วิธีป้องกันตะคริวตอนท้อง
การป้องกันไม่ให้เป็นตะคริวตอนท้อง มีวิธีการดังนี้
-
ออกกำลังกายเบา ๆ โดยเน้นการยืดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณน่องขาและเท้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มักเป็นตะคริวบ่อย ๆ ตอนตั้งครรภ์ โดยการนั่งหรือนอนเหยียดขา แล้วกระดกปลายเท้าเข้าหาตัว การยืดกล้ามเนื้อสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายคลายความตึงล้า และมีความยืดหยุ่น จึงลดโอกาสเกิดตะคริวได้ สำหรับแม่ท้องที่มักจะเป็นตะคริวในตอนกลางคืน ควรทำก่อนเข้านอน เพื่อช่วยลดโอกาสเป็นตะคริวในตอนกลางคืน
-
พยายามอย่ายืนนาน ๆ หรือนั่งนานเกินไปโดยเฉพาะการนั่งไขว่ห้าง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งกว่าปกติ ส่งผลให้อาจเกิดตะคริวได้ง่าย
-
ป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
-
ประคบอุ่นบริเวณเท้าหรือน่อง หรือการอาบน้ำอุ่นในตอนเย็นอาจช่วยได้
-
เลือกรองเท้าที่เหมาะสม และใส่สบาย เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อบริเวณเท้าเกร็งมากเกินไป
-
อาจวางเท้าบนหมอนหรือยกเท้าสูงกว่าลำตัวสักเล็กน้อยเวลานอน อาจช่วยลดการเกิดตะคริวได้
-
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม (เช่น กล้วย ส้ม), แคลเซียม (เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อยที่รับประทานก้างได้), วิตามินอี (เช่น ถั่ว น้ำมันพืช) สำหรับแม่ท้องที่มักเป็นตะคริวตอนกลางคืน อาจป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารประเภทปลาและไข่ในมื้อเย็น หรือดื่มนมก่อนเข้านอน
- ไม่ใส่กางเกงที่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณขาและเท้าให้มากขึ้น
- ใส่ถุงเท้าตอนนอนเพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า
วิธีคลายตะคริวแบบทันใจ
ก่อนอื่นต้องอย่าตกใจค่ะ ตั้งสติว่าอาการปวดที่เป็นอยู่นั้น เกิดจากตะคริวใช่หรือไม่ หากเป็นตะคริวขณะนั่งหรือใช้ชีวิตประจำวันอย่างอื่นอยู่ ควรหยุดการเคลื่อนไหวหรือใช้งานกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริวไปก่อนชั่วคราว หากเป็นตะคริวในตอนกลางคืนขณะนอนหลับ ให้นอนอยู่นิ่ง ๆ และตั้งสติค่ะ และเริ่มทำการคลายตะคริว โดยใช้วิธีต่อไปนี้
- ใช้มือนวดกล้ามเนื้อมัดที่เป็นตะคริวเบา ๆ จนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัว (สามารถใช้โปรโมชั่นคนท้องในตอนนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยการสะกิดสามีให้ช่วยนวดให้ก็ได้นะคะ) หากกล้ามเนื้อคลายตัวแล้ว อาจนวดต่อด้วยการใช้มือบีบนวดไล่จากเอ็นร้อยหวายขึ้นมาจนถึงข้อเข่า ซึ่งจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
- ทำการเหยียดกล้ามเนื้อ บริเวณที่เป็นตะคริว ดังนี้
- ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรงและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่าให้ได้มากที่สุดอย่างช้า ๆ (ห้ามทำการกระตุกหรือกระชากอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้เจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้) และอาจเอื้อมมือไปดึงปลายเท้าเข้าหาตัวด้วยก็ได้ โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาที แล้วคลายออกประมาณ 1-2 นาที แล้วทำซ้ำจนกว่าตะคริวจะคลาย
- ตะคริวที่ต้นขา ให้เหยียดหัวเข่าให้ตรง ยกเท้าขึ้นให้สูงจากพื้นเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงล่าง (ไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า) โดยให้ทำค้างไว้ประมาณ 1-2 นาทีเช่นกัน
- ในช่วงที่กล้ามเนื้อหดเกร็งมาก ให้ใช้วิธีประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการลงได้ หรือเมื่อมีอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมาก การประคบเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่