ลักษณะการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์
การดิ้นของทารกในครรภ์ซึ่งจะหมายถึง การเตะ (Kick) การยืดหรือบิดตัว หรือจากที่กล่าวมาข้างต้น แต่การสะอึกของทารกในครรภ์ (hiccups) เป็นการเคลื่อนไหวแบบหนึ่งที่ดูเหมือนการดิ้น แต่ไม่นับว่าเป็นลูกดิ้น ถือเป็นการเคลื่อนไหวแบบกระตุก เป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ ระยะห่างประมาณ 1 วินาทีจนบางครั้งคิดว่าเป็นการเต้นของหัวใจ
ทั้งนี้ถ้าลูกดิ้นติดกันเป็นชุด ให้ถือเป็น 1 ครั้ง ซึ่งเด็กแต่ละคนจะดิ้นไม่เหมือนกัน โดยคุณแม่อาจเห็นหรือรู้สึกได้ว่าเจ้าตัวเล็กของเรานั้นมีท่าดิ้นประจำตัวอยู่ บางคนชอบโก่งตัวไปด้านซ้าย บางคนด้านขวา
โดยองค์ประกอบที่มีผลต่อการดิ้นของทารกในครรภ์ ได้แก่ ปริมาณน้ำคร่ำ ระดับกลูโคสในเลือดคุณแม่ อาหารที่คุณแม่กินเข้าไป รวมทั้งสิ่งภายนอกที่มากระตุ้น เช่น แสง เสียง เป็นต้น
ความสำคัญของการนับลูกดิ้นในครรภ์
การที่ลูกน้อยในครรภ์ดิ้นน้อยลง มักเกิดร่วมกับภาวะขาดออกซิเจนจนเรื้อรัง และอยู่ในภาวะอันตราย โดยลูกทารกในครรภ์ที่ดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้นจะพบเป็นเวลาประมาณ 12-48 ชั่วโมง ก่อนที่จะเสียชีวิต ดังนั้นใช้ ตารางจดบันทึกลูกดิ้น หรือ การนับลูกดิ้น จะช่วยในการตรวจค้นคว้า และแก้ไขภาวะที่อาจทำให้ลูกน้อยเสียชีวิตในครรภ์ ทั้งนี้หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกน้อยในครรภ์ดิ้นน้อยลง ก็นับว่าเป็นสัญญาณอันตราย ต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไปว่าลูกน้อยในครรภ์ของเรามีสุขภาพที่ไม่ดีจริงหรือไม่
การนับลูกดิ้น
ควรเริ่มที่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ หรือประมาณ 7 เดือน และนับต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด ทั้งนี้การนับลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์น้อยนั้น จะแปรผลยาก เนื่องจากการดิ้นของทารกยังไม่สม่ำเสมอ บางวันก็ดิ้นมาก บางวันก็ดิ้นน้อย การแปลผลและตัดสินใจจากผลการนับลูกดิ้นนั้นลำบาก จึงแนะนำให้เริ่มนับลูกดิ้นและจดบันทึกตามข้อแนะนำข้างต้นเมื่อลูกเริ่มมีการดิ้นสม่ำเสมอคือเมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป
ข้อแนะนำในการนับ และใช้ ตารางจดบันทึกลูกดิ้น
- ลักษณะการดิ้นของทารก คือ เตะ ยืดตัว บิดตัว
- ท่าที่ดีที่สุดในการรับรู้ถึงการดิ้นของทารก คือ ท่านอนตะแคงซ้าย
- ขณะบันทึกคุณแม่ควรอยู่ในที่เงียบ เพราะจะทำให้มีสมาธิในการรับรู้ถึงการดิ้นของทารกได้ดี
- ต้องบันทึกการดิ้นของทารกทุกวัน
- โปรดนำแบบบันทึกการดิ้นของทารกมาให้แพทย์หรือพยาบาลดูทุกครั้งที่มาฝากครรภ์
คลิกหน้า 3 เพื่อดู ตารางบันทึกลูกดิ้น