้วย
แต่ไข่ดิบมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซัลโนเนลล่า ผู้ได้รับเชื้อไปในปริมาณมากจะมีอาการเป็นไข้ ปวดบิด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ในรายที่รุนแรง อาจติดเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมอง อาจถึงเสียชีวิตได้ ไข่ดิบยังรวมไปถึงซอสต่าง ๆ ที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบด้วย เช่น มายองเนส ซีซาร์สลัด เป็นต้นิ
3.ชีส คนท้องห้ามกินใช่ไหม?
ไม่ใช่ชีสทั้งหมดที่ห้ามรับประทาน ชีสบางประเภทเท่านั้นที่คนท้องห้ามกิน ได้แก่ ชอฟต์ชีสที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ เช่น คาเม็มเบ็ธ (Camembert) กอร์กอนโซล่า (Gorgonzola) และบลูชีส (Blue cheese) เพราะมีสารลิสเทอเรีย ส่งผลให้เกิดภาวะแท้งได้
4.น้ำหวาน กับคนท้อง กินยังไงไม่ให้เสี่ยง?
ถ้ารู้สึกอยากดื่มน้ำอัดลมให้ชื่นใจ ดับกระหาย ขอให้คุณแม่เปลี่ยนมาเป็นดื่มน้ำผลไม้สดที่ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่ม หากต้องการเพิ่มความสดชื่น ให้นำน้ำผลไม้สดนำมาใส่น้ำแข็ง เวลาดื่มจะช่วยให้คุณแม่เย็นชื่นใจ และดับกระหายได้เหมือนกัน เหตุที่ควรหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม เพราะน้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีน้ำตาลถึง 7 – 10 ช้อนชานั่นเอง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ควรกินแต่พอดี เพราะหากเกินความพอดี จะนำไปสู่โรคเบาหวานแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้บริโภคน้ำตาล ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังออกคำแนะนำเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาล โดยย้ำว่าให้บริโภคต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน
5.อาหารสำเร็จรูป คนท้องควรเลี่ยงเพราะอะไร?
อาหารสำเร็จรูป มักทำขึ้นมาให้เก็บไว้ได้นาน จึงมักมีสารเคมีเจือปนเพื่อเพิ่มระยะเวลาในการจัดเก็บ โดยมักอุดมไปด้วยลิสเทอเรีย ต่อให้แม้ปรุงสุกแล้วสารเหล่านี้ก็ยังคงหลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อแม่และลูกน้อยในครรภ์ ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยง
6.ติดกาแฟมาก ตอนท้องจะแอบกินได้ไหม?
คาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นชนิดหนึ่งที่ไม่เพียงพบได้ในกาแฟเท่านั้น แต่ยังอยู่ในเครื่องดื่มและอาหารชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ชา น้ำอัดลม โซดา เครื่องดื่มชูกำลัง ช็อกโกแลต หรือแม้กระทั่งในยาบรรเทาอาการปวดศีรษะบางชนิดในร้านขายยา โดยสารชนิดนี้มีฤทธิ์ทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อหญิงตั้งครรภ์นัก โดยผลกระทบของการได้รับคาเฟอีนมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่ ลูกในท้องถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวส่งผลต่อการนอน อาจทำให้ลูกพิการแต่กำเนิด น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ เสี่ยงต่อการแท้ง เป็นต้น
7.ผักผลไม้ที่ยังไม่ได้ล้าง คนท้องห้ามกิน จริงหรือ?
ผักผลไม้ที่ไม่ได้ล้างทำความสะอาดมักมีส่วนผสมของ Toxoplasma เชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในดิน สามารถทำให้รก และลูกติดเชื้อได้
8.แอลกอฮอล์ ของต้องห้ามของคนท้อง ใช่ไหม?
แอลกอฮอล์ทำให้เกิดการทำลายของเซลล์ประสาท ส่งผลให้ลูกในท้องมีการเจริญเติบโตบกพร่อง น้ำหนักแรกเกิดน้อยและมีอัตราการเพิ่มน้ำหนักหลังเกิดน้อย ศีรษะเล็ก เกิดความผิดปกติของโครงสร้างสมอง เช่น ไม่มีสมองใหญ่ (anencephaly) สมองใหญ่มีร่องผิดปกติ (schizencephaly) เยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองเลื่อน (lumbarmeningomyelocele) ส่วนด้านพัฒนาการของสติปัญญาก็มีความบกพร่อง มีปัญหาด้านความจำ การเคลื่อนไหวผิดปกติ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวช เช่น ภาวะวิตกกังวล (anxiety disorder) มีภาวะซึมเศร้า (depression) พฤติกรรมอันธพาล (conduct disorder) และมีปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น อาการซุกซนไม่อยู่นิ่ง และสมาธิสั้น ทราบอย่างนี้แล้วยังจะกล้ากินเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์กันอีกไหม?
9.ซีเรียล คนท้องต้องระวังในการกิน?
ซีเรียลเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหาร ใยอาหาร แล้วเหตุใดจึงคนท้องจึงต้องระวังในการรับประทานซีเรียลกันล่ะ สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือปริมาณน้ำตาลในซีเรียลบางยี่ห้อ และสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใส่เข้ามาที่อาจเป็นอันตรายได้ เช่น ขัณฑสกร
10. คนท้องกินชะอมได้ไหม?
คุณแม่ท้องมักได้คำแนะนำให้รับประทานผักเยอะ ๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ผักบางชนิดก็ควรเลี่ยง ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เช่น ชะอม ตำลึง ยอดมะระ ยอดฟักแม้ว กระถิน ขี้เหล็ก เป็นต้น เนื่องจากว่าผักจำพวกนี้จะมีสาร Purine อยู่ปริมาณมาก ส่งผลให้เป็นโรคเกาต์ได้ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อโบราณที่กล่าวถึง ชะอมไว้ว่า ห้ามกินผักชะอม และไม่ได้ห้ามแค่ตัวคุณแม่ตั้งครรภ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกคนในบ้านอีกด้วย ลองนั่งนึกหาสาเหตุดูก็อาจเป็นไปได้ว่า ชะอม เป็นผักที่มีกลิ่นแรง อาจจะเป็นต้นเหตุให้แม่เกิดอาการแพ้ท้องหนัก จึงได้ห้ามทั้งคนท้องและคนในบ้านที่มีคนท้องอยู่รับประทานชะอม อีกเหตุผลหนึ่งชะอมซึ่งเป็นผักปลูกตามริมบ้าน อาจปนเปื้อนเชื้อที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง อย่างเชื้อ ซัลโมเนลลา (Salmonella)ซึ่งหากไม่ล้างทำความสะอาด และปรุงให้สุก จะทำให้เกิดโรคท้องเสีย มีไข้ ถ่ายเป็นน้ำสีเขียว หรือเป็นมูกเลือดได้เช่นกัน
หวังว่าคำถามที่หยิบยกมาคราวนี้ จะช่วยคลายความกังวลแก่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทั้งหลายลงได้บ้าง เพราะเราทราบดีว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่คุณแม่ให้ความห่วงใย คือ ลูกน้อยที่กำลังเจริญเติบโตภายในท้องของคุณแม่นั่นเอง อย่างไรก็ตามอย่าพึ่งเครียด เข้มงวดมากเกินไปนัก เพราะความเครียด ความกังวลก็ส่งผลต่อลูกน้อยได้เช่นเดียวกัน แถมยังทำให้มื้ออาหารของคุณแม่ขาดรสชาติไปเสียอีกต่างหาก
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.phyathai.com/www.pobpad.com/www.si.mahidol.ac.th/today.line.me
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
แนวทางปฏิบัติตัวช่วงโควิด สำหรับ คนท้อง แม่หลังคลอด ทารกแรกเกิด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่