เมื่อเข้าไตรมาสที่สอง 80% ของอวัยวะต่างๆ ของแฝดในท้องคุณแม่เป็นรูปเป็นร่างแล้ว การตรวจความสมบูรณ์ของทารกอย่างละเอียดเป็นสิ่งจำเป็น คุณหมอตวงสิทธิ์ได้สรุปประเด็นสำคัญที่คุณแม่ท้องแฝดและครอบครัวควรรู้ ได้แก่
1. การอัลตราซาวนด์
ตรวจดูความสมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ อย่างละเอียด จำเป็นมากเพื่อให้รู้ว่ามีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นบ้าง จะได้ช่วยเหลือได้ทัน
2. การตรวจกรองภาวะดาวน์ซินโดรม
การวินิจฉัยในเด็กแฝดจะยากขึ้น ความแม่นยำในการตรวจคัดกรองจะลดลงด้วย กระบวนการการคัดกรองเด็กดาวน์ซินโดรมที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ได้แก่ การตรวจน้ำคร่ำ การคัดกรองจากสารเคมีของดีเอ็นเอของลูกในเลือดของคุณแม่ **ปัจจุบันไม่มีการคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมในครรภ์แฝดตั้งแต่สามคนขึ้นไป
3. ครรภ์แฝดมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูง
ยิ่งจำนวนเด็กในครรภ์มาก โอกาสคลอดก่อนกำหนดยิ่งเพิ่มขึ้น
4. โอกาสแฝดบางคนเสียชีวิตระหว่างทางก็มี
กรณีอย่างนี้ก็เกิดได้โดยที่ไม่รู้ แม้ตรวจละเอียดแล้ว บางทีตอนคลอดก็คลอดมาคนเดียว แต่อีกคนไม่อยู่แล้ว ตัวเล็กนิดเดียวเกาะรกออกมาด้วย ธรรมชาติจัดการตัวเองได้ โดยไม่ได้กระทบต่อการตั้งครรภ์
แฝดต่างแบบก็ความเสี่ยงต่างกัน
การตั้งครรภ์แฝดคือ การที่มีเด็กอย่างน้อยสองคนขึ้นไปอยู่ร่วมกันในมดลูกเดียวกันในขณะเดียวกัน การตั้งครรภ์แฝดมี 2 ลักษณะซึ่งมีความเสี่ยงต่างกันด้วย
1. แฝดเกิดจากไข่ใบเดียวและสเปิร์มตัวเดียว
เด็กในครรภ์จะมีลักษณะภายนอกและลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมือนกันทุกประการ ซึ่งแฝดลักษณะนี้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนง่ายและมากกว่า
2. แฝดเกิดจากไข่คนละใบ สเปิร์มคนละตัว
เด็กในครรภ์มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างเดียวคืออยู่ในท้องแม่พร้อมกัน สิ่งอื่นๆ นอกจากนั้น เพศ ลักษณะภายนอก ความคิด นิสัยใจคอ ต่างกันหมด
“กรณีแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวและสเปิร์มตัวเดียวใช้รกร่วมกัน จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงมากถึง 30%ภาวะแทรกซ้อน เช่น มีโอกาสที่จะแยกกันไม่สมบูรณ์ คือมีอวัยวะบางส่วนติดกัน ซึ่งสามารถผ่าตัดแยกได้ แต่ถ้าแฝดตัวติดกัน การผ่าตัดแยกก็ค่อนข้างยากและมีโอกาสเสียชีวิตทั้งคู่ หรือกรณีแฝดเหมือนแยกกันอย่างสมบูรณ์ แต่รกไม่แยกกัน ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่นแฝดถ่ายเลือด ก็จำเป็นต้องทำการรักษาในครรภ์ เป็นต้น” คุณหมอตวงสิทธิ์อธิบาย
ท้องแฝด แม่เพิ่มน้ำหนักเท่าไหร่ดีนะ
คำแนะนำปริมาณอาหารสำหรับคุณแม่ครรภ์แฝดคือ ควรเพิ่มจากที่คุณแม่เคยกินอยู่ประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน หรือคิดง่ายๆ ประมาณ 1 มื้อ และน้ำหนักตัวควรจะขึ้นมากกว่าครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ หรือ 1 กิโลกรัมต่อเดือนเล็กน้อย ทั้งนี้ต้องให้สมดุลกับขนาดรูปร่างและน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ของคุณแม่ด้วย
อ่านเพิ่มเติม
จากคอลัมน์ Pregnancy {14-27 weeks} นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนมกราคม 2558
ขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลศิริราช
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ภาพ: shutterstock