แม่ท้องแฝดระวัง! เจ็บท้องก่อนกำหนด - Amarin Baby & Kids

แม่ท้องแฝดระวัง! เจ็บท้องก่อนกำหนด

Alternative Textaccount_circle
event

คุณหมอตวงสิทธิ์บอกเราว่า สิ่งสำคัญที่แม่ท้องแฝดควรรู้และระมัดระวังให้มากเมื่อเข้าสู่ไตรมาสสุดท้าย ได้แก่

1. มีสัญญาณเตือนต่างๆ ก่อนกำหนด

เพราะคุณแม่ท้องแฝดจะน้ำหนักมากขึ้น ทั้งจากน้ำหนักตัวเด็กและถุงน้ำคร่ำ จึงทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ เจ็บท้อง มีน้ำเดินก่อนกำหนด มีเลือดออกเพราะรกเกาะต่ำ หรือบางรายท้องยังไม่แข็ง แต่ปากมดลูกเริ่มเปิดแล้ว แพทย์จะแนะนำให้นอนพักมากขึ้น คุณแม่ต้องระวัง แต่ก็ทำกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ

2. ต้องอัลตร้าซาวนด์เป็นระยะๆ

เพื่อให้มั่นใจว่าการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ปกติดี เพราะมีโอกาสที่เด็กจะเติบโตช้า ตัวเล็ก จนทำให้เสียชีวิตในระหว่างการตั้งครรภ์ได้

ต้องใส่ใจเป็นพิเศษเพราะอะไร?

1. มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น

เนื่องจากมดลูกขยายมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

2. เด็กที่คลอดก่อนกำหนด อาจมีปัญหาตามมาหลังคลอด

ได้แก่ พัฒนาการช้า มีปัญหาระบบการหายใจ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เกลือแร่ในเลือดแปรปรวน มีเลือดออกในศีรษะ มีเลือดออกในปอด ฯลฯ ซึ่งทำให้ทารกต้องอยู่ในหออภิบาลทารกแรกคลอด ใส่เครื่องช่วยหายใจนานเป็นเดือน

3. แม่เกิดภาวะรกเกาะต่ำ

เพราะรกมีขนาดใหญ่มาก จึงมีโอกาสที่น้ำหนักจะถ่วงลงมาขวางช่องทางคลอด ทำให้คุณแม่ไม่สามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติ

4. เกิดภาวะตกเลือดขณะคลอด

ไม่ว่าจะคลอดเอง หรือผ่าคลอดก็ตาม

5. การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ในท้องแฝดกับท้องเดี่ยวให้ผลต่างกัน

ไม่ว่าจะด้วยการใช้ยาหรือการเย็บกระชับปากมดลูก โอกาสที่จะยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดในท้องเดี่ยวจะได้ผลดีกว่า

 

คุณหมอตวงสิทธิ์ทิ้งท้ายว่า “การตั้งครรภ์แฝดเป็นภาวะแทรกซ้อน มีความเสี่ยงและจำเป็นต้องประคับประคองครรภ์เพื่อความปลอดภัยทั้งแม่และลูกอย่างระมัดระวัง ใส่ใจมากเป็นทวีคูณตลอดการตั้งครรภ์ และที่สำคัญคือ หลังคลอดแล้ว พ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูลูกแฝดก็ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย สำหรับคู่หรือครอบครัวที่ไม่มีพันธุกรรมแฝดและต้องการมีลูกครรภ์แฝดโดยตั้งใจ อยากให้ตระหนักอย่างรอบคอบมากๆ

อ่านเพิ่มเติม

  1. “ท้องแฝด” ภาวะต้องระวังยิ่ง
  2. “ท้องแฝด” ต้องใส่ใจตรวจละเอียดในไตรมาสสอง

 

จากคอลัมน์ Pregnancy {28-41 weeks} นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนมกราคม 2558

ขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลศิริราช

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up