คำเตือนอย่างแรกสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่คิดจะวิ่งออกกำลัง คือ ต้องไม่หักโหมจนเกินตัว เพราะนอกจากเสี่ยงที่จะลื่นล้มแล้ว ยังทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายรับภาระมากเกินไป สำหรับช่วงนี้ การวิ่งเหยาะๆ หรือวิ่งจ็อกกิ้งจึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด
ส่วนข้อควรระวังอื่นๆ ลองตามมาดูกันทีละไตรมาสเลยดีกว่า
ไตรมาสที่หนึ่ง
ปรึกษาสูติแพทย์ประจำตัวให้แน่ใจเสียก่อนว่า คุณไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ควรงดออกกำลังกาย เช่น ภาวะแท้ง หรือแท้งคุกคาม ฯลฯ ใส่รองเท้าผ้าใบและเสื้อชั้นในแบบสปอร์ตบราที่เหมาะกับการวิ่ง และอย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอ ทั้งก่อนวิ่ง ระหว่างวิ่ง และหลังวิ่ง เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกลดน้อยลง
ไตรมาสที่สอง
ตอนนี้ศูนย์ถ่วงร่างกายจะเริ่มเปลี่ยน เนื่องจากน้ำหนักของครรภ์ดึงมาทางด้านหน้า เพิ่มความเสี่ยงที่จะหกล้มหรือลื่นไถลมากขึ้น ควรวิ่งบนพื้นราบ (ที่ไม่ลื่นหรือมีน้ำขัง) เท่านั้น กรณีที่กำลังจะลื่นล้ม พยายามเบี่ยงตัวให้ล้มไปทางด้านข้าง หรือใช้มือยันพื้นไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าท้องถูกกระทบกระแทกให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงการวิ่งตามลำพัง หรือวิ่งในที่ที่ไม่มีคนอยู่โดยรอบ หากเกิดกรณีฉุกเฉินจะหาคนช่วยไม่ได้
ไตรมาสที่สาม
เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นอีก 2 เท่า หากรู้สึกเหนื่อย ควรหยุดพักทันที ช่วงนี้คุณแม่ที่วิ่งออกกำลังกายเป็นประจำอาจรู้สึกว่า ตนเองวิ่งได้ช้าลง เปลี่ยนมาออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วๆ อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า
บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ภาพ : Shutterstock