ผู้หญิงหลายคนสามารถมีลูกคนแรกได้ง่ายดายสมกับที่ตั้งใจไว้ แต่พอวางแผน ตั้งใจจะมีท้องที่สองกลับยากเย็นแสนเข็ญ อดสงสัยไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
ภาวะที่เกิดขึ้นนี้มีชื่อเรียกว่า ภาวะมีบุตรยากแบบทุติยภูมิ (Secondary Infertility) คือ ภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่เคยมีบุตรมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยไม่ว่าการตั้งครรภ์นั้นสิ้นสุดลงด้วยการแท้งหรือการคลอดก็ตาม (อ้างอิงจากเว็บไซต์ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ www.med.cmu.ac.th)
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้
สาเหตุหลักใหญ่ๆ ก็คือเรื่องของอายุที่มากขึ้นนั่นเอง ดร.เซเรน่า เฉิน จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ แห่งศูนย์การแพทย์เซนต์บาร์นาบัส เมืองลิฟวิงสตัน รัฐนิวเจอร์ซี กล่าวว่า “เพราะตัวคุณแม่และไข่ของคุณแม่ รวมถึงตัวสามีและสเปิร์มของสามี มีอายุมากขึ้นกว่าตอนท้องแรก”
นอกจากนี้ อาจเกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกและกล้ามเนื้อมดลูกเสื่อมสภาพลง หรืออาจเป็นผลมาจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเมื่อท้องแรก รวมถึงการสมานแผลของเนื้อเยื่อเมื่อตอนคลอดและการขูดมดลูก ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้การตั้งครรภ์ครั้งที่สองยากขึ้นได้
เมื่อไรจึงเริ่มกังวล
หากคุณแม่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และไม่ตั้งครรภ์หลังจากไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลา 1 ปี หรือคุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และไม่ตั้งครรภ์ภายใน 6 เดือน คุณแม่และคุณพ่อต้องคำนวณระยะเวลาดีๆ เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่นับวันเวลาน้อยกว่าความเป็นจริง
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ภาพ: shutterstock