คนท้องท้องผูก เกิดจากอะไร รับมืออย่างไร ให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก - Amarin Baby & Kids
คนท้องท้องผูก

ไขข้อข้องใจ คนท้องท้องผูก เกิดจากอะไร รับมืออย่างไรให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก

event
คนท้องท้องผูก
คนท้องท้องผูก

คนท้องท้องผูก ทำไงดี? “ปัญหาท้องผูก” ขณะตั้งครรภ์” สาเหตุเกิดจากอะไร กินยาระบายได้ไหม วิธีการแก้อาการท้องผูกในหญิงตั้งครรภ์ ต้องทำอย่างไร เพื่อให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูก ทีมแม่ ABK มีคำตอบจากคุณหมอนิวัฒน์ มาฝากค่ะ

Q1. คนท้องท้องผูก ท้องผูกขณะตั้งครรภ์มีสาเหตุมาจากอะไร?

ท้องผูก คือ อาการที่ขับถ่ายอุจจาระ น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์และมีอุจจาระที่มีลักษณะแข็ง (เป็นก้อนกลมๆเล็กๆ คล้ายลูกกระสุนดิน) หรือถ่ายยาก (ต้องเบ่งถ่าย) อาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย ในหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทยพบอาการท้องผูกได้ถึงร้อยละ 40 ในช่วงตั้งครรภ์ และ สูงถึงร้อยละ 50 ในช่วงหลังคลอด

สาเหตุทั่วไปของอาการท้องผูกในขณะตั้งครรภ์  ได้แก่

  1. การรับประทานอาหารประเภทกากเส้นใย หรือไฟเบอร์ไม่เพียงพอ
  2. การดื่มน้ำในปริมาณที่ไม่เพียงพอ หญิงตั้งครรภ์หลายคนไม่ค่อยดื่มน้ำ หรือดื่มน้ำน้อยกว่าปกติเพราะกลัวว่าจะปัสสาวะบ่อย
  3. การใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาที่ใช้ในขณะตั้งครรภ์ เช่น ยาบำรุงเลือดซึ่งมีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ และยาแคลเซี่ยม ยาแก้ปวด รวมถึงยาที่ใช้รักษาภาวะกรดไหลย้อน (Heartburn) กลุ่มแอนตาซิด (Antacid) ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้มากขึ้น
  4. การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดินทาง หรือความรีบเร่งต่างๆ ทำให้ไม่มีเวลาในการเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา จะเข้าห้องน้ำในลักษณะปวดแล้วค่อยเข้า และกลั้นเมื่อไม่อยากเข้า เช่น เมื่อเห็นห้องน้ำไม่สะอาด การกลั้นทำให้อุจจาระค้างอยู่ในทางเดินอาหารนานกว่าปกติ  ซึ่งจะถูกถูกดูดน้ำออกจากตัวอุจจาระกลับเข้าสู่ร่างกาย อุจจาระจึงมีลักษณะแห้งและแข็งขึ้นเรื่อยๆ
  5. ระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง (Reduce gastric motility) อาหารอยู่ในทางเดินอาหารเป็นเวลานานกว่าคนปกติ
  6. การที่มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ หรือบางรายอาจมีเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุที่ทำให้ลำไส้อาจถูกกดเบียดจนเคลื่อนไหวไม่สะดวก

Q2. ภาวะท้องผูกส่งผลเสียกับตัวแม่ท้อง และทารกในครรภ์อย่างไรบ้าง?

อาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์ไม่ค่อยเป็นอันตราย แม้ว่ามันจะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกไม่สุขสบาย แต่ก็ไม่ทำให้เกิดอันตรายแต่ทารกในครรภ์  ยกเว้นในรายที่มีอาการท้องผูกอย่างรุนแรงจนเกิดเป็นริดสีดวงทวารหนัก (hemorrhoids: เส้นเลือดดำทวารหนัก เกิดอาการบวมพองหรือยืดตัว มีอาการยื่นนูนเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก) ทำให้มีการขับถ่ายออกมาเป็นเลือดได้ ซึ่งถ้าเลือดออกมาก คนไข้เสียเลือดมากจะเกิดภาวะซีด อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้  อาการท้องผูกถ้าเกิดร่วมกับอาการอื่น เช่น  มีอาการปวดท้องร่วมด้วยอย่างรุนแรง การ มีเลือด หรือมูกเลือดออกมากับอุจจาระด้วย หรืออาการท้องเสียสลับกับท้องผูก อาจเป็นสัญญาณของปัญหาอื่น เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนั้นถ้ามีอาการท้องผูกนานมากกว่า 2 สัปดาห์ ร่วมกับอาการปวดท้อง หรือคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีเลือดออกขณะถ่าย หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังการรักษาด้วยยาแล้ว  ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ เพราะบางรายก้อนอุจจาระแข็งอัดแน่นจนเกิดภาวะอุดกั้นของลำไส้ (fecal impaction)ไม่สามารถถ่ายออกมาได้เอง แพทย์หรือพยาบาลอาจต้องช่วยในการล้วงเอาก้อนอุจจาระออกให้กับคนไข้ (Digital removal of faeces)

Q3. ท้องผูกถ่ายไม่ออกทำให้ต้องเบ่งเวลานั่งถ่าย จะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่?

ไม่เป็นอันตรายต่อทารก สามารถเบ่งได้ แต่ต้องระมัดระวังในคุณแม่ท้องบางราย ที่มีความผิดปกติของปากมดลูก เช่น รายที่มีปากมดลูกสั้น หรือปากมดลูกปิดไม่สนิท โดยเฉพาะอายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 2-3 หรือท้องเริ่มใหญ่แล้ว อาจมีภาวะมดลูกบีบตัว ทำให้ศีรษะทารกลงไปในอุ้งเชิงกราน เมื่อศีรษะทารกอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ รู้สึกปวดหน่วงที่ก้น เหมือนอาการปวดถ่าย เมื่อเข้าไปเบ่งถ่าย อาจทำให้เกิดภาวะทารกหลุดออกมาได้ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย และมักต้องมีการบีบตัวของมดลูก หรืออาการท้องแข็งเป็นปั้น ในจังหวะที่สม่ำเสมอร่วมด้วย แต่สิ่งที่มักจะตามมาจากการที่คุณแม่ตั้งครรภ์นั่งในห้องส้วมเป็นเวลานาน คือ อาการของโรคริดสีดวงทวาร

คนท้องท้องผูก

Q4. คนท้องที่มีอาการท้องผูก กินยาระบายได้หรือไม่?

คนท้องสามารถใช้ยาระบายได้ โดยยาที่ใช้แนะนำในกลุ่มดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มยาระบายออกฤทธิ์เพิ่มปริมาณอุจจาระ (Bulk-forming agents)  เป็นยาระบายที่ไม่ดูดซึมเข้าร่างกาย แต่ทำงานโดยการดูดซับน้ำเข้ามาเพิ่มในลำไส้ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้อุจจาระมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นก้อน และ นุ่มขึ้น  และกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่เกิดการบีบตัว และถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ยาระบายประเภทนี้อาจทำให้มีอาการปวดท้องได้ ดังนั้นควรเริ่มด้วยขนาดยาที่ต่ำที่สุดและดื่มน้ำมาก ๆ  ยาระบายในกลุ่มนี้ เช่น Metamucil, Mucillin และ Agiolax  เหมาะสำหรับใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกไม่รุนแรง
  2. ยาที่ทำให้อุจจาระนุ่ม (Stool softeners)  เป็นยาที่จะช่วยในการเติมน้ำลงในอุจจาระ เพื่อช่วยให้อุจจาระนุ่มและถ่ายได้สะดวก อาจใช้เวลาหนึ่งถึงสามวันกว่าที่อุจจาระจะอ่อนตัวลง ดังนั้นยากลุ่มนี้ มักจะไม่ช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้  เช่น  ด็อกคูเสทโซเดียม (Docusate Sodiam) และด็อกคูเสทแคลเซียม (Docusate Calcium) หรือชื่อทางการค้า เช่น Colace, Dialose, Surfak
  3. ยาที่ช่วยหล่อลื่นอุจจาระ (Lubricant laxatives) เป็นยาที่กระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหว โดยการเพิ่มสารเคลือบลื่นไปที่อุจจาระหรือด้านในของลำไส้ เพื่อช่วยขับอุจจาระได้สะดวกขึ้น ยากลุ่มนี้ ได้แก่ mineral oil และ glycerin suppository (การเหน็บกลีเซอรีน) ยากลุ่มนี้ ไม่ควรใช้เป็นระยะเวลานาน เพราะตัวยาจะไปรบกวนการดูดซึมวิตามิน A, D, E, K ของร่างกาย
  4. ยาที่ดูดน้ำกลับเข้ามาในลำไส้ (Osmotic laxatives) ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยการดึงน้ำเข้าไปในลำไส้มากขึ้น  ช่วยให้อุจจาระนิ่ม ขับถ่ายได้สะดวกขึ้น  ช่วยให้ลำไส้หดตัวมากขึ้นเพื่อเคลื่อนอุจจาระไปพร้อมกัน ยาระบายประเภทนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องและท้องอืดได้  ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น  lactulose, milk of magnesia (MOM), Polyethylene glycol (PGE)
  5. ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulant laxative) ยากลุ่มนี้กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้โดยตรง โดยออกฤทธิ์ กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อที่ผนังลำไส้ ยาในกลุ่มนี้ ควรพิจารณาใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ เนื่องจากเมื่อใช้ไปนานๆอาจทำให้เกิดความเคยชินของลำไส้ เมื่อไม่ใช้ยา อาจทำอาการท้องผูกเป็นมากขึ้นได้ และยาอาจกระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกได้ (ทำให้เกิดภาวะมดลูกบีบตัวก่อนกำหนดคลอด) ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ senokot และ dulcolax (bisacodyl)

จากยาในกลุ่มดังกล่าว  ยาที่ทำให้อุจจาระนุ่ม  (Stool softeners: กลุ่มที่ 2) เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ต้องอาศัยเวลาในการออกฤทธิ์  กลุ่มยาที่ดูดน้ำกลับเข้ามาในลำไส้  (Osmotic laxatives: กลุ่มที่ 4)และ กลุ่มยาระบายออกฤทธิ์เพิ่มปริมาณอุจจาระ (Bulk-forming  agents: กลุ่มที่ 1) จึงนิยมใช้กว้างขวางกว่า และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ในกลุ่ม ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulant laxative: กลุ่มที่ 5) เนื่องจากมีผลข้างเคียงสูง

Q5. วิธีแก้อาการท้องผูกขณะตั้งครรภ์ แบบปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

คุณสามารถช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้โดย :

  1. ดื่มน้ำเยอะๆ อย่างน้อย 8 – 12 แก้วต่อวัน  น้ำผักหรือน้ำผลไม้และน้ำซุปโซเดียมต่ำช่วยให้อุจจาระนิ่มและถ่ายได้ง่ายขึ้น น้ำลูกพรุน เป็นยาระบายอ่อนๆ ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
  2. กินอาหารไฟเบอร์อย่างน้อย 25-30 กรัมต่อวัน เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปังโฮลเกรน หลีกเลี่ยงธัญพืชขัดสี เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว ธัญพืชขัดสี และพาสต้าที่มีเส้นใยอาหารต่ำและอาจทำให้ท้องผูกได้ ปรับพฤติกรรมการทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ  จะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายปานกลาง เช่น การเดิน ว่ายน้ำ และช่วยกระตุ้นการขับถ่าย อย่างน้อย 20 ถึง 30 นาที สามครั้งต่อสัปดาห์
  4. อย่ากลั้นอุจจาระ เข้าห้องน้ำเมื่อรู้สึกอยากถ่าย หรือฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา
  5. เพิ่มอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) โพรไบโอติกส์ คือ จุลินทรีย์มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ภายในร่างกายมนุษย์ Acidophilus หรือ โปรไบโอติกที่พบใน นมเปรี้ยว หรือ โยเกิร์ต จะ ช่วยกระตุ้นแบคทีเรียในลำไส้ให้ย่อยอาหารได้ดีขึ้น

การรักษาอาการท้องผูกในหญิงตั้งครรภ์ ควรมุ่งเน้นที่การปรับพฤติกรรมเรื่องการทานน้ำและอาหารเป็นหลัก โดยพยายามใช้ยาต่างๆให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพราะยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงเมื่อใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือนานเกินไปได้ และควรเน้นที่การป้องกันไม่ให้มีอาการท้องผูกเกิดขึ้น โดยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ดีกว่าการปล่อยให้มีอาการหรือเกิดโรคแล้วค่อยให้การรักษา

“It is better to prevent constipation early on rather than wait to treat it later”

 

บทความโดย : นายแพทย์นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์)
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ พันธุศาสตร์การแพทย์
มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา

สำหรับเรื่อง ปัญหา คนท้องท้องผูก ถือเป็นหนึ่งในเรื่องของ HQ  หนึ่งใน 10 ของ Power BQ (Power Baby & Kids Quotients) อาวุธที่ช่วยให้ลูกฉลาดรอบด้าน เพราะเด็กยุคนี้มีแค่ IQ และ EQ นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ยังมี Quotient ต่างๆ ถึง 10Q นั่นคือ “10 ความฉลาด” ที่คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้ครบไปพร้อมกันนั่นเอง ทั้งนี้ HQ หรือ Health Quotient  คือ ความฉลาดในการดูแลรักษาสุขภาพ
ซึ่งคนที่มี HQ ดี จะรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เช่น กินอาหารที่ดี ครบ 5 หมู่ ขับถ่ายดี ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายของตัวเอง ฯลฯ สำหรับเด็กเล็กเราอาจจะยังไม่เห็นพัฒนาการด้านนี้ชัดเจน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มปลูกฝังและใส่ใจเรื่องสุขภาพ การดูแลร่างกายในการทำกิจวัตรประจำวันได้ทุกวัน เพื่อให้ลูกซึมซับและดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเอง ซึ่งก็จะเป็นการสร้าง HQ ที่ดีในตัวลูกได้ ยิ่งในปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บมีเยอะขึ้น โรคใหม่ๆ แปลกๆ เชื้อโรคที่พัฒนาขึ้นจาก สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และมลภาวะต่างๆ เราจึงต้องสอนให้ลูกของเราฉลาดใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยต่างๆ รอบตัว เพราะการไม่มีโรค คือลาภอันประเสริฐนั่นเองค่ะ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ

คนท้องกินยาพาราได้ไหม คนท้องกินยาอะไรได้บ้าง ยาที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้างเช็กเลย!

หมอตอบชัดทุกข้อ! 10 ปัญหาสุขภาพที่แม่ต้องเจอ? ทั้ง ปัญหาคนท้อง และหลังคลอดลูก

แม่ท้องต้องรู้!! “ลูกดิ้น” บอกอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด?

checklist เตรียมของก่อนคลอด ยังไงไม่บานปลายได้ของครบ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up