ในระหว่างการตั้งครรภ์ แม่ท้องควรมีน้ำหนักเพิ่มโดยเฉลี่ย 10-15 กิโลกรัม แม่ท้องสงสัยกันไหมคะว่า น้ำหนักคนท้อง ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากอะไรบ้าง? มาดูกัน
น้ำหนักคนท้อง ที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เกิดจากอะไรบ้าง?
ตั้งแต่เริ่มมีเจ้าตัวน้อยเข้ามาอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ ร่างกายของแม่ ๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จนคลอด และหลังคลอดได้ 6 เดือน ร่างกายก็จะค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนคลอด (ยกเว้นน้ำหนักส่วนเกินของแม่ท้องที่เกิดจากการทานอาหารที่เกินความต้องการของร่างกาย) โดยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของแม่ท้องแต่ละคนมักจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น ช่วงอายุที่ตั้งครรภ์ พันธุกรรม อาหาร สิ่งแวดล้อม ชีวิตประจำวันและอัตรการเผาผลาญ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงระหว่างตั้งครรภ์นั่นเองค่ะ
แม่ท้องส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยที่ 10 – 15 กิโลกรัม โดยในไตรมาสแรก น้ำหนักของแม่ท้องอาจจะเพิ่มขึ้นไม่มาก หรือในแม่ท้องบางท่านก็อาจจะมีน้ำหนักที่ลดลงด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะว่าาช่วงไตรมาสแรก แม่ท้องมักจะแพ้ท้อง บางรายมีอาการแพ้ท้องมากจนรับประทานอาหารตามปกติไม่ได้ จึงทำให้น้ำหนักลดลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องมักจะหายไป ทำให้แม่ท้องทานอาหารได้มากขึ้น หลากหลายขึ้น น้ำหนักก็จะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าการทานอาหารของแม่ท้องมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น แต่แม่ ๆ สงสัยกันไหมคะว่าทำไมแม่ท้องหลาย ๆ คนที่แพ้ท้องหนักมาก ทานอะไรไม่ค่อยจะได้ แต่ก็ยังมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ขอบอกว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของแม่ท้องนั้น ไม่ได้หมายถึงไขมันที่มากขึ้นเพียงอย่างเดียวค่ะ น้ำหนักคนท้อง ที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์นั้น มีปัจจัยที่มากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งท้องค่ะ มาดูกันว่า น้ำหนักคนท้อง ที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เกิดจากอะไรกันบ้าง?
น้ำหนักคนท้อง ที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เกิดจากอะไรบ้าง?
- ผลผลิตจากการตั้งครรภ์ ได้แก่
- น้ำหนักของทารกในครรภ์เอง ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจนถึงวันคลอด โดยน้ำหนักของทารกในครรภ์ (ภาวะปกติ) จะมีน้ำหนักสูงสุดที่ 2.5-4 กิโลกรัม
- รก คือ อวัยวะพิเศษที่สร้างขึ้นมาในช่วงตั้งครรภ์ ทำหน้าที่ส่งอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกและกำจัดของเสีย ด้านหนึ่งของรกต่อกับเส้นเลือดที่สายสะดือของทารก อีกด้านของรกจะเกาะกับผนังมดลูก เลือดลูกกับแม่จะไม่ผสมกัน แต่มีการแลกเปลี่ยนสารต่าง ๆ ระหว่างกัน โดยรกจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 0.5 – 0.8 กิโลกรัม
- น้ำคร่ำ คือ ของเหลว ใส สีเหลืองอ่อนที่อยู่ล้อมรอบทารกในครรภ์ ส่วนประกอบของน้ำคร่ำประกอบไปด้วยน้ำ 98% และสารต่าง ๆ อีก 2% ซึ่งจะมีเซลล์ของทารกที่หลุดออกมาปนอยู่ด้วย เมื่อตั้งครรภ์ครบกำหนด (40 สัปดาห์) จะมีปริมาณของน้ำคร่ำประมาณ 1 กิโลกรัม ที่ล้อมรอบทารกอยู่ น้ำคร่ำจะไหลเวียนโดยการเคลื่อนไหวตัวของทารกทุก ๆ 3 ชั่วโมง
- เนื้อเยื่อของมารดา ได้แก่
- มดลูก ปกติมดลูกจะมีน้ำหนักประมาณ 70 กรัม แข็ง และมีความจุ 10 มล. แต่ในระหว่างตั้งครรภ์มดลูกจะปริมาตรเพิ่มขึ้น เมื่อครรภ์ครบกำหนดจะมีความจุเฉลี่ย 5 ลิตร แต่สามารถจุได้ ≥20 ลิตร (เพิ่มขึ้น 500-1000 เท่า) โดยจะหนักประมาณ 1 – 2.5 กิโลกรัม การขยายขนาดของมดลูกเชื่อว่าเป็นผลของเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน
- เต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 6-8 ของการตั้งครรภ์ เต้านมของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้น และจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีเนื้อเยื่อไขมันและเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเต้านมเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของต่อมและท่อน้ำนม โดยเต้านมอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิมได้ถึง 1-2 ไซส์ เมื่อเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็ทำให้น้ำหนักของเต้านมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยน้ำหนักของเต้านมที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1 – 1.5 กิโลกรัม
- ปริมาตรเลือดที่เพิ่มขึ้น ปริมาตรเลือดจะเพิ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 และเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ปริมาณพลาสมาจะเพิ่ม 15% จากก่อนตั้งครรภ์ ในไตรมาสที่ 2 ปริมาตรเลือดจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว และเพิ่มอย่างช้า ๆ ตอนไตรมาสที่ 3 และคงที่ในสัปดาห์ท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ โดยการเพิ่มขึ้นของปริมาณเลือด ทำให้น้ำหนักตัวของแม่ท้องเพิ่มขึ้นถึง 2 กิโลกรัม การเพิ่มขึ้นนี้มีหน้าที่สำคัญได้แก่ ความต้องการเมตาบอลิซึมสูงขึ้นจากมดลูกที่โตขึ้น และระบบหลอดเลือดที่ขยายขนาด
- ไขมันที่สะสมมากขึ้นในมารดา น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ จะเป็นส่วนที่เหลืออยู่ในร่างกายของแม่หลังคลอดนั่นเองค่ะ ซึ่งน้ำหนักในส่วนนี้ ไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์แต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารของแม่ท้องที่มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการจริง ๆ นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าแพทย์มักจะแนะนำให้แม่ท้องมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่เกิน 15 กิโลกรัม ตลอดการตั้งครรภ์ นั่นเป็นเพราะการที่แม่ท้องมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไป สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่ท้องเองทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ ดังนต่อไปนี้
ผลกระทบต่อสุขภาพของแม่ท้องที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเกินไป
- ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ แม่ท้องที่มีน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นมากกว่า 15.88 กิโลกรัม จะมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ (อ่านต่อ โรคความดันโลหิตสูงกับการตั้งครรภ์ ภัยเงียบของแม่ท้อง)
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แม่ท้องที่มีน้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์มากกว่าเกณฑ์ปกติ และแม่ท้องที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติขณะตั้งครรภ์ มีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะตรวจพบ impaired glucose tolerance (หรือโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์) เมื่อเปรียบเทียบกับแม่ท้องที่มีน้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์ที่น้้อยกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าแม่ท้องที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์มากกว่าหญิงตั้งครรภ์ปกติทั่วไป และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก็สามารถพบได้มากขึ้นในกลุ่มแม่ท้องที่มีน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วนก่อนการตั้งครรภ์ (อ่านต่อ แม่แชร์! เป็นเบาหวานตอนท้อง และวิธีคุมน้ำตาลแบบง่ายและได้ผลดี)
- การผ่าตัดคลอด ความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอดพบมากขึ้นในแม่ท้องที่มีภาวะอ้วนก่อนการตั้งครรภ์ หรือมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวของการตั้งครรภ์มากกว่า 15.88 กิโลกรัม (อ่านต่อ ผ่าคลอด กับ คลอดเอง แบบไหนดีกว่ากัน?)
- การให้นมบุตร แม้ว่าพฤติกรรมการให้นมบุตรจะแตกต่างกันไปในแต่ละเชื้อชาติและวัฒนธรรม แต่ก็มีการศึกษาพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแม่ท้องที่มีน้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์ปกติ การเพิ่มขึ้นของน้ำนักตัวขณะตั้งครรภ์ที่มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการให้นมบุตรที่สั้นลง เมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่มน้ำหนักตัว พบว่ายิ่งแม่ท้องมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์มากเท่าใด ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะหยุดการให้นมบุตรหลังคลอดเร็วมากขึ้นเท่านั้น (อ่านต่อ อยาก ให้นมแม่ สำเร็จ แม่ต้องสตรอง และห้ามท้อ)
- น้ำหนักตัวคงค้างหลังคลอด พบว่าแม่ท้องที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์มากกว่า 9.1 กิโลกรัม มักจะมีน้ำหนักตัวคงค้างหลังคลอดและมีน้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์ถัดไปเพิ่มมากขึ้น
ผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ของแม่ท้องที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยเกินไป
- การคลอดก่อนกำหนด แม้จะมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการคลอดก่อนกำหนด แต่ในแง่ของน้ำหนักตัวแม่ท้องแล้ว พบว่าน้ำหนักแม่ท้องก่อนการตั้งครรภ์และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ก็มีความสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนดเช่นกัน
- การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ มีปัจัยหลาย ๆ อย่างที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ได้แก่ การเจริญของรก ความผิดปกติของโครโมโซมและสารพันธุกรรมของทารก ความพิการแต่กำเนิด การติดเชื้อในครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรมของมารดา เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น จากการศึกษาของ IOM ในปี พ.ศ. 2533 กล่าวว่า ผลขของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเสี่ยงในการเกิดทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
- ทารกน้ำหนักตัวมากกว่าปกติหรือทารกตัวใหญ่
- องค์ประกอบของร่างกายทารก พบว่าอายุครรภ์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำนายปริมาณไขมันในร่างกายทารก และมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนก่อนการตั้งครรภ์ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์ มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของไขมันในทารก
จะเห็นได้ว่าน้ำหนักตัวของแม่ท้องที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์นั้น มีความสำคัญและสัมพันธ์ต่อสุขภาพของแม่ท้องและทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก ดังนั้น การมีภาวะโภชนาการที่ดีระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งที่แม่ท้องควรใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อให้ลูกในท้องได้สารอาหารครบถ้วน และแม่ท้องไม่อ้วนหลังคลอดนะคะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ตารางน้ำหนักทารกในครรภ์ กับวิธีการตรวจดูขนาดของลูกในท้องว่าตัวเล็กหรือใหญ่!
ขอบคุณข้อมูลจาก : เวชบันทึกศิริราช โดย อาจารย์ นายแพทย์ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, th.wikipedia.org, พ.ญ. ดาราณี มีเงินทอง ภาควิชาสูติศาสตร์ และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พบแพทย์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่